โรค LCH คืออะไร ? วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดควารู้และวิธีสังเกตอาการ โรค LCH เบื้องต้น มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ เพราะอาการของโรค LCH จะคล้ายผื่นแพ้ทางผิวหนัง คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรมองข้าม โรค LCH เพราะหากลูกน้อยมีอาการผิดปกติเพียงนิดเดียวอย่านิ่งนอนใจค่ะ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับการตรวจวินิจฉัย พร้อมแล้วเราไปสังเกตอาการ โรค LCH ที่นิตยสารรักลูก นำมาฝากกันเลยค่ะ ^^
Histiocytic diseases หรือ LCH เป็นโรคที่พบได้น้อย ซึ่งในเด็กเล็กมักมีอาการคล้ายผื่นแพ้ทางผิวหนัง จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดได้ว่าเจ้าตัวเล็กเป็นแค่ผื่นผิวหนังทั่วไป แต่ความรุนแรงของโรคนี้ อยู่ที่ไม่มีการแสดงอาการที่เด่นชัดในช่วงแรก ฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
สังเกตลูกเมื่อเป็น LCH
โรคนี้พบได้ในเด็กมากว่าผู้ใหญ่ค่ะ ซึ่งเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดฮิสติโอไซท์ หรือแมคโครฟาจในไขกระดูก แล้วแพร่กระจายไปในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยลักษณะอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น เบื้องต้นมีอาการผื่น ปวดกระดูก มีไข้ น้ำหนักลด ท้องเสีย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย
อาการสำคัญที่บ่งบอกว่าลูกอาจกำลังเป็นโรค LCH คือ
1. อาการทางผิวหนัง ในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการทางผิวหนัง ซึ่งมีผื่นบริเวณศีรษะลักษณะคล้ายกับผื่นในโรคเซ็บเดิร์มหรือต่อมไขมันอักเสบ (seborrhic dermatitis) โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นขุยบริเวณศีรษะ ต่อมาจะพบผื่นนูนแดงขนาด 1-2 มิลลิเมตร บริเวณลำตัว ซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ นอกจากนี้ อาจพบว่ามีจุดเลือดออกที่ใต้เล็บ หรือการอักเสบบริเวณขอบเล็บร่วมด้วยได้
2. อาการทางระบบกระดูก อาจพบกระดูกผิดรูปบริเวณศีรษะ ซี่โครง มีอาการบวมและเจ็บบริเวณที่เป็น มีต่อมน้ำเหลืองโต มีผลต่อต่อมใต้สมองหรือต่อมพิทูอิทารี ทำให้เกิดภาวะโรคเบาจืด กระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย ท้องโตขึ้นจากการมีน้ำในช่องท้อง ตัวเหลือง ตับและม้ามโต
3. อาการทางโลหิตวิทยา จะพบว่ามีภาวะซีด เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดผิดปกติ เมื่อมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะทำให้เห็นเป็นจุดเลือดออกตามตัว (petechiae) หรือมีรอยช้ำได้ง่าย
4. อาการทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก มีอาการเจ็บหน้าอก และไอแห้ง ๆ
การวินิจฉัยและรักษา
จากสถิติพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรค LCH ภายใน 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 81 โดยวินิจฉัยจากลักษณะผื่นบริเวณผิวหนัง การ X-RAY การตรวจชิ้นเนื้อทางผิวหนัง และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไมโครสโคป การวินิจฉัยนี้จะช่วยให้คุณหมอพิจารณาเลือกยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สำหรับการรักษาหากเป็นแค่ผื่นผิวหนังอาจหายได้เอง หรือใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาได้ ส่วนอาการทางระบบอื่นต้องรักษาด้วยกลุ่มยาสเตียรอยด์ ยาเคมี และการฉายแสง ซึ่งสามารถแบ่งการวินิจฉัยตามระดับความรุนแรงของอาการได้ดังนี้
1. อาการในกลุ่มที่ไม่รุนแรง (Low risk) อาการเริ่มแรกอาจเป็นผื่นที่ผิวหนัง อาจพบความผิดปกติของกระดูก ต่อมน้ำเหลือง ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และต่อมพิทูอิทารีส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี หากได้รับยาเคมีบำบัดนาน 6-12 เดือน ไม่มีอัตราการเสียชีวิต แต่มีโอกาสที่โรคจะกลับมาเป็นซ้ำได้
2. อาการในกลุ่มที่รุนแรง (High risk) มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง พบได้ในเด็กที่มีภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ ตับและม้ามโต ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 6 สัปดาห์ อัตราการเสียชีวิตมีร้อยละ 35 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อที่ปอดหรือไขกระดูก
การรักษาในโรค LCH ทำได้ค่อนข้างยากค่ะ ต้องอาศัยการรักษาร่วมกันกับคุณหมอหลายแผนก เช่น กุมารแพทย์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา ด้านผิวหนัง รังสีแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ (oncologist)
ฉะนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด แม้ลูกน้อยมีอาการผิดปกติเพียงนิดเดียว ก็ไม่แนะนำให้ซื้อยากินเองนะคะ เนื่องจากอาจจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมถูกต้อง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 387 เมษายน 2558