โรคลำไส้อักเสบในทารก สังเกตและป้องกันอย่างไร ก่อนที่จะสายเกินแก้ !


          โรคลำไส้อักเสบในทารก เป็นโรคเรื้อรังที่อันตรายมากสำหรับลูกน้อย ซึ่งจะมีวิธีสังเกตอาการและป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาฝากกันค่ะ

          ในแต่ละปีจะมีทารกจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบได้ในเด็กผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกันค่ะ ส่วนสาเหตุของโรคนั้นอาจเกิดจาก พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด เมื่อติดเชื้อทารกจะมีอาการอาเจียนและท้องเสียอย่างรุนแรง ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจทำให้อาการของโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ ดังนั้นคุณแม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และหาวิธีป้องกันลูกน้อยไม่ให้เสี่ยงกับการเป็นโรคนี้ แต่หากเป็นแล้ว คุณแม่ควรดูแลและป้องกันลูกน้อยอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ไปดูกันเลยค่ะ

โรคลําไส้อักเสบในทารก

สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยเป็นโรคลำไส้อักเสบ

          คุณแม่ทราบไหมคะว่า สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกันดังนี้ค่ะ

- ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร

          เชื้อไวรัสที่ทำให้ทารกติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารคือเชื้อบิด เชื้อประเภทอีโคไล (E.coli) และเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า "โรต้า" (Rotavirus) ที่ทำให้ทารกมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงและมีอาการขาดน้ำ จากการถ่ายอุจจาระเหลวหลายครั้งติดต่อกัน หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้ทารกเกิดอาการช็อกเพราะร่างกายขาดน้ำจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

- เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ

          หรือที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ซึ่งโดยปกติแล้วภูมิคุ้มกันของร่างกายจะป้องกันไม่ให้ไวรัสหรือแบคทีเรียเข้ามาทำร้ายร่างกายได้ แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดทำงานผิดปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาใหม่เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและทำลายเซลล์ในระบบทางเดินอาหารจนเป็นสาเหตุทำให้ลำไส้อักเสบได้

- เกิดจากการดูแลด้านโภชนาการและสุขภาพที่ไม่สะอาด

          การล้างขวดนมและจุกนมไม่สะอาด หรือการที่คุณแม่ไม่ล้างมือก่อนให้นมลูก รวมถึงห้องที่ลูกน้อยอาศัยอยู่และของเล่นที่ไม่ได้มีการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก็อาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบได้ค่ะ

- เกิดจากพันธุกรรม

          การที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคลำไส้อักเสบอยู่แล้ว ก็อาจทำให้ทารกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกันค่ะ

โรคลำไส้อักเสบในเด็ก

สังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีอาการของโรคลำไส้อักเสบ

          เมื่อทารกติดเชื้อคุณแม่จะสังเกตได้ง่ายว่าลูกน้อยจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ขึ้นสูง มีน้ำมูกไหล อาเจียน มีอาการท้องร่วง อุจจาระเหลวเป็นน้ำติดต่อกันหลายครั้งตามมา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกน้อยร้องไห้งอแงไม่หยุดนานติดต่อกันเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง มือเท้าเย็นเฉียบ มีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง ตาแห้ง กระหม่อมบุ๋ม กระเพาะป่อง ปวดท้องหรือเป็นตะคริว มีอาการซึม ไม่เล่น ไม่ยอมกินนม ปัสสาวะออกน้อย และเมื่อปัสสาวะออกมาจะมีสีเหลืองเข้ม หรือถ่ายอุจจาระแล้วมีมูกเลือดผสมออกมาด้วย หากมีอาการเหล่านี้คุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจปัสสาวะและอุจจาระและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

โรคลำไส้อักเสบมีวิธีรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี


          โรคลำไส้อักเสบในทารก จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และรักษาตามอาการที่แตกต่างกันไปสำหรับทารกแต่ละคน หากทารกมีอาการลำไส้อักเสบจนบวมเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามระบบทางเดินอาหารไปถึงทวารหนัก ในกรณีนี้จำเป็นต้องอาศัยวิธีทางการแพทย์ช่วยในการรักษาเยื่อบุของผนังลำไส้ หรือให้ยาเพื่อช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด และป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

ป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคลําไส้อักเสบได้อย่างไร

          คุณแม่สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคลำไส้อักเสบได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

          - คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีโภชนาการสูงในการบำรุงน้ำนมให้มีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายของลูกน้อยได้ดึงสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ ไปใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงปลอดภัยจากโรค

          - รักษาความสะอาดที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ รวมไปถึงทำความสะอาดขวดนมให้ถูกวิธี และทำความสะอาดของใช้หรือของเล่นของลูกน้อยด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ

          - การพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันลูกน้อยจากการเกิดโรคลำไส้อักเสบได้ค่ะ

          โรคลำไส้อักเสบจะไม่สามารถทำอันตรายลูกน้อยได้เลยค่ะ หากคุณแม่เตรียมพร้อมที่จะรับมือและรู้จักป้องกันโรคลำไส้อักเสบอย่างถูกวิธี ซึ่งควรเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ก่อนที่โรคร้ายจะมาเยือนและสายเกินแก้ค่ะ

ข้อมูลจาก : chop.edu, m.kidshealth.org, pedsibd.org, pharmacy.mahidol.ac.th, maerakluke.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคลำไส้อักเสบในทารก สังเกตและป้องกันอย่างไร ก่อนที่จะสายเกินแก้ ! อัปเดตล่าสุด 18 กรกฎาคม 2561 เวลา 11:37:11 47,172 อ่าน
TOP
x close