x close

วิธีรับมือเมื่อลูกถูกรังแก โดนเพื่อนแกล้ง และวิธีสอนลูกเมื่อมีพฤติกรรมเกเร ชอบแกล้งเพื่อน

          ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเพิกเฉย แต่เราจะมีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก โดนกลั่นแกล้ง หรือจะมีวิธีปรับพฤติกรรมและสอนลูกอย่างไรเมื่อลูกเป็นฝ่ายที่ชอบแกล้งเพื่อนเสียเอง วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีดี ๆ ที่เป็นแนวทางในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนแล้วค่ะ


วิธีสอนลูก

          เมื่อเร็ว ๆ นี้หลายคนคงได้เห็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจไม่น้อย เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งใครหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เด็กจะมีการหยอกล้อ หรือกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ความจริงแล้วปัญหาการรังแกกันของเด็ก ๆ นั้น ถือเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูควรให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยให้เด็กถูกรังแกไปนาน ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็กเป็นอย่างมาก และจะมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก หรืออาจลุกลามไปถึงผลการเรียน ทำให้เขาไม่อยากไปโรงเรียนเลยก็ได้ บางรายอาจมีผลกระทบกับจิตใจอย่างรุนแรง จนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะหาวิธีรับมือและให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกถูกรังแก ซึ่งมีหลากหลายวิธีดังนี้ค่ะ

1. หมั่นพูดคุยกับลูก

          หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกหลังกลับจากโรงเรียนแล้วพบว่ามีพฤติกรรมผิดปกติ ไม่แน่ใจว่าถูกเพื่อนแกล้งหรือเปล่า บางครั้งลูกอาจกลัวหรืออาย จึงไม่กล้าบอกให้ใครรู้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจพูดคุยกับลูก โดยถามไถ่เรื่องที่โรงเรียน ให้ลูกได้เล่าเรื่องต่าง ๆ ระบายความรู้สึกไม่สบายใจออกมา โดยมีคุณเป็นผู้รับฟัง ให้ความไว้ใจ เชื่อใจลูก คอยให้กำลังใจและให้คำแนะนำที่ดี ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ของลูกไว้ เพราะลูกอาจเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เพื่อนฟังมากกว่าผู้ปกครอง วิธีนี้ก็จะทำให้เราเข้าใจปัญหาของลูกเมื่อเขาถูกรังแกค่ะ

2. สอนลูกให้มีความมั่นใจในตัวเอง

          การส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ลูกถูกรังแก เช่น มีบุคลิกดี มั่นใจ พูดจาฉะฉาน กล้าคิด กล้าแสดงออก สามารถทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นตัวช่วย เช่น การเล่นกีฬา การเรียนศิลปะป้องกันตัว ที่จะทำให้ลูกสามารถจัดการกับปัญหาการโดนรังแกได้

วิธีสอนลูก

3. เลี้ยงลูกให้เข้มแข็ง และรู้จักระวังตัวเอง

          วิธีป้องกันไม่ให้ลูกถูกแกล้ง คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้มีความเข้มแข็ง สามารถเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ฝึกให้ลูกคิดหาทางรับมือและแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน เพราะเราไม่ได้อยู่กับลูกและคอยช่วยเหลือลูกได้ตลอดเวลา หลังจากฟังแนวทางการแก้ปัญหาของลูกแล้วจึงค่อยชี้แจงถึงผลดีผลเสียของการตอบสนองแบบต่าง ๆ จะทำให้เขารู้สึกมั่นใจและเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมกับสอนให้เขารู้จักระมัดระวังตัว เช่น หากเขาต้องไปไหนมาไหนคนเดียว ถ้าไม่อยากถูกแกล้ง ให้ชวนเพื่อนไปด้วย หรือ พยายามอยู่ห่าง ๆ คนที่จะมาแกล้งเรา แนะนำให้ลูกผูกมิตรภาพกับเพื่อนไว้ให้มาก ๆ ยิ่งลูกเป็นที่รักของเพื่อนมากเท่าไร ก็จะไม่มีใครกล้ามาแกล้งแน่นอน

4. สอนให้ลูกรู้จักสิทธิของตัวเอง


          สอนให้ลูกรู้จักสิทธิของตัวเองว่าไม่ควรให้ใครมากลั่นแกล้งรังแก โดยสอนให้เขารู้จักมีปากมีเสียง ถ้ามีคนมารังแกหรือทำอะไรที่ไม่ชอบ ให้พูดออกไปด้วยเสียงหนกแน่นว่า "หยุดนะ" "อย่าทำ" "อย่าแย่ง" หรือ "ฉันกำลังเล่นอยู่" ให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเองด้วยการพูดโต้แย้งออกไป ให้เขากล้าที่จะห้ามหรือพูดกับเด็กที่มารังแกเขา หรือถ้าลูกไม่กล้าพูดก็ควรสอนให้เขามีความใจเย็น อย่าไปแสดงว่ากลัวหรืออ่อนแอ ให้ทำเฉย ๆ มองผ่านหรือเดินหนีไป ไม่ให้ความสนใจ เดี๋ยวเขาก็เลิกแกล้งไปเอง แต่หากมีการแกล้งที่ใช้กำลัง คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเอง แต่ไม่ได้ใช้กำลังเพื่อเอาคืนนะคะ โดยให้ลองสมมติเหตุการณ์ขึ้นมา เช่น ฝึกจ้องหน้า ไม่หลบสายตาหากถูกแกล้ง รู้จักการปัดป้อง ดันตัวเพื่อนออกไปไม่ให้มาแกล้ง เป็นต้น

5. ให้ลูกขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

          อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาก็คือการสอนให้เขารู้จักขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นจากคนรอบข้าง เพื่อนฝูง หรือคุณครู โดยบอกลูกว่าไม่ต้องกลัวใครจะว่าเขาเป็นเด็กช่างฟ้อง เพราะการพูดให้คนอื่นช่วยเหลือ หรือบอกคุณครูและผู้ใหญ่คนอื่น ๆ จะช่วยแก้ปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง เด็กที่แกล้งลูกก็จะรู้ตัวว่าทำผิด และไม่ทำพฤติกรรมดังกล่าวอีก

วิธีสอนลูก

          ในทางกลับกันหากลูกของเรามีพฤติกรรมชอบแกล้งเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือคิดดีใจที่ลูกไม่ถูกกลั่นแกล้ง แต่หารู้ไม่ว่าการปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมเกเรและก้าวร้าวกับคนอื่นนั้น ยิ่งเป็นการทำร้ายและทำลายอนาคตของลูก เพราะอาจทำให้เขามีปัญหากับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว กลายเป็นอันธพาล เกเร นักเลงหัวไม้ หรืออาชญากรในสังคมต่อไปในอนาคต ซึ่งปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้หากครอบครัวและคุณครูให้ความใส่ใจ ร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยให้เด็กปรับปรุงตัวและเติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคมได้ต่อไป โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

1. หาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงชอบแกล้งเพื่อน

          ก่อนที่ดุด่าว่ากล่าวเด็กแรง ๆ ลองพูดคุยกับเด็กก่อนว่าทำไมเชาถึงทำพฤติกรรมแบบนี้ โดยใช้วิธีสังเกตสิ่งอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีสิ่งใดมากระตุ้นให้เขาต้องรังแกเพื่อนไหม เขาตั้งใจทำหรือเปล่า รู้ตัวขณะแกล้งเพื่อนหรือไม่ เวลาลูกอยู่ที่โรงเรียน รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรือถูกทอดทิ้งไหม ต้องการเรียกร้องความสนใจ หรืออยากเป็นที่ยอมรับกับเพื่อนฝูง รวมไปถึงสังเกตเพื่อนที่ลูกคบมีนิสัยเกเร ชอบรังแกคนอื่นหรือเปล่า เมื่อลูกยอมเปิดใจอธิบายปัญหา จึงค่อยหาทางแก้ไขให้ตรงจุด

2. สอนลูกให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

          วิธีที่จะช่วยให้ลูกไม่ไปรังแก ทำร้าย หรือเอาเปรียบผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น โดยเริ่มจากการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับความรู้สึกของลูก เช่น "สิ่งที่หนูทำลงไปมัทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร" หรือ "ถ้ามีคนมาทำแบบนี้กับหนูบ้าง หนูจะรู้สึกยังไง" เป็นต้น สอนให้เขารู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นพร้อมกับให้เขารู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง และสนใจในผลของการกระทำของตัวเองว่ามันไปทำให้ใครต้องเดือดร้อนบ้าง

3. เลี้ยงลูกให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง


          การสร้างความภาคภูมิใจในตัวลูกจะทำให้เขารู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่มองหาจุดเด่นในตัวลูก ว่าเขาชอบทำกิจกรรมอะไร และส่งเสริมสนับสนุนให้เขาได้พัฒนาจุดเด่นนั้น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ ก็จะทำให้ลูกพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เขาชอบ ทำให้เกิดสมาธิ ขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนลง หรืออาจมอบหมายกิจกรรมให้เขาช่วยทำ เช่น งานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆจะทำให้ลูกมองเห็นถึงปัญหา และความทุกข์ของผู้อื่น และเมื่อเขาสามารถทำสิ่งใดได้สำเร็จ ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นคนเก่ง คนดี เป็นที่รัก ซึ่งในทางตรงข้ามเด็กที่มักแกล้งหรือรังแกผู้อื่น ส่วนหนึ่งมากจากความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยนั่นเอง

วิธีสอนลูก

4. ชมเชยเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี

          ในกรณีที่เด็กแกล้งเพื่อนเพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากเพื่อน พี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครู วิธีแก้ไขก็คือการปรับพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กใหม่ เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดี ควรกล่าวชมเชย หรือให้ความสนใจ แต่เมื่อเขากลับมาแกล้งคนอื่นอีก ให้เพิกเฉยกับเขาไปสักระยะหนึ่ง โดยให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกแกล้งมากกว่า เมื่อเด็กไม่ได้รับความสนใจบ่อยครั้ง เขาก็จะเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และจะเลิกแกล้งเพื่อนไปในที่สุดค่ะ

5. สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์

          หากคุณพ่อคุณแม่รู้สาเหตุที่ลูกชอบแกล้งเพื่อนหรือแสดงความรุนแรงกับเพื่อนเพราะความโกรธ หรือมีปัญหาด้านการแสดงออกและการควบคุมอารมณ์ ควรสอนเด็กให้รู้จักควบคุมความโกรธด้วยการไม่ทำร้ายคนอื่น เช่น นับ 1-10 เป็นต้น ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ไม่แหย่แกล้งผู้อื่นเพื่อความสนุกจนเห็นเป็นเรื่องปกติ หรือไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก แต่ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยผู้ปกครองสามารถบอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้น และแสดงให้เด็กเห็นว่าควรจะจัดการต่ออารมณ์นี้อย่างไร เป็นต้น

          การกลั่นแกล้งของเด็ก ๆ อาจส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อตัวเด็กที่ถูกรังแกและเด็กที่มีพฤติกรรมชอบแกล้งคนอื่นได้ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับตัวเด็กเองรวมถึงปัญหาสังคม วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคืออย่าเพิกเฉย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองรวมทั้งคุณครูควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ก็จะช่วยให้ปัญหาเด็กถูกกลั่นแกล้งลดลงได้ค่ะ   

ข้อมูลจาก : afineparent.com, verywellfamily.com, thaihealth.or.th, เฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ, เลี้ยงลูกให้คิดเป็น Creative Thinking Kids


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรับมือเมื่อลูกถูกรังแก โดนเพื่อนแกล้ง และวิธีสอนลูกเมื่อมีพฤติกรรมเกเร ชอบแกล้งเพื่อน อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2561 เวลา 14:12:26 16,305 อ่าน
TOP