9 วิธีดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นไข้หวัด และวิธีสังเกตอาการที่ควรพาไปพบแพทย์

          ลูกเป็นไข้หวัดทำอย่างไรดี ? มาดูวิธีดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นไข้หวัด พร้อมวิธีสังเกตอาการว่าอาการใดควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

          ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก ทำให้ใครหลายคนเป็นหวัดได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ร่างกายบอบบาง และยังมีภูมิคุ้มกันโรคได้ไม่ดีเท่ากับกับผู้ใหญ่ จึงทำให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งเวลาที่ลูกเป็นหวัดแต่ละที ก็ทำเอาคุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลเป็นห่วงและไม่สบายใจตามไปด้วย เพราะอาการไข้หวัดของเจ้าตัวน้อย มีทั้งตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไปจนถึงมีไข้สูง และบางครั้งยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายท่านอาจยังไม่รู้ว่าหากลูกน้อยเป็นหวัดขึ้นมาจะมีวิธีดูแลอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมเลยได้นำวิธีดูแลลูกเป็นหวัด มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนแล้ว จะได้ดูแลรักษากันอย่างถูกต้อง มาดูกันเลยค่ะว่ามีวิธีใดบ้าง

วิธีดูแลลูกเป็นหวัด

1. สังเกตอาการไข้ของลูก

          ในระยะแรกของอาการไข้ในเด็ก จะมีอาการตัวร้อน หน้าแดง ตัวแดง เพราะร่างกายพยายามระบายความร้อน ซึ่งหากลูกมีไข้สูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส และไข้ไม่ลดลงในเวลา 4-6 ชั่วโมง ควรให้ลูกนอนพัก และเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น พร้อมให้ยาลดไข้ แต่หากไข้ไม่ลดใน 24 ชั่วโมง ต้องรีบพามาพบแพทย์

2. ระบายน้ำมูกและเสมหะ


          เมื่อเด็กเริ่มเป็นหวัด มักมีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมา และมีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องช่วยลูกน้อยระบายน้ำมูกที่ค้างอยู่ในโพรงจมูก ด้วยการใช้ผ้านุ่ม ๆ ม้วนปลายแหลมสอดในรูจมูกเพื่อซับน้ำมูก หรืออาจดูดออกด้วยหลอดดูดน้ำมูก หรือเครื่องดูดน้ำมูก เป็นต้น แต่ถ้าในเด็กที่โตแล้ว อาจให้เขาสั่งน้ำมูก หรือใช้น้ำเกลือล้างจมูกก็ได้ค่ะ

3. ให้ลูกทานยาลดไข้

          หากเช็ดตัวให้ลูกแล้ว แต่ไข้ยังไม่ลดลง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถป้อนยาลูกได้ โดยควรเป็นยาในกลุ่มพาราเซตามอล เพราะสามารถใช้ได้กับเด็กทุกวัย แต่สำหรับเด็กเล็กควรทานในรูปแบบของน้ำ ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในฉลากยา โดยให้ทานทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง

4. ให้ทานอาหารที่ย่อยง่าย

          ช่วงเวลาที่ลูกเป็นหวัด ลูกจะไม่ค่อยอยากทานอาหารมากเท่าไรนัก คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องให้ลูกทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น กล้วย ฟักทอง มันบด โจ็ก ข้าวต้ม ซีเรียลสุก ขนมปังปิ้ง แคร็กเกอร์ เป็นต้น

วิธีดูแลลูกเป็นหวัด

5. ให้ลูกทานซุปไก่

          เมื่อลูกมีอาการไข้ ให้ลูกทานซุปไก่ หรือซุปร้อน ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ช่วยลดไข้ ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก โดยจะทำให้น้ำมูก และเสมหะต่าง ๆ เบาบางลง ทั้งยังทำหน้าที่เป็นสารต้านการอักเสบอีกด้วย

6. ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ

          ในขณะที่เป็นหวัด ร่างกายต้องการระบายความร้อนที่อยู่ภายใน คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อน และป้องกันการสูญเสียน้ำ โดยอาจให้ดื่มเป็นน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ก็ได้ แต่ควรงดเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม หรือ ชา

7. ให้ลูกพักผ่อนมาก ๆ

          คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกพักผ่อนมาก ๆ เพราะในช่วงเวลาที่เป็นหวัดนั้น ร่างกายของลูกค่อนข้างอ่อนเพลีย จึงจำเป็นต้องมีการพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น และหายจากไข้หวัดได้ไวขึ้นค่ะ

8. จัดที่นอนของลูกให้เหมาะสม

          จัดที่นอนของลูกให้พร้อมกับการพักผ่อน โดยยกหมอนให้สูงขึ้น จะช่วยให้ลูกหายใจได้ถนัด ลดอาการไอ และการหายใจติดขัด ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนที่นอนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมเงียบสงบ มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ปลอดโปร่งโล่งสบาย ไร้ฝุ่นควันและสิ่งสกปรก

9. กอดและให้กำลังใจลูก

          เมื่อลูกน้อยเป็นไข้หวัด เขาก็จะรู้สึกไม่สบายเนื้อ สบายตัว และเกิดอาการงอแงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องปลอบประโลมลูกน้อยให้เขารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ด้วยการให้ความสนใจและการดูแลเป็นพิเศษ เช่น การอุ้ม การกอดแสดงความรัก หรือทำกิจกรรมร่วมกับเขา เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ หรือดูการ์ตูน ก็จะเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้ลูกน้อยหายจากไข้หวัดได้เร็วขึ้นค่ะ

วิธีดูแลลูกเป็นหวัด

ควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อไร

          ในเด็กบางคนที่เป็นไข้หวัด คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกันดูแลรักษาลูกน้อยให้หายเองได้ด้วยวิธีที่กล่าวไปเบื้องต้น แต่ในบางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อน หรือมีอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติ ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้ตรวจดูอาการ โดยมีลักษณะอาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

          - ลูกมีไข้ขึ้นสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ในเด็กอายุ 3-6 เดือน หรือมีไข้ขึ้นสูงถึง 39.5 องศาเซลเซียส ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

          - ลูกมีไข้นานกว่า 24 ชม.ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือนานกว่า 72 ชม.ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี

          - ลูกมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น กระสับกระส่าย ร้องไห้ไม่หยุด ซึม หายใจเร็วหอบ ชัก อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น


          หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบนำไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป หากปล่อยทิ้งไว้นาน ลูกอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคไข้สมองอักเสบได้ค่ะ

          เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบวิธีดูแลลูกเป็นหวัดไปอย่างนี้แล้ว ก็สามารถนำไปใช้กับเจ้าตัวน้อยที่บ้านได้ทุกเมื่อเลยนะคะ แต่สำหรับในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน หากรู้สึกว่าลูกมีไข้ก็ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสที่จะมีความรุนแรงได้มาก ส่วนในเด็กที่มีอายุโตกว่านั้น ถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พาไปพบแพทย์เช่นกันค่ะ

ข้อมูลจาก : wikihow.com, mom.me, sheknows.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 วิธีดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นไข้หวัด และวิธีสังเกตอาการที่ควรพาไปพบแพทย์ อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2561 เวลา 10:52:17 19,940 อ่าน
TOP
x close