x close

เด็กมีตุ่มเล็กที่หน้า เกิดจากอะไร อาการบอกโรคอะไรได้บ้าง ?

          เด็กมีตุ่มเล็กที่หน้า อาการที่เกิดบ่อยในเด็กทารก บ่งบอกถึงโรคผิวหนังอะไรได้บ้าง แล้วคุณแม่ควรรับมืออย่างไรมาดูกัน


ผื่นคัน

          อย่างที่เห็นกันทั่วไป ว่าเด็กทารกส่วนใหญ่จะมีรอยแดง ๆ เล็ก ๆ ขึ้นตามตัว จากการโดนแมลงกัดบ้าง ยุงกัดบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับหัวอกคนเป็นแม่ เมื่อเห็นลูกน้อยมีผดผื่นหน้าตาแปลก ๆ อย่างพวกตุ่มใส ตุ่มขาว หรือตุ่มแดง กระจายอยู่บนใบหน้าทีไร ยังไงก็ต้องเป็นกังวลจนคิดว่าลูกอาจเป็นโรคเด็กร้ายแรงอะไรใช่ไหมล่ะคะ ? กระปุกดอทคอมเลยขออาสาพาทุกคน ไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการเด็กมีตุ่มเล็กที่หน้า จะได้รู้จักถึงสาเหตุการเกิด ประเภทของโรคผิวหนังในเด็ก และวิธีรับมือเบื้องต้นสำหรับคุณแม่กันค่ะ

ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่หน้า เกิดจากอะไร ?


          สาเหตุของการเกิดตุ่มใสขึ้นบนใบหน้าทารก เกิดได้จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กแรกเกิดไม่สมบูรณ์แข็งแรง เนื่องจากยังไม่ได้รับสารอาหารจากน้ำนมแม่อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ต่อมไขมันใต้ผิว หรือระบบผิวหนังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แล้วเกิดอาการที่แสดงออกมาตามรูขุมขนอย่าง ตุ่มเล็ก รอยแดง ผดผื่น ขึ้นตามใบหน้าและทั่วตัว

          แต่ทั้งนี้ เด็กทารกอายุมากกว่า 3 เดือน ที่ได้รับน้ำนมแม่อย่างเต็มที่แล้ว ก็สามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจัยภายนอกอย่างเช่น แพ้ผลิตภัณฑ์ทาตัวที่ใช้ แพ้อาหารบางชนิด เสื้อผ้าหรือบริเวณที่นอนไม่สะอาด หรืออากาศร้อนอบอ้าว จนเหงื่อไหลเหนอะหนะ ทำให้ผิวหนังอับชื้น และเกิดผื่น เกิดตุ่มใส เพราะระคายเคืองนั่นเองค่ะ

          โดยอาการตุ่มใส ตุ่มแดง และผดผื่นสามารถพบเห็น และเกิดได้ทั่วไปในเด็กเล็ก ไม่น่าวิตกกังวลอะไร ยกเว้นเด็กที่ได้รับพันธุกรรมโรคผิวหนังร้ายแรงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งอาการผิดปกติจากสาเหตุนี้จะแสดงออกมาตอนแรกเกิด และแพทย์จะทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนทำคลอด ก่อนจะวินิจฉัยรักษาโรคกันต่อไป ไม่ปล่อยให้เด็กออกจากตู้อบ กลับบ้านไปพร้อมกับตุ่มตามตัวอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเบื้องต้น คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลอะไรมากนะคะ

ผื่นคัน

ตุ่มเล็กและผื่นบนใบหน้า เป็นสัญญาณของโรคอะไรบ้าง ?

          การมีตุ่มเล็กบนใบหน้าเป็นอาการเบื้องต้นของโรคผิวหนังในทารก ซึ่งมีหลายประเภทแตกต่างกันไป และระดับความรุนแรงก็ไม่เท่ากันอีกด้วย เราเลยรวบรวมโรคผิวหนังยอดฮิตในเด็กมาฝาก พร้อมกับลักษณะอาการมาให้คุณแม่ได้รู้จัก พร้อมสังเกตว่า ลูกน้อยนั้นเข้าข่ายเป็นโรคอะไร และเป็นอันตรายมากแค่ไหน

          1. ผื่นมิเลีย (Milia) ลักษณะเป็นตุ่มเม็ดเล็ก ๆ สีขาวหรือเหลืองขุ่น มักขึ้นบริเวณหน้าผาก จมูก แก้ม และคาง เกิดจากการสะสมของ เคราติน (Keratin) หรือโปรตีนบนชั้นหนังกำพร้ามากเกินปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่เป็นอันตราย และจะหลุดหายไปเองเมื่อลูกอายุ 3-4 สัปดาห์ บางรายอาจอยู่นานถึง 3 เดือน

          2. สิวในทารก (Neonatal Acne) ลักษณะเป็นตุ่มแดงแบบสิวอักเสบ หรือตุ่มหนองแบบสิวไขมัน บริเวณแก้มหรือศีรษะ ส่วนใหญ่พบในทารกเพศชายอายุประมาณ 3 สัปดาห์ เกิดจากที่ฮอร์โมนของแม่หรือตัวเด็ก ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ซึ่งไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองในไม่กี่สัปดาห์

          3. ผดผื่นทารก (Transient Neonatal Pustular Melanosis) ลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ บริเวณใบหน้า รวมถึงต้นแขนและต้นขา เกิดจากภาวะการอุดตันของรูขุมขน ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเกา เพราะแตกง่ายกว่าตุ่มทั่วไป และจะทิ้งรอยแดงไว้ตามตัว แต่สามารถจางหายไปเองในเวลาประมาณ 3-4 เดือน ไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษา

          4. ผื่นแดง (Erythema Toxicum Neonatorum) ลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองฐานสีแดง หรือตุ่มนูนสีแดงคล้ายยุงกัด บริเวณใบหน้า แขน และขา เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติเล็กน้อยของระบบภูมิคุ้มกัน จัดเป็นผื่นยอดฮิตที่พบบ่อยในทารกตั้งแต่วันแรกที่เกิด จนถึงอายุ 1 เดือน ไม่เป็นอันตราย และสามารถยุบหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์

          5. ผดร้อน (Miliaria) ลักษณะเป็นตุ่มแดง ตุ่มใส และตุ่มหนอง บริเวณใบหน้า รวมถึงข้อพับตามตัว เนื่องจากอากาศร้อน อบอ้าว ผิวหนังอับชื้นเพราะระบายเหงื่อไม่ดี ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน ส่วนใหญ่หายได้เองในไม่กี่สัปดาห์ เมื่อคุณแม่ดูแลดี ไม่ทิ้งให้ลูกตัวเหนียวเหนอะหนะ หมั่นอาบน้ำประแป้งอย่างสม่ำเสมอ

          แม้โรคผิวหนังในเด็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากลูกน้อยมีอาการงอแงไม่หาย ขยับยุกยิกไม่สบายตัว ตัวร้อนเป็นไข้ ง่วงซึมตลอดเวลา เลือดไหลจากรอยแผลไม่หยุด หรือตุ่มและผดผื่นเริ่มกระจายไปยังบริเวณอื่นทั่วตัว คุณแม่ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่โรคผิวหนังในทารกทั่วไป

วิธีรับมือเบื้องต้น เมื่อลูกมีปัญหาผดผื่นทารก

          แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดตุ่มเล็กและผดผื่นส่วนหนึ่งจะมาจากภูมิคุ้มกันภายใน แต่คุณแม่ก็สามารถดูแลและป้องกัน ไม่ให้อาการของลูกน้อยลุกลามไปมากกว่าเดิมได้ดังนี้ค่ะ

          1. ดูแลความสะอาดให้ดี ไม่ใช่แค่เฉพาะอาบน้ำให้สะอาด และเช็ดตัวลูกน้อยให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการอับชื้นเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสะอาดของเสื้อผ้า ผ้าห่ม และเตียงนอนที่ลูกใช้ประจำ ควรดูแลไม่ให้มีฝุ่นเกาะ และเลือกใช้น้ำยาซักผ้าสูตรอ่อนโยนต่อผิวเด็กด้วย

          2. ใช้แป้งเด็กหรือโลชั่นสกัดจากธรรมชาติ แนะนำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus Oil) หรือน้ำมันจากต้นชา (Tea Tree Oil) เพราะมีสรรพคุณบรรเทาอาการระคายเคือง และยับยั้งแบคทีเรียบนผิวหนัง แต่ไม่ควรทาบริเวณที่เป็นตุ่มหรือผดผื่นนะคะ

ผื่นคัน

          3. ตัดเล็บลูกให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกาจนตุ่มที่เป็นแตก ผดผื่นลุกลามไปยังบริเวณอื่น หรือทำให้เลือดออกและทิ้งรอยแผลเป็นบนใบหน้าต่อไป

          4. ผสมเบบี้ออยล์ (Baby Oil) ในน้ำที่ลูกอาบ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวของลูก เพราะความแห้งกร้านก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังเช่นกัน

          5. เลือกเสื้อผ้าเนื้อดี เพราะผิวของเด็กนั้นบอบบางและแพ้ง่าย แนะนำให้เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าป่าน หรือผ้าฝ้าย 100% เพราะเป็นผ้าเนื้อโปร่ง ช่วยระบายอากาศได้ดี รวมถึงยังอ่อนนุ่ม อ่อนโยน ไม่ขูดผิวลูกน้อยให้ระคายเคืองด้วย

          6. ให้ลูกดื่มน้ำนมแม่ วิธีแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย คือการให้ดื่มน้ำนมแม่ เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันสมบูรณ์แข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บได้ดีกว่าการกินนมผง หรือนมวัวมากเท่าตัว

ผื่นคัน

          ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับคุณแม่ที่เห็นลูกเป็นตุ่มตามตัว แล้วกลัวลูกมีรอยแผลเป็นจนเสียโฉม โตไปแล้วไม่หล่อไม่สวย ก็สามารถพาไปหาคุณหมอได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้เลยเช่นกันนะคะ จะได้สบายใจกันถ้วนหน้าเนอะ ^^

ข้อมูลจาก : healthline.com, webmd.com, babycenter.com, nationaleczema.org, amarinbabyandkids.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กมีตุ่มเล็กที่หน้า เกิดจากอะไร อาการบอกโรคอะไรได้บ้าง ? อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16:16:09 94,870 อ่าน
TOP