x close

ทารกแรกเกิดท้องอืดอันตรายไหม พ่อแม่ควรทำอย่างไร และมีวิธีแก้ลูกท้องอืดอย่างไรบ้าง

          ทารกแรกเกิดท้องอืด เป็นอันตรายไหม คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กังวลใจว่าลูกท้องอืด ควรทำอย่างไร และจะมีวิธีแก้ลูกท้องอืดอย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมเรามีความรู้และคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันแล้วค่ะ


ท้องอืด

          ท้องอืด  เป็นอาการที่เด็ก ๆ เป็นกันบ่อย ตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดจนถึงเด็กโต เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติและมักไม่เป็นอันตรายค่ะ เพียงแต่เจ้าตัวน้อยอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัว มีอาการแน่นท้อง ร้องไห้งอแง อารมณ์ไม่ดี บิดตัวไปมา โดยเราจะสังเกตเห็นได้ว่าลูกท้องป่องมากกว่าปกติ เมื่อเอามือจับท้องลูกจะรู้สึกว่าท้องแข็งเหมือนมีลมอยู่ข้างใน ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่สงสัยว่าทารกแรกเกิดท้องอืด เกิดจากอะไร และจะมีวิธีแก้ไขหรือป้องกันลูกท้องอืดอย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีความรู้และคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันแล้วค่ะ

สาเหตุที่ทำให้ลูกท้องอืด

          สาเหตุที่ทำให้ลูกท้องอืด อึดอัด หรือไม่สบายท้อง มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากกระบวนการย่อยอาหาร ซึ่งระบบย่อยอาหารของทารกในช่วง 3 เดือนแรกยังทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไปได้ โดยอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

          1. ลูกดูดนมเร็วเกินไป หากน้ำนมจากเต้านมแม่หรือจุกขวดนมไหลออกมามากเกินไป ทำให้ลูกต้องกลืนน้ำนมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหาร

          2. ลูกดูดนมช้าเกินไป อาจเป็นเพราะหัวนมแม่บอด หรือจุกขวดนมมีรูเล็ก ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อยหรือไหลช้า ทำให้ลูกต้องกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้นระหว่างดูดนม

          3. ลูกดูดนมที่มีฟองอากาศมากเกินไป เช่น การดูดนมจากขวด หรือกินนมผงที่มีฟองอากาศเกิดขึ้นระหว่างชงผสมกับน้ำ ทารกอาจท้องอืดได้หากกลืนฟองอากาศมากเกินไป

          4. ทารกบางรายเกิดอาการท้องอืดเพราะว่าแพ้โปรตีนจากอาหารบางชนิดในนมผง และนมแม่ เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานอาจไหลผ่านน้ำนมและส่งผลให้ลูกท้องอืดได้

          5. หลังจากที่ทารกกินนมเสร็จแล้ว คุณแม่ไม่ได้จับให้ลูกเรอเพื่อขับลม

          6. ทารกร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก

          ทั้งนี้อาการท้องอืดของทารกจะค่อย ๆ น้อยลง เมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่เริ่มทานอาหารชนิดอื่นนอกจากนมแม่ ในช่วงแรกระบบย่อยอาหารอาจยังไม่ปรับตัวไม่ทัน รวมถึงการกินอาหารบางประเภท เช่น พืชตระกูลถั่ว บรอกโคลี กะหล่ำปลี รำข้าว ข้าวโอ๊ตบด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ก็ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกันค่ะ

ท้องอืด

อาการบ่งบอกว่าลูกท้องอืด

          อาการท้องอืด สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้เมื่อลูกน้อยแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้

          1. ร้องไห้งอแง หงุดหงิด หน้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง

          2. กำมือแน่น ยกขาสูง ยืดแอ่นตัว ดิ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากที่กินนมเสร็จ

          3. ลูกท้องป่องมาก ท้องแข็ง เมื่อเอามือเคาะท้องจะได้ยินเสียงเหมือนมีลมอยู่ข้างใน

          4. ทารกบางคนอาจมีอาการนอนกรน หรือหายใจทางปากร่วมด้วย เพราะท้องอืดทำให้หายใจได้ไม่ดีนัก

          5. ทารกที่ท้องอืดเป็นประจำ อุจจาระจะมีลักษณะหยาบ

          6. ทารกอาจผายลม หรือเรอเพื่อขับลมออกมาบ้าง

ท้องอืด

วิธีบรรเทาอาการท้องอืดของลูกน้อย

          ในทารกบางคนที่มีอาการท้องอืดอาจทำการขับลมออกมาเองได้โดยการเรอหรือการผายลม แต่ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ก็ควรรู้วิธีแก้ลูกท้องอืด ที่จะช่วยบรรเทาอาการอึดอัด ปวดท้อง ไม่สบายตัว ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          1. หลังจากที่ลูกกินนมเสร็จแล้ว ทำให้ลูกเรอด้วยการอุ้มลูกพาดบ่า คางเกยไหล่ และลูบหลังลูกเบา ๆ (ลูบลงอย่างเดียว) ประมาณ 10-20 นาที หรือจับลูกนั่งตัก โดยใช้มือประคองช่วงคอให้โน้มไปข้างหน้า แล้วลูบหลัง หรือจับลูกนอนคว่ำพาดบนตัก ใช้มือประคองยกหัวลูกให้สูงกว่าหน้าอก แล้วค่อย ๆ ใช้มืออีกข้างลูบหลัง

          2. นวดท้องให้ลูก โดยจับลูกนอนหงาย และใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างค่อย ๆ กดบริเวณหน้าอกไล่ลงมาใต้สะดือ แล้วหมุนมือวนตามเข็มนาฬิกาประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยไล่ลม ลดอาการท้องอืด และช่วยให้ระบบหมุนเวียนของลำไส้ดีขึ้นค่ะ

          3. จับขาลูกปั่นจักรยานอากาศ หรือจับขาลูกแล้วงอหัวเข่าและขา จากนั้นกดช่วงต้นขาลงไปให้ชิดท้องอย่างแผ่วเบา ก็จะช่วยขับลมออกจากช่องท้องได้

          4. ให้ลูกกินยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อสำหรับทารก เช่น ไกร๊ปวอเตอร์ (Gripe Water) เป็นยาน้ำชนิดรับประทานมักใช้ในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป

          5. ทายามหาหิงค์ ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ โดยชุบสำลีแล้วนำมาทาที่หน้าท้อง ฝ่ามือ และฝ่าเท้าของทารก ไอระเหยและฤทธิ์ความร้อนจากตัวยาที่ลูกสูดดมเข้าไป จะช่วยขับไล่ลม ให้ลูกผายลมออกมา

          6. นำใบกะเพราประมาณ 20-30 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดและนำมาบดจนมีน้ำสีดำออกมาจากใบกะเพรา นำน้ำสีดำที่ได้มาทาที่หน้าท้อง ฝ่ามือและฝ่าเท้าของลูก ก็จะช่วยขับลมได้เช่นกันค่ะ

ท้องอืด

ป้องกันลูกท้องอืดอย่างไร

          วิธีป้องกันอาการท้องอืดของทารก สามารถทำได้โดยการพยายามไม่ให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก รวมไปถึงการรับประทานอาหารของคุณแม่ ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก ซึ่งการป้องกันลูกท้องอืด ทำได้ดังนี้

          1. ป้อนนมให้ลูกในบริมาณที่พอเหมาะ

          2. อุ้มลูกน้อยขณะให้นม โดยจัดท่าทางให้เหมาะสม หากคุณแม่ให้นมจากขวดก็ควรอุ้มลูกขึ้นมาเช่นเดียวกับท่าให้นมแม่ โดยยกศีรษะลูกให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย จะทำให้น้ำนมไหลลงสู่ท้องได้ดีกว่าให้ลูกนอนดูดนม

          3. ขณะป้อนนมควรยกขวดนมขึ้นเพื่อป้องกันอากาศไหลผ่านช่องว่างบริเวณจุกนม หรืออาจเอียงขวดนมทำมุม 30-40 องศา เพื่อให้อากาศลอยอยู่ที่ก้นขวด รวมทั้งปรับขนาดรูจุกนมไม่ให้ใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือใช้ขวดนมที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปน้อยที่สุด

          4. ถ้าให้ลูกดูดนมจากขวด อย่าหมุนฝาแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดลมในขวดนมได้ค่ะ

          5. หากให้ลูกกินนมผง หลังผสมนมเสร็จแล้วควรทิ้งไว้สัก 2-3 นาที เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัวก่อนให้ลูกดูดนมจากขวดค่ะ

          6.  สำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก เช่น รำข้าว ข้าวโอ๊ต กะหล่ำปลี ถั่วต่าง ๆ อาหารที่ทำจากนม เป็นต้น เพราะอาจส่งแก๊สผ่านปริมาณน้ำนมไปสู่ลูกน้อยได้ และหากลูกหย่านมแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกกินอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สมากเช่นกัน

          7. ควรจับลูกเรอบ่อย ๆ ระหว่างให้นม และหลังให้นม เพื่อไล่ลมที่ลูกอาจกลืนลงไประหว่างดูดนม

ท้องอืด

ลูกท้องอืดอันตรายไหม

          การที่ลูกท้องอืดเป็นบางครั้งถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติค่ะ ทั้งนี้ทารกมักรู้สึกสบายตัวขึ้นและหยุดร้องไห้หลังจากผายลมหรือเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดทั้งที่ผายลมออกมาแล้ว ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น และหากลูกมีอาการอื่น ๆ ต่อไปนี้ควบคู่ไปกับการท้องอืดด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาอาการอีกครั้ง เพราะอาจมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารได้ โดยสังเกตอาการดังนี้

          1. ถ่ายไม่ออก ไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน

          2. อุจจาระมีเลือดปน

          3. ท้องเสีย อาเจียน

          4. ร้องไห้งอแงไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง

          5. มีไข้สูง โดยเฉพาะเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
         
          จริง ๆ แล้วอาการท้องอืดในเด็กทารกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการผิดปกติดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว หรือว่ารักษาด้วยวิธีใดลูกก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งยังมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนขึ้นมาด้วยนั้น แนะนำว่าควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : sg.theasianparent.com, todaysparent.com, webmd.com, pobpad.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกแรกเกิดท้องอืดอันตรายไหม พ่อแม่ควรทำอย่างไร และมีวิธีแก้ลูกท้องอืดอย่างไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2563 เวลา 10:25:01 270,806 อ่าน
TOP