x close

การป้องกันเด็กติดอยู่ในรถ ทำอย่างไร ? พ่อแม่ควรรู้ไว้ก่อนสาย

          การป้องกันเด็กติดอยู่ในรถ ผู้ใหญ่ควรตระหนักไว้ หาก เด็กติดอยู่ในรถ อาจอันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับลูกหลาน มารู้จักวิธีป้องกันไว้กันเลย...
เด็กติดอยู่ในรถ
     
          เรียกได้ว่าเป็นข่าวเศร้าที่มีให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ สำหรับกรณีพ่อแม่ หรือคุณครู คนขับรถนักเรียนลืมเด็กไว้ในรถ จนเป็นสาเหตุให้เด็กเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุที่เด็กเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะการขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะอุณหภูมิความร้อนสูงที่อยู่ภายในรถ โดยหากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 5 นาทีผ่านไปอุณหภูมิความร้อนจะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้ ยิ่งผ่านไป 10 นาที ร่างกายจะยิ่งแย่ และถ้าหากติดอยู่ในรถนานกว่า 30 นาทีขึ้นไป ภาวะเลือดภายในร่างกายจะเป็นกรด ทำให้ช็อก หมดสติ เกิดอาการสมองบวม และสุดท้ายร้ายแรงถึงขั้นทำให้อวัยวะทุกอย่างหยุดทำงานและหยุดหายใจ เป็นเหตุให้เสียชีวิตตามมานั่นเอง

          ทั้งนี้สำหรับเรื่องนี้ความจริงแล้วคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นเพื่อเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ทางที่ดีที่สุดผู้ใหญ่ทุกคน โดยเฉพาะพ่อ-แม่ ควรที่จะศึกษาวิธีการป้องกันเด็กติดอยู่ในรถเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ซึ่งควรจะทำอย่างไรบ้าง ? วันนี้กระปุกดอทคอมมี วิธีป้องกันเด็กติดอยู่ในรถ มาแนะนำกันแล้วค่ะ

          1. ทุกครั้งที่จอดรถให้อุ้มหรือพาเด็กลงจากรถด้วยไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือลงรถเพื่อไปทำธุระเพียงเล็กน้อยก็ตาม เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักซุกซน อาจไปเล่นปุ่มหรือระบบต่าง ๆ ภายในรถได้ อย่างเช่น ระบบเซ็นทรัลล็อกประตู เบรกมือ หรือคันเร่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายตามมา

          2. หากขับรถถึงจุดหมายแล้ว เมื่อคุณพ่อคุณแม่ลงจากรถต้องเช็กให้แน่ใจทุกครั้งว่าลูกออกมาจากรถแล้วเป็นที่เรียบร้อย อย่าคิดไปเองและวางใจทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นว่าลูกลงมาจากรถแล้วเด็ดขาด

          3. ควรติดสติ๊กเกอร์ข้อความแปะกระจกหรือตัวรถในจุดที่เห็นชัด ๆ ไว้ว่า "อย่าทิ้งเด็กไว้ในรถ" เพื่อเป็นการเตือนสติของคุณพ่อคุณแม่ให้ฉุกคิดเพื่อความปลอดภัยตลอดเวลา

          4. ข้อนี้สำคัญ หากมีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยลูกไว้ในรถ คุณพ่อคุณแม่ควรลดกระจกรถลงทั้ง 4 ด้าน ประมาณเศษ 1 ส่วน 4 เพื่อให้ภายในรถนั้นมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรปล่อยลูกทิ้งไว้ในรถนานเกิน 10 นาทีเด็ดขาด !

          5. สอนลูกให้เอาตัวรอดจากการติดอยู่ในรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะเรื่องอย่างนี้ถึงแม้จะป้องกันดีแล้วแต่ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ โดยควรสอนเด็กให้รู้จักวิธีการเอาตัวรอด อย่างเช่น สอนวิธีบีบแตรขอความช่วยเหลือ สอนวิธีปลดล็อกประตูรถ หรือแม้แต่สอนทุบกระจกรถเพื่อหนีออกมา เป็นต้น แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนด้วยว่าให้ทำก็ต่อเมื่อเกิดเหตุจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เพราะเด็กอาจนำเรื่องที่สอนไปเล่นซุกซนได้
 
         6. ในกรณีที่ต้องส่งลูกเดินทางไปกับรถโรงเรียนหรือรถของบุคคลอื่น คุณพ่อคุณแม่ควรกะระยะเวลาโทร. ไปสอบถามคุณครูหรือคนขับรถว่าถึงที่หมายแล้วหรือยัง ลูกลงจากรถเรียบร้อยไหม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการระมัดระวังและเช็กให้แน่ใจว่า ลูกได้ลงจากรถแล้วจริง ๆ

เด็กติดอยู่ในรถ

          ทั้งนี้หากป้องกันแล้วยังเกิดเหตุสุดวิสัย หรือแม้แต่ไปเจอเด็กที่ติดอยู่ในรถ จะมีวิธีในการช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมก็มี วิธีการปฐมพยาบาลเด็กที่ติดอยู่ในรถ มาฝากกันด้วยค่ะ        
ทั้ฃฃงนี้หากป้องกันแล้วยังเกิดเหตุสุดวิสัย หรือแม้แต่ไปเจอเด็กที่ติดอยู ไร วันนี้กระปุกดอทคมก็มี วิธีการปฐม        
          1. ก่อนอื่นให้รีบหาทางนำตัวเด็กออกมาจากรถให้เร็วที่สุด แล้วอุ้มเด็กออกมาให้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

          2. ปลดเสื้อหรือคลายเสื้อเด็กให้หลวม แล้วรีบหาผ้าชุบน้ำมาเช็ดตัวเด็กเพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อน โดยให้เช็ดตามหน้า และตามตัวบริเวณหลอดเลือดใหญ่ อย่างเช่น ซอกคอ แขน และขา เป็นต้น

          3. ให้เช็กด้วยว่าเด็กยังหายใจอยู่หรือเปล่า หากเด็กไม่หายใจให้รีบทำ CPR ปั๊มหัวใจทันที โดยวิธีการที่ถูกต้องก็คือ ให้วางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกลางหน้าอกของเด็กในระดับราวนม จากนั้นใช้มืออีกข้างวางบนหน้าผากพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ จากนั้นกดหน้าอกลงไปประมาณ 1/3 ของความลึกของหน้าอก โดยให้กดเร็ว ๆ แบบไม่หยุดเซตหนึ่งประมาณ 30 ครั้ง

เด็กติดอยู่ในรถ
         
          4. โทร. แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือรีบนำตัวเด็กไปส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

          เมื่อทราบทั้งวิธีป้องกันเด็กติดอยู่ในรถ และวิธีปฐมพยาบาลเด็กที่ติดอยู่ในรถ กันไปแล้ว ถึงอย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรมีสติ และปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นทุกครั้งด้วยนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย และเพื่อป้องกันเหตุสลดที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นนั่นเอง

ข้อมูลจาก : rakluke.com, motherandcare.in.th, เฟซบุ๊ก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ - สพฉ.1669

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การป้องกันเด็กติดอยู่ในรถ ทำอย่างไร ? พ่อแม่ควรรู้ไว้ก่อนสาย อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2561 เวลา 09:57:00 15,540 อ่าน
TOP