ระวังสิ่งแปลกปลอม ทำร้ายประสาทสัมผัสลูก

ภัยใกล้ตัวลูก

          ภัยใกล้ตัวลูกไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ของกิน หรือเห็บหมัดตัวเล็ก ๆ คุณแม่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษค่ะ เพราะในเด็กเล็กกำลังอยู่ในวัยที่อยากรู้ อยากลอง อาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดต่อลูกน้อยและอาจไปกระทบต่อประสาทสัมผัสของลูกได้ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร Mother & Care มาฝากันค่ะ

          ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกน้อยมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต หากต้องเกิดปัญหาหรือมีอุบัติเหตุอะไรบางอย่าง อาจทำให้โอกาสในการเรียนรู้หยุดชั่วคราวหรือเป็นไปอย่างถาวรได้ ดังนั้น ข้อมูลเรื่องสุขภาพฉบับนี้เรายกตัวอย่างสิ่งแปลกปลอมที่ต้องระวังมาบอกค่ะ
ดวงตา

          เวลามีสิ่งแปลกปลอมสัมผัสกับดวงตา จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา มีน้ำตาไหล ตาแดง หรือมีอาการเจ็บตาได้ ที่พบได้บ่อยก็คือเศษฝุ่นละออง ขนตา หรือแมลงตัวเล็ก ๆ เข้าตา นอกจากนั้นสิ่งของอันตรายที่เคยเป็นข่าวให้ต้องระวัง เช่น กาวชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ทำปฏิกิริยาได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะวัสดุที่เป็นต่างอย่างผิวหนังคนเรา (แปะปุ๊บติดนิ้วปั๊บ) หากบังเอิญกาวเข้าไปอยู่ในทางเดินหายใจหรือดวงตา ก็จะก่อให้เกิดระคายเคืองอย่างมากได้

ปกป้องดวงตา

         - เลี่ยงการขยี้ตา การนำเศษผงออกเอง คุณแม่สามารถทำได้โดยการลืมตาในน้ำสะอาดหรือล้างตาด้วยน้ำอุ่น

         - หากเป็นกาว ไม่ดึงหรือแยกผิวหนังอย่างแรง เพราะจะทำให้ชั้นผิวหนังถลอก หรือฉีกขาด ถ้าบริเวณที่ถูกกาวเป็นผิวหนังรอบ ๆ ตา (เปลือกตาไม่ติดกัน) คือลืมตาได้ ให้เช็ดหรือล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำอุ่น และล้างตาด้วยน้ำสะอาด

         - อาการเคืองตามาก ๆ หรือหนังตาปิด เบื้องต้นให้ใช้น้ำอุ่นเช็ดเบา ๆ และรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที

         - สารเคมีบางตัว เช่น ทินเนอร์ ที่อาจคิดว่ามีข้อดีช่วยชะล้างกาวออกได้ เรื่องจริงคือ ไม่สามารถล้างได้ แต่กลายเป็นผลเสียตามมา

ระวังไว้ก่อน


          วิธีที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ เช่น

         - ไม่พาลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ปลอดโปร่งหรือมีฝุ่นควันมาก ๆ

         - เก็บอุปกรณ์ที่เป็นอันตรายไว้ห่างมือเด็ก เช่น ยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา ซึ่งควรมีสัญลักษณ์ป้ายชื่อกำกับ ที่ให้เห็นชัดว่าเป็นยาอะไร และควรตรวจดูฉลากหน้าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง

         - คุณพ่อที่ต้องทำงานช่าง ควรระวังความปลอดภัยทั้งตัวคุณและลูก เช่น สวมแว่นตาป้องกันขณะทำงาน และแน่ใจว่าไม่มีเด็กวิ่งเล่นหรือเข้าใกล้ ควรจัดเก็บอุปกรณ์ทุกอย่างให้เรียบร้อยเมื่อเสร็จงาน

จมูก

         ในเด็กเล็กสาเหตุที่พบส่วนใหญ่ มาจากความซน อยากรู้อยากเห็น วัตถุที่พบได้บ่อย ๆ คือเมล็ดผลไม้ ลูกแก้ว ก้อนหิน หรือชิ้นส่วนของเล่นชิ้นเล็ก ลูกปัดและยางลบ ติดตาอยู่ที่รูจมูก

ปกป้องจมูก

         ให้ปิดรูจมูกอีกข้างหนึ่ง แล้วพ่นลมหายใจออกแรง ๆ ถ้ายังไม่ออกให้หายใจช้า ๆ ลึก ๆ และทำซ้ำอีกครั้ง

         อีกวิธีคือกระตุ้นให้จาม เช่น ใช้กระดาษทิชชูแหย่เข้าไปในรูจมูก เพื่อให้จามเอาสิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดออกมา

         สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ควรใช้นิ้วหรือไม้แคะออก เพราะจะทำให้วัตถุนั้นเลื่อนลึกลงไป และหากทำทั้ง 2 วิธีแล้วยังไม่ได้ผล ควรรีบไปพบคุณหมอ

ระวังไว้ก่อน

         ยังคงเป็นหลักการดูแลเด็ก ในเรื่องของความปลอดภัย ยิ่งเด็กเล็กวัยซนที่อยู่ในช่วงของการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ต้องมีคนใกล้ชิดและไม่ให้ห่างสายตา และต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติ เช่น ลูกร้องโยเย ใช้มือแคะแกะเกาจมูกบ่อย ๆ หรือมีแผลเป็นหนอง มีเลือดออก และมีกลิ่นเหม็น ให้พึงระวังว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจและรักษาทันที

หู

         สิ่งแปลกปลอมในหูแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ สิ่งมีชีวิตที่เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ ที่อาจบังเอิญบินเข้าหู เช่น มด ยุง ไรขนจากสัตว์ โดยเฉพาะหมัดสุนัข เมื่อเข้าหูจะมีอันตรายมาก เพราะจะคลานเข้าสู่ส่วนลึกของหู ใช้ปากที่มีเขี้ยวคมกัดช่องหูหรือแก้วหู และดูดเลือดเป็นอาหาร สามารถมีชีวิตอยู่ในหูได้นาน ต่อมาคือสิ่งที่ไม่มีชีวิตที่อยู่ใกล้มือ ลูกอาจหยิบจับใส่เข้าหู เช่น เมล็ดผลไม้ เศษอาหารชิ้นเล็ก ๆ หรือลูกปัด เป็นต้น

ปกป้องช่องหู

         - โดยเบื้องต้นอาจเอียงหูข้างที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปให้ต่ำลงแล้วกระตุกใบหู เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมเลื่อนออกมาเอง

         - หากมองเห็นวัตถุนั้นชัดเจน อย่าพยายามใช้นิ้วมือ ไม้ หรือที่แคะหู แคะหรือคีบออกมา เพราะอาจทำให้สิ่งนั้นเลื่อนเข้าไปด้านในลึกลง

         - ห้ามใช้น้ำหรือน้ำมันหยอดหูลูก เพราะวัตถุบางอย่างอาจดูดซับน้ำและพองตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

ระวังไว้ก่อน

         ช่วงที่ลูกน้อยเป็นนักสำรวจโลก (วัยเตาะแตะ) นอกจากการดูแลสิ่งแวดล้อมและเรื่องความสะอาดแล้ว ต้องสังเกตและระมัดระวังสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ตามที่นอน ห้องนั่งเล่น พื้นห้อง ที่ลูกต้องคลาน เดิน หรือหากต้องสัมผัสกับพื้นโดยตรงก็ควรมีผ้าปูรองและมุ้ง เพื่อป้องกันแมลงเดินเข้าหู เป็นต้น และเรื่องที่พบได้ในเด็กโตก็คือ การใช้คอตตอนบัดแคะหู เรื่องนี้ไม่ควรค่ะ เพราะโดยธรรมชาติร่างกายจะขับขี้หูออกมาได้เอง ไม่จำเป็นต้องแคะแกะออกมา เพราะเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อแก้วหูชั้นใน ถ้าลูกคันหรือเห็นว่ามีขี้หูมากผิดปกติควรพาลูกไปพบคุณหมอเฉพาะทางดีที่สุดค่ะ

คอ-หลอดลม

         การมีสิ่งแปลกปลอมติดที่คอ (อุดทางเดินหายใจ) อาการที่เห็นได้ คือ อาการไอ หายใจไม่ออก หายใจเสียงดัง พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก สาเหตุที่พบบ่อยของปัญหา มักเป็นเรื่องอาหารการกิน เช่น ก้างปลา กระดูกไก่ติดคอ หรือการกลืนอาหารชิ้นโตเกินไป พูดคุยหรือหัวเราะระหว่างกินอาหาร นอกจากนี้พบว่าของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เมล็ดผลไม้ ลูกอม ลูกกวาด ลูกปัด เหรียญ ก็เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายกับเด็กเช่นกัน

ปกป้องช่องคอ

         - ใช้ข้าวสุกนิ่ม ๆ ปั้นเป็นก้อนขนาดพอดีคำ บางสูตรก็ใช้กล้วยสุกแล้ว ค่อย ๆ กลืนลงไปในลำคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง หากยังไม่ออก หรือเห็นว่าเป็นของชิ้นใหญ่ ทางที่ดีควรรีบไปโรงพยาบาลดีกว่า ไม่ควรพยายามล้วงคอ เพราะจะทำให้อาเจียนเกิดอันตราย

         - อีกวิธีคือ จับเท้าทั้ง 2 ข้างให้แน่น และห้อยศีรษะลง หรือในเด็กเล็กให้จับนอนคว่ำพาดที่ตักให้ศีรษะต่ำ โดยให้อกของลูกอยู่บนมือและท้องแขนของคุณ แล้วใช้สันฝ่ามืออีกข้างหนึ่ง ตบที่ตรงกลางหลัง เพื่อให้ลูกไอ คายสิ่งแปลกปลอมออกมา

         - หากสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก ลูกมีอาการหายใจติดขัด สิ่งที่ควรรีบทำคือ ให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาล ถึงมือคุณหมอให้เร็วที่สุด

ระวังไว้ก่อน

         - ในเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟัน ไม่สามารถเคี้ยวให้ละเอียดได้ การปรุงอาหารและกินอาหารด้วยความระมัดระวัง เช่น เรื่องเศษก้างปลา กระดูก เปลือกไข่ หรือเมล็ดผลไม้ เช่น น้อยหน่า เป็นต้น เพื่อไม่ให้ลูกเผลอกลืนเข้าไปโดยเฉพาะ

         - เด็กที่โตมาหน่อย อาจมีความซุกซนอยู่บ้าง คุณจึงไม่ควรทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเลียนแบบได้ เช่น โยนของเข้าปาก ใช้ปากอมสิ่งของ

         - มารยาทการกินอาหารที่ดีก็เป็นหนึ่งเรื่องที่คุณควรสอนลูก เช่น ไม่ควรเล่นหรือหัวเราะระหว่างกินอาหาร เพราะอาจเสี่ยงที่อาหารจะติดคอได้ง่าย

         คงพอทำให้คุณมีข้อมูล ไว้คอยดูแลสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยของลูกได้ถูกทาง ให้ลูกเป็นนักสำรวจโลกกว้างได้อย่างมั่นใจด้วยค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.12 No.134 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวังสิ่งแปลกปลอม ทำร้ายประสาทสัมผัสลูก อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2559 เวลา 15:31:06 3,833 อ่าน
TOP
x close