อย่ามองข้าม ...อาการนอนกรนในเด็ก

อาการนอนกรนในเด็ก

          อาการนอนกรนในเด็กเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ และหากลูกนอนกรนมากอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามอาการนอนกรนของลูกค่ะ เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ ในการรักษาอาการนอนกรน แบบเบื้องต้นมาฝากกัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ

          อาการนอนกรน เป็นอาการที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เป็นได้ตั้งแต่เด็ก เสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่จมูก ช่องลำคอ โคนลิ้น หรือบางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ หากนอนกรนมากอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea : OSA)

           ภาวะ OSA จะก่อให้เกิดความผิดปกติทางพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา มีการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมตามมาได้ นอกจากนี้ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ด้วย

อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และควรไปพบแพทย์

           • นอนกรนอ้าปาก หายใจเสียงดัง เป็นประจำ

           • นอนกระสับกระส่าย ดิ้น หลับไม่สนิท สลับกับหายใจดังเฮือก ๆ หรือต้องลุกนั่งเพราะหายใจไม่ออก

           • หยุดหายใจเป็นพัก ๆ 5-10 วินาที แล้วตื่นหรือพลิกตัวเปลี่ยนท่า

           • คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อย ๆ

           • ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ

           • พฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง

           • เติบโตช้ากว่าวัย

สาเหตุของอาการนอนกรนในเด็ก

           • มีต่อมทอนซิลโต และหรือต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองอยู่ด้านหลังของโพรงจมูกโต เป็นสาเหตุที่พบบ่อย และสำคัญที่สุดในเด็ก หากมีการอักเสบ เด็กจะมีอาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง ชอบสูดน้ำมูกลงคอบ่อย ๆ หรือมีเสมหะ ครืดคราดในคอ เจ็บคอบ่อย อาจมีพูดไม่ชัด เสียงอู้อี้ได้

           • ภาวะจมูกบวมอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ

           • ภาวะอ้วน เด็กจะมีผนังคอหนาขึ้น ทำให้ช่องคอแคบ

           • โครงหน้าผิดปกติ เช่น หน้าแคบ คางสั้นหรือเล็ก

           • โรคทางพันธุกรรม หรือโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย

           แพทย์ต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย อาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น การ X-ray บริเวณศีรษะด้านข้างเพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจและขนาดต่อมอะดีนอยด์ และหากทำได้อาจตรวจการนอนหลับ (Sleep test) เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ

การรักษาอาการนอนกรน

           การดูแลปฏิบัติเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้พอเพียง การเข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ ในรายที่อ้วนต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย

           การรักษาด้วยยา เช่น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือยารักษาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ยาละลายเสมหะ น้ำเกลือล้างจมูก หรือยาปฏิชีวนะหากมีภาวะติดเชื้อ

           การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก เมื่อมีข้อบ่งชี้

           การรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาโรครั่ว การใช้เครื่อง CPAP ตลอดจนการจัดฟัน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกกรณีรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

           เมื่อบุตรหลานของท่านมีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นควรนำมาพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน และช่วยคลายความกังวลของผู้ปกครองได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.23 Issue 272 มีนาคม 2559

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย่ามองข้าม ...อาการนอนกรนในเด็ก อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2559 เวลา 16:25:29 10,856 อ่าน
TOP
x close