ป้องกันก่อนสาย ... ลูกน้อยฟันผุ

ฟันผุ

          ทำไมลูกถึงฟันผุ ! เป็นเพราะการดูแลไม่ถูกวิธีและลูกได้รับอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้กับอาการฟันผุของลูกมาแนะนำกันค่ะ เพราะอะไรเด็กถึงฟันผุง่าย แล้วจะป้องกันอย่างไร เรารวบรวมข้อมูลจากนิตยสาร Mother & Care มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

          ตามคำแนะนำอย่างเป็นทางการของคุณหมอฟันบอกว่า ควรพาลูกไปพบคุณหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกเริ่มขึ้น แต่เชื่อว่ากว่า 80% ไม่ได้พาลูกไปพบหมอฟัน เพราะคิดว่าลูกเพิ่งมีฟันเอง ไม่ได้กินอะไร ไม่เป็นอะไรหรอก ถ้า...มีการดูแลฟันลูกน้อยดี ถูกวิธี อย่างสม่ำเสมอเชื่อว่าคงไม่เกิดปัญหากับฟันซี่น้อย ๆ

          โดยเฉลี่ยเด็ก ๆ จะมีฟันซี่น้อย ๆ โผล่ขึ้นมาให้เห็นประมาณอายุ 6 เดือน บางคนก็ขวบกว่าถึงจะเห็นฟันเล็ก ๆ ขาว ๆ ของเจ้าตัวเล็กแล้ว แต่หลาย ๆ ท่านอาจจะละเลยการทำความสะอาด การให้ลูกดูดขวดนมแล้วหลับคาขวด การให้นมมื้อดึก ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ฟันน้ำนมของลูกผุได้นะคะ ซึ่งตามสถิติเด็กไทยมีฟันผุสูงมาก และเริ่มผุตั้งแต่อายุ 7 เดือน เป็นเพราะการดูแลไม่ถูกวิธี รวมทั้งอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป

รู้ได้อย่างไรว่าลูกฟันผุ

          ถ้าผุบริเวณฟันด้านหน้า เมื่อจับดูผิวฟันจะมีลักษณะนิ่ม ๆ ไม่แข็งเท่าที่ควร ฟันจะกร่อนจนถึงเหงือก

          ระยะเริ่มต้น สีขาวฟันน้ำนมจะเปลี่ยนไปจากสีขาวอมเหลือง ผิวฟันมันเงา จะพบว่าฟันมีสีขาวขุ่น ผิวฟันจะด้าน ๆ ไม่เงา ถ้าใช้ผ้าเช็ดฟันให้แห้งจะเห็นได้ชัด

          ระยะต่อมา ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผิวฟันจะเริ่มขรุขระ ถ้าผุในฟันกรามด้านบดเคี้ยว จะเห็นเป็นสีดำตามร่องฟัน (ส่วนใหญ่พ่อแม่จะสังเกตเห็นในระยะนี้) ถ้าผุมากขึ้น ผิวเคลือบฟันจะแตกออก ทำให้ฟันเป็นรู และรูนั้นจะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ฟันจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือสีดำ

          ถ้าเด็กที่ฟันผุและไม่ได้รับการรักษา เมื่อฟันผุมากขึ้นก็ลุกลามถึงโพรงประสาท เด็กจะทรมานจากอาการปวดฟันมาก มีหนอง เหงือกบวม หน้าบวม หรือยิ่งกว่านั้น คือ เด็กไม่รู้สึกปวดทั้ง ๆ ที่ฟันดำหมดแล้วนั่นแสดงว่า เลยจุดปวดคือ โพรงประสาทฟันถูกทำลายหมดแล้ว ซึ่งต่อไปจะทำให้โพรงประสาทฟันเป็นพิษ เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายมาก

ป้องกันดีกว่ารักษา

          ฟันในเด็กเล็ก นอกจากจะทำให้เด็กเจ็บปวดแล้ว ยังมีผลต่อการเคี้ยวอาหาร เมื่อกินไม่ได้หลากหลาย ก็ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ต่อไปก็อาจส่งผลต่อภาวะจิตใจ (ถ้าต้องฟันหลอตั้งแต่เล็กหรือการไปทำฟันแล้วรู้สึกว่าเจ็บ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีกับหมอฟัน) รวมถึงส่งผลกระทบต่อการขึ้นของฟันแท้อีกด้วย ทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกันได้แก่...

          การทำความสะอาดอย่างถูกวิธีตามวัย

          เลี่ยงการกินขนมหวาน โดยเฉพาะน้ำอัดลม ขนมหวานที่มีลักษณะเหนียวติดฟัน เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต

          ไปพบคุณหมอเพื่อให้เคลือบฟลูออไรด์ ปีละ 2 ครั้ง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.126 มิถุนายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป้องกันก่อนสาย ... ลูกน้อยฟันผุ อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2558 เวลา 16:45:33 10,552 อ่าน
TOP
x close