พัฒนาการเด็ก 3 เดือน ส่งเสริมลูกน้อยอย่างไรดี

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน

         พัฒนาการทารกวัย 3 เดือน จะเริ่มเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้มากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้เรื่องพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางด้านสายตา การฟังเสียง อารมณ์ และจิตใจ ลูกจะเริ่มจดจำเสียงพ่อแม่ได้แล้วค่ะ มาเรียนรู้พัฒนาการลูกน้อยและส่งเสริมพัฒนาเด็ก 3 เดือน ด้านต่าง ๆ กับนิตยสาร Momypedia กันเลยค่ะ ^^

พัฒนาการทางร่างกายและการส่งเสริม

         ลูกวัย 3 เดือนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก สามารถยกศีรษะได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะมีสิ่งล่อตาให้มองหา เริ่มบังคับกล้ามเนื้อคอได้อย่างมั่นคง หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกนั่งพิงลูกจะเริ่มหันซ้ายขวาและชะโงกหน้ามาดูสิ่งที่ลูกสนใจ และหากจับลูกยืนเขาจะทำท่าเหมือนกระโดดจั๊มขาคู่ อีกทั้งมือกับตาเริ่มประสานกันมากขึ้นโดยสังเกตจากลูกหยิบของเข้าปากได้แม่นยำขึ้น

         ด้านสายตา ลูกจะหันมองแสง สี รูปร่าง และเสียงของวัตถุ เริ่มมองเพ่งไปที่โมบายที่แกว่งไปมา รวมทั้งจ้องใบหน้าคนอย่างมีจุดหมาย และในเดือนที่ 3 นี้ลูกสามารถมองรอบ ๆ ห้องได้อย่างเต็มตาแล้ว

         พัฒนาการสำคัญที่เห็นชัดในทารกวัย 3 เดือนนี้ คือการใช้มือ กุมมือ จับมือ ตีมือ และจ้องมองมือตนเองมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าประสาทตาทำงานได้ดีขึ้นมากแล้วนั่นเอง บางครั้งถึงกับยิ้มคิกคักเมื่อจับมือตนเองได้ แต่หากลูกหยิบสิ่งของที่อยู่ในมือและหล่นไป หากรอแล้วของสิ่งนั้นไม่กลับมาอยู่ในมือ ลูกก็จะละเลยความสนใจนั้นไป ลูกจะไม่ชอบมองสิ่งซ้ำ ๆ และมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสะดุดตาอยู่เสมอ

พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่

         ควบคุมการทำงานของร่างกายดีขึ้น

         มองตามและหันตามของที่เคลื่อนไหว

         หากมีเสียงดังขึ้น จะหยุดดูดนิ้วหรือดูดนมและหันหาที่มาของเสียง

         รู้ความแตกต่างของเสียงพูดและเสียงชนิดอื่น ๆ

         นอนคว่ำชันคอนาน แต่ชันอกได้ไม่กี่นาที

         ยกแขนทั้งคู่หรือขาทั้งคู่ได้

         เมื่อจับยืนขาจะยันพื้นได้ครู่เดียว

         นั่งพิงได้ ศีรษะเอนเล็กน้อย

         ตี คว้า ดึง สิ่งของเข้าหาตัวเอง

         เชื่อมโยงการเห็นและการเคลื่อนไหวได้

         นอนกลางคืนได้นาน 30 ชั่วโมง ตื่นช่วงกลางวันมากขึ้น

พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม

         ลูกจะเข้าใจความพึงพอใจ เช่น ถ้าลูกเอามือเข้าปากแล้วจะรู้สึกพอใจ หรือการเอื้อมมือเข้าไปจับโมบายเพราะความพึงพอใจที่อยากจะทำ สามารถรอคอยได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลากินนมลูกจะอารมณ์ดี เพราะลูกจะรู้ว่าถึงช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว

พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดในทารกวัย 3 เดือน ได้แก่

         หยุดร้องไห้ทันทีเมื่อเห็นหน้าคน

         ตอบโต้สิ่งเร้าแทบทุกชนิด

         ยิ้มง่ายและยิ้มทันที

         มีเหตุผลมากยิ่งขึ้น และสามารถรอคอยได้บ้าง

พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม

         ลูกจะเข้าใจกิจวัตรประจำวันและเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกยังอ้อแอ้อยู่ก็จะใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น เมื่อแม่เอานมมาก็จะโผเข้าหา อ้าปากรอเพื่อดูดนม และเริ่มเรียกอ้อแอ้ให้คุณสนใจ หรือเลือกวิธีร้องไห้ให้คุณพาไปเดินเล่นข้างนอกแทน

         ลูกจะติดต่อกับพ่อแม่ด้วยวิธีจ้องตา ทำเสียงอืออา แม้ว่าสักพักลูกจะมองไปทางอื่น แต่ก็จะกลับมามองหน้าพ่อแม่อีกครั้งพร้อมส่งเสียงเหมือนทักทายด้วย

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน

พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่

         เงี่ยหูฟังเสียงอื่น ๆ

         พูดแบบอือออ อ้อแอ้ หรือเสียงในลำคอตอบรับการได้ยิน

         โต้ตอบคำพูดหรือรอยยิ้มของแม่

         แยกออกระหว่างเสียงต่าง ๆ และเสียงของแม่

         ใช้การร้องไห้เพื่อบอกความต้องการเป็นหลัก

         หันไปหาเสียงพูดหรือเสียงเพลง

พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม

         ลูกจะชอบอยู่กับคนอื่นและไม่ชอบที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวหรือเล่นคนเดียวนาน ๆ ชอบเล่นกับพ่อแม่พี่น้อง และหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำสิ่งใหม่ ๆ มาให้ดู แต่เด็กบางคนมีบุคลิกเงียบเฉย เรียบร้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการความสนใจ เด็กทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสนใจและเป็นอันดับหนึ่งในใจพ่อแม่เสมอ

พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่

         แสดงอารมณ์ด้วยสีหน้าถ้าเจอคนคุ้นเคยจะแสดงออกทั้งร่างกาย

         เรียกร้องความสนใจ

         ต่อต้านเมื่อต้องอยู่คนเดียว

พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม

         คลื่นสมองของเด็กอายุ 3 เดือน มีลักษณะใกล้เคียงกับสมองผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายและการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นแล้ว

         ลูกจะจดจำเสียงพ่อแม่ได้และสนใจเสียงต่าง ๆ พร้อมอยากรู้ที่มาของเสียงนั้นด้วย ลูกจะเรียนรู้ผ่านมือมากขึ้นโดยเรียนรู้จากการสัมผัส รูปร่าง ขนาดของสิ่งของ สมองจะแยกแยะความแตกต่างเก็บเป็นข้อมูลชีวิตในภายภาคหน้า ซึ่งจะตามมาด้วยหลักในการเรียนรู้เรื่องเหตุและผล ช่น เมื่อลูกร้องไห้และเมื่อได้ยินเสียงแม่เดินเข้ามาก็จะหยุดร้อง เพราะรู้ว่าสักพักก็จะได้กินนมแล้ว เป็นต้น

         ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาทองที่สภาพแวดล้อม พ่อ แม่ และคนใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลลูกเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน เช่น กินอิ่ม นอนหลับ ขับถ่ายดี รวมทั้งการดูแลเรื่องการเรียนรู้ โดยสอนให้ลูกได้ลองสัมผัส ดมกลิ่น ชิมรส กับสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้ลูกมีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้โลกใบนี้และพัฒนาสมองได้อย่างดีด้วย

พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่

         รู้ความแตกต่างของใกล้และไกล

         สนใจสิ่งหนึ่ง ๆ ได้นานถึง 45 นาที

         เบื่อเสียงหรือสิ่งซ้ำ ๆ

         เรียนรู้ผ่านมือและการมองเห็น



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พัฒนาการเด็ก 3 เดือน ส่งเสริมลูกน้อยอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2558 เวลา 08:40:08 26,306 อ่าน
TOP
x close