x close

ลูกมีปัญหาเรื่องหูรูด กับเรื่องควรรู้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

เด็กมีปัญหาเรื่องหูรูด

          เด็กมีปัญหาเรื่องหูรูด มีสาเหตุเกิดมาจากอะไร และจะมีวิธีรักษาอย่างไรได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่มาศึกษาลักษณะอาการของปัญหาหูรูดที่เกิดขึ้นในเด็กกันเลยค่ะ

          เรื่องสุขภาพเด็กและสุขภาพของลูก เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตและดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในเด็กทารกที่ยังไม่สามารถพูดสื่อสารความต้องการใด ๆ ให้พ่อแม่เข้าใจได้ แต่พวกเขาจะแสดงออกผ่านทางสีหน้า ท่าทาง และกิริยาอาการในลักษณะต่าง ๆ เมื่อเขารู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวขึ้นมา ซึ่งนอกจากเรื่องไข้หวัดและการติดเชื้อโรคต่าง ๆ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังแล้ว เรื่องของระบบอาหารและการขับถ่าย ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากเช่นกันค่ะ เพราะในเด็กเล็ก กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะยังทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดต่าง ๆ โดยเฉพาะหูรูดหลอดอาหาร และหูรูดทวารหนัก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจสงสัยว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้างนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมได้นำความรู้เกี่ยวปัญหาหูรูดในเด็กมาฝากไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลรักษาลูกน้อยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหูรูดแล้วค่ะ
          โดยในร่างกายของคนเรามีกล้ามเนื้อที่เป็นหูรูดอยู่หลายตำแหน่ง แต่หูรูดที่สำคัญและมักเกิดอาการที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ มีดังนี้

เด็กมีปัญหาเรื่องหูรูด

1. หูรูดปลายหลอดอาหารส่วนที่ต่อกับกระเพาะอาหาร

          ปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการหย่อนสมรรถภาพไปตามวัย ส่วนในเด็กนั้นอาจเกิดจากการที่ระบบกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกรดไหลย้อนนั่นเองค่ะ ซึ่งเมื่อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารมีการคลายตัว หรือหลวมผิดปกติ ทำให้นมหรืออาหาร รวมทั้งกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา เด็กจึงเกิดอาการแหวะนม ทานอาหารไม่ค่อยได้ ร้องงอแง และอาจมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในบางรายที่รุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นหลอดอาหารตีบ เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้

          ทั้งนี้อาการแหวะนมของลูก จะพบอาการแหวะบ่อย ๆ ในช่วงวัยทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน เนื่องจากหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่ดี หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าลูกเป็นโรคกรดไหลย้อน นอกจากจะแหวะนมบ่อยผิดปกติแล้ว ก็มักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กินนมได้น้อยลง ร้องไห้งอแง กระสับกระส่าย บิดตัวไปมาคล้ายปวดท้อง ก็ให้ตั้งข้อสงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน และควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการทันทีค่ะ

          ซึ่งหากลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีอาการแหวะบ่อย หรือมีอาการกรดไหลย้อน ให้ดูแลรักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูก โดยในเด็กเล็ก เมื่อกินนมเสร็จ ควรอุ้มเรอทุกครั้ง หลังลูกกินเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรรีบเข้านอน และเวลานอนให้ยกศีรษะสูงประมาณ 30-45 องศา หากลูกโตขึ้นมาหน่อยก็ควรลดอาหารจำพวกอาหารมัน และรสจัด เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้หูรูดกระเพาะอาหารหลวม จนกรดในกระเพาะสามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีนมผสมสูตรพิเศษ ที่ช่วยลดปัญหากรดไหลย้อนได้ แต่ก็ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อนเพื่อความปลอดภัยค่ะ

เด็กมีปัญหาเรื่องหูรูด

2. หูรูดปากทวารหนัก

          ในผู้ใหญ่จะพบปัญหาหูรูดเริ่มเสื่อมสภาพเมื่ออยู่ในวัยชรา ทำให้เกิดปัญหากลั้นอุจจาระไม่อยู่ แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ จะยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทางทวารหนักได้เต็มที่ จึงเป็นเรื่องปกติของเด็กในวัยนี้ที่จะอุจจาระราด แต่ในเด็กทารกบางคนก็อาจมีอาการที่คล้ายกับเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างแรง พร้อมร้องไห้เสียงดังเหมือนเจ็บ แต่อุจจาระที่ออกมาไม่แข็งเหมือนเด็กที่ท้องผูก ซึ่งกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายยังทำงานไม่ประสานกัน คือ กล้ามเนื้อหูรูดไม่ยอมปล่อยให้อุจจาระออก แม้เบ่งมากแต่ก็ไม่มีอะไรออกมา แต่เมื่อทารกโตขึ้นระบบประสาทพัฒนามากขึ้น อาการนี้ก็จะหายไปได้เองค่ะ

          แต่สำหรับเด็กบางคนที่ไม่ขับถ่ายเป็นเวลาหลายวัน ถ่ายอุจจาระแข็งบางครั้งมีเลือดปน แถมเบ่งถ่ายนานหรือเจ็บปวดเวลาขับถ่าย สันนิษฐานได้ว่าลูกมีอาการท้องผูกค่ะ เมื่อลูกท้องผูกมาก ๆ อุจจาระก็มีก้อนใหญ่และแข็ง ทำให้ต้องเบ่งมากจนหูรูดอาจแตกเป็นแผล ทำให้เจ็บและไม่อยากถ่ายอุจจาระอีก ซึ่งยิ่งอั้นไว้ก็จะยิ่งทำให้อุจจาระแข็งและมีขนาดใหญ่ขึ้น เวลาถ่ายก็ยิ่งทำให้แผลปริแตกมากขึ้นไปอีก เกิดเป็นแผลที่หูรูดทวารหนัก บางรายที่มีอาการบาดเจ็บมาก ก็อาจกลายเป็นริดสีดวงทวารได้ค่ะ

          ซึ่งวิธีแก้ไขเมื่อลูกมีอาการท้องผูกก็คือ ควรปรับเปลี่ยนอาหารการกินของลูกน้อย พยายามฝึกลูกให้กินผักและผลไม้หลากหลายชนิด ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้าเป็นไปได้ควรให้ลูกดื่มนมแม่มากกว่านมผสม เพราะนมผสมบางชนิด หากชงเข้มเกินไป ก็อาจทำให้ลูกท้องผูกได้ หากลูกเริ่มโตประมาณ 2-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรฝึกให้ลูกนั่งถ่ายอุจจาระหลังอาหารทุกมื้อ ครั้งละอย่างน้อย 10-15 นาที เมื่อลูกทำได้สำเร็จควรให้คำชมเชย หรือรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ลูกมีความตั้งใจที่จะขับถ่ายให้สม่ำเสมอต่อไป แต่หากลูกท้องผูกมาก ๆ อาจใช้ยาระบาย หรือยาสวนทวาร หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาค่ะ

          เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบข้อมูลที่เรานำมาฝากในวันนี้ ก็อย่าลืมหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีอาการผิดปกติอะไรบ้างหรือไม่ ถ้าลูกมีอาการแหวะนมมากเกินไป หรือเกิดกรดไหลย้อน แสดงว่าลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร แต่ถ้าลูกมีอาการท้องผูก ก็ควรปรับเปลี่ยนอาหารการกิน และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหูรูดทวารหนักที่ทำให้ระบบขับถ่ายของลูกน้อยรวนได้ อย่างไรแล้ว หากลูกมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบวิธีการดูแลสุขภาพเด็ก ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ

ข้อมูลจาก : webmd.com, aboutkidsgi.org, aboutkidshealth.ca


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกมีปัญหาเรื่องหูรูด กับเรื่องควรรู้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 3 สิงหาคม 2560 เวลา 15:37:33 14,681 อ่าน
TOP