วิธีสอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว 6 เคล็ดลับง่าย ๆ แก้ปัญหาลูกอารมณ์ร้ายได้อยู่หมัด

          วิธีสอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว 6 เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดการกับอารมณ์รุนแรง และพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกน้อยได้อยู่หมัด

พฤติกรรมก้าวร้าว

          ถือเป็นเรื่องที่พบเจอกันอยู่บ่อยครั้งเลยทีเดียว สำหรับปัญหาเด็กที่มีอารมณ์ไม่คงที่ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจ ไม่เพียงแค่กับคนในครอบครัว แต่ลามไปถึงเพื่อน ๆ หรือคนใกล้ตัว โดยบางทีคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดจากอะไร จนเกิดความกลุ้มใจว่าจะรับมือกันอย่างไรดี ซึ่งปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ หากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นนิสัยติดตัวเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวของลูกในอนาคตได้ และเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วันนี้กระปุกดอทคอมเลยมีเคล็ดลับ 6 วิธีสอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว สำหรับครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาลูกมีอารมณ์รุนแรง หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายมาฝากกันค่ะ

          โดยเด็กอายุ 2-5 ปี เป็นช่วงที่เริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง และมักจะยึดตนเองเป็นหลัก เมื่อเขารู้สึกเครียด ซึมเศร้าหรือรู้สึกคับข้องทางอารมณ์ ด้วยความที่เป็นเด็ก จึงยังไม่รู้จักการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม ทำให้พวกเขาระบายอารมณ์ออกมาด้วยการก้าวร้าว อาละวาด ทำกิริยาไม่สุภาพ ในเด็กบางรายนอกจากจะเป็นการก้าวร้าวตามช่วงวัยแล้ว ก็อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมในครอบครัว ปัญหาทางสุขภาพจิต โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก เป็นต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือและจัดการกับความก้าวร้าวของลูกน้อยได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

พฤติกรรมก้าวร้าว

1. เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของลูกน้อย 

          เนื่องจากเด็กในวัยนี้ ยังไม่รู้จักสภาพอารมณ์ของตัวเอง ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไร ควรทำอย่างไรเพื่อแสดงความรู้สึกหงุดหงิด โมโหออกมา เมื่อลูกทำพฤติกรรมก้าวร้าว อาละวาดออกมา คุณพ่อคุณแม่จึงควรใจเย็น ๆ เข้าใจธรรมชาติของเด็กตามวัย รับฟังความรู้สึกของเขา และพยายามปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการให้เหตุผลแก่ลูก เช่น หากลูกหงุดหงิดเขวี้ยงสิ่งของหรือทุบตีผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่อาจพูดด้วยความสงบและหนักแน่น บอกเขาว่าเรารู้ว่าลูกกำลังโกรธ แต่ลูกจะทำลายข้าวของหรือทุบตีคนอื่นแบบนี้ไม่ได้ พร้อมกับเสนอทางเลือกในการระบายอารมณ์ทางอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น เขวี้ยงลูกบอล ทุบดินน้ำมัน เป็นต้น

2. สอนให้ลูกรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

          คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสิทธิของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น สอนให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองและแสดงความรู้สึกออกมาด้วยถ้อยคำหรือการกระทำที่เหมาะสม สอนให้ลูกรู้ว่าความก้าวร้าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และฝึกให้เขารู้จักชะลอความโกรธ ด้วยการนับ 1-10 หรือหากเขามีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่น ก็ควรฝึกให้เขารู้จักขอโทษกับคนที่เขาทำผิดด้วย พร้อมบอกว่าพฤติกรรมก้าวร้าวแบบนี้จะทำให้คนอื่นเสียใจได้ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเสริมแรงบวกเพื่อปรับพฤติกรรม เช่น เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่เหมาะสมตามที่ตกลงกันไว้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้รางวัล เป็นคำชมเชย หรือสิ่งของที่เขาต้องการ เป็นต้น

3. สอนให้เขารับผิดชอบการกระทำของตนเอง

          การฝึกให้ลูกได้เรียนรู้และรับผิดชอบผลของการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตัวเองนั้น จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองต่อไปในอนาคต เช่น เด็กเขวี้ยงข้าวของจนเลอะเทอะ ก็ให้เขาเก็บกวาดสิ่งที่เขาทำให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการฝึกให้เขารู้จักยับยั้งอารมณ์ รู้จักคิดและควบคุมตัวเองก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป หรือหากลูกก้าวร้าวกับผู้อื่น ก็อธิบายให้เขารู้ว่า ถ้าทำสิ่งนี้ลงไปแล้วคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น

พฤติกรรมก้าวร้าว

4. ลงโทษเมื่อลูกทำผิด

          การลงโทษในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การดุด่า หรือการใช้ความรุนแรงกับลูกนะคะ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ทำแบบนั้นกับลูก จะยิ่งเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้กับลูกและเขาอาจทำพฤติกรรมนี้กับคนอื่นได้ หากแต่เป็นการลงโทษที่สร้างสรรค์ บอกห้ามและให้เหตุผลว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ผิดและไม่เหมาะสม พร้อมกับแนะนำการแสดงออกในทางอื่นที่ไม่ใช่การทำลายสิ่งของหรือทำร้ายผู้อื่น เช่น ให้เขาตะโกนออกมาว่ารู้สึกโมโห หรือแสดงออกด้วยการทุบหมอน เป็นต้น แต่หากลูกอาละวาด งอแง คุณพ่อคุณแม่ควรแยกตัวเขาออกมานั่งเฉย ๆ คนเดียว ประมาณ 1-2 นาที จะทำให้เขาสงบสติอารมณ์ลงและเรียนรู้ว่าหากเขาอาละวาด จะต้องถูกทำโทษด้วยการนั่งคนเดียว เมื่อลูกใจเย็นลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงเข้าไปคุยกับลูกด้วยเหตุผลอีกครั้ง

5. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

          หากลูกมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ ใจเย็น ๆ และระวังอารมณ์ของตนเอง ไม่ควรใช้อารมณ์โต้ตอบเด็กหรือเอาชนะกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในการควบคุมอารมณ์โกรธ พร้อมกับให้กำลังใจลูกและทำให้ดูเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้สมาชิกในครอบครัวควรมีความรัก ความสามัคคีต่อกัน ก็จะช่วยให้ลูกลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้มากขึ้น รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะกระตุ้นความก้าวร้าวของลูก เช่น การทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว หรือ การให้ลูกดูรายการทีวีที่มีพฤติกรรมรุนแรง เป็นต้น ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกนั้น ไม่ใช่แค่การอบรมสั่งสอนด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่านความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว เด็ก ๆ จะได้ซึมซับสถานการณ์จากแบบอย่างที่ดี ภายใต้บรรยากาศของความรักและความอบอุ่นในครอบครัวนั่นเองค่ะ

6. ดูแลให้ลูกมีพัฒนาการเติบโตสมวัย

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีหลายครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ยุ่งจนไม่มีเวลา แล้วใช้สมาร์ตโฟน โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ตเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงลูก ทำให้เด็กมีโอกาสซึมซับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย รวมถึงมีนิสัยติดการเล่นสมาร์ตโฟนหรือเกม จนไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นหากตัดสินใจให้ลูกเริ่มใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ควรกำชับให้ลูกเข้าใจชัดเจนว่าสามารถเล่นได้กี่ชั่วโมงต่อวัน อาจให้เล่นเป็นรางวัลหลังทำการบ้านเสร็จ หรือเล่นไม่เกินเวลาเข้านอน แต่ทางที่ดีที่สุดควรหากิจกรรมที่เหมาะกับวัยของลูกมากกว่า เช่นการวาดภาพระบายสี หรือเข้าคอร์สเรียนเต้น ร้องเพลง เล่นดนตรี เล่นกีฬา เป็นต้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะรอบตัวแล้ว ยังเสริมสร้างพัฒนาการ ทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ได้ดีอีกด้วย

          การอบรมสั่งสอนและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกให้เป็นคนที่ไม่ก้าวร้าวนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ภายในวันสองวัน หากแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทน ค่อย ๆ ให้เวลาลูกในการเรียนรู้ และการปรับพฤติกรรม โดยมอบความรักและให้กำลังใจเขาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้นพบวิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเด็กดีได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีนิสัยก้าวร้าวรุนแรงมาก ก็ควรปรึกษากุมารแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็กเพื่อขอคำปรึกษาหรือวินิจฉัยหาสาเหตุอื่น ๆ  ต่อไปค่ะ

ข้อมูลจาก : parents.com, parentingscience.com, เฟซบุ๊กชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย, กลุ่มจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีสอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว 6 เคล็ดลับง่าย ๆ แก้ปัญหาลูกอารมณ์ร้ายได้อยู่หมัด อัปเดตล่าสุด 2 มกราคม 2562 เวลา 16:35:23 80,801 อ่าน
TOP
x close