กุมารแพทย์เตือนเด็กเล็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่มชาเขียว เสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนคนทั่วไปต้องระวังเรื่องน้ำตาล และไม่ควรดื่มชาที่ชงทิ้งไว้นาน เพราะสารในน้ำชาอาจกลายเป็นสารพิษ
กระแสการดื่มชาเขียวเพื่อส่งฝาขวดชิงรางวัลมาแรงมาก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีคุณแม่หลายคนโพสต์ภาพให้ลูกน้อยดื่มชาเขียวที่ซื้อมาลงในเฟซบุ๊ก จนชาวสังคมออนไลน์ออกมาแสดงความเป็นห่วงกันในวงกว้าง เพราะอย่างที่รู้กันว่าในชาเขียวพร้อมดื่มมีการเติมน้ำตาลในปริมาณมาก จึงเป็นเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะกับเด็กเล็กเท่าใดนัก
เรื่องนี้ก็ได้ทำให้ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ทารกแรกเกิด ประจำโรงพยาบาลบีเอนเอช แสดงความเป็นห่วงเช่นกัน จึงได้โพสต์ข้อความเตือนคุณแม่ผ่าน เฟซบุ๊ก สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ระบุว่า คุณสมบัติของชาเขียวที่ระบุว่ามี "สารโพลีฟีนอล" ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ว่ากันว่าช่วยลดมะเร็ง ชะลอภาวะแก่ก่อนวัย รักษาระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ สกัดกั้นการทำงานของเอ็นไซม์ที่เปลี่ยนแปลงความเครียดในหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดหลอดเลือดตีบ ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ช่วยลดระดับไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะยับยั้งไม่ให้เกิดลิ่มเลือด และการก่อตัวของตะกอนไขมันที่ผนังเลือดนั้น ในปัจจุบันนี้ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่มีงานวิจัยที่เชื่อถือได้สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว
ขณะที่การดื่มชาเขียวในแบบฉบับชาวญี่ปุ่นแตกต่างจากในไทย เพราะการดื่มชาเขียวของญี่ปุ่นจะชงใหม่ ๆ ร้อน ๆ กินแบบความเข้มข้นสูง ต่างจากไทยที่เป็นชาเขียวพร้อมดื่ม ชงไว้นานหลายเดือน ชงแบบเจือจาง เติมน้ำตาลมาก และอาศัยการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง เพื่อสร้างยอดขาย อย่างไรก็ตาม วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คนที่ไม่มีโรคประจำตัว สามารถดื่มได้บ้าง แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ ทารก และหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรดื่มเด็ดขาด เพราะจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย ซึ่งต้องระวังใน 3 เรื่องคือ
1. คาเฟอีน
ในชาเขียวมีคาเฟอีนสูง ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และเด็ก หากสตรีมีครรภ์ทานคาเฟอีนในระดับสูงจะทำให้หัวใจของทารกในครรภ์เต้นเร็วผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงของทารกเสียชีวิตในครรภ์
ส่วนเด็กเล็ก การทานคาเฟอีนจะทำให้ตื่นเต้น ใจสั่น อาการซนมากผิดปกติ อยู่ไม่นิ่ง นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ชาเขียวเท่านั้นที่มีคาเฟอีน แต่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ปกครองชอบให้เด็กทาน เช่น น้ำอัดลม โกโก้ ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ก็มีคาเฟอีนสูงมาก
2. น้ำตาล
น้ำตาลเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นโทษต่อสุขภาพในระยะยาวหากทานมากเกินไป โดยมีคำแนะนำให้เด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา แต่ในชาเขียว 1 ขวด มีน้ำตาลมากถึง 13 ช้อนชา
การกินน้ำตาลมากเกินไป จะทำให้หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไป เสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ส่วนเด็ก ๆ ที่กินน้ำตาลเยอะ จะติดนิสัยกินหวาน ฟันผุ เป็นโรคอ้วน ไม่กินข้าว ทำให้เด็กบางคนมีอาการอยู่ไม่นิ่ง ซนมากผิดปกติ
3. แทนนิน
สารแทนนินในชามีฤทธิ์ทำให้ท้องผูก ยับยั้งการดูดซึมสารอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น โปรตีน โฟลิก และธาตุเหล็ก ทำให้เด็กขาดสารอาหารเหล่านี้ได้ ถ้าขาดโปรตีนจะทำให้เจริญเติบโตช้า ถ้าขาดธาตุเหล็กและโฟลิก จะทำให้เป็นโรคเลือดจาง และยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นหากหญิงตั้งครรภ์กินแทนนินมาก ๆ อาจทำให้ขาดโฟลิก ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อการเจริญพัฒนาของสมองและไขสันหลังของทารกในครรภ์ ถ้าขาดโฟลิก จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดประสาทเปิด ทำให้สมองและไขสันหลังพิการ (Neural Tube Defect)
สำหรับคุณแม่ที่กำลังในนมบุตร สามารถกินคาเฟอีนได้นิดหน่อย โดยเลือกทานกาแฟ หรือ ชา หรือ น้ำอัดลม หรือ โกโก้ หรือ ช็อกโกแลต ได้ในปริมาณ 1 แก้วปกติ ไม่ใช่ 1 ขวด และเลือกได้เพียงอย่างเดียว พราะถ้ากินทุกอย่าง ๆ ละแก้ว ก็จะได้รับคาเฟอีนมากเกินไป จนมีผลเสียต่อร่างกายคุณแม่เองและผ่านทางน้ำนมไปมีผลเสียต่อลูกได้เช่นกัน เช่น นอนไม่หลับ ชีพจรเต้นเร็ว ซนมากผิดปกติ
ส่วนชาเขียวนั้น มีน้ำตาลสูง หากคุณแม่ทานมากก็ไม่ดีต่อสุขภาพของคุณแม่เอง จะทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเห็น
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่หญิงมีครรภ์และเด็กเล็กเท่านั้นที่ต้องระวังเรื่องการดื่มชาเขียว เพราะคุณหมอก็เตือนว่าสำหรับคนทั่วไปก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ไม่ว่าจะดื่มชาใด ๆ ก็ตาม ต้องรู้ไว้ด้วยว่า...
- ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา ไม่ว่ายาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณ
- ผู้ที่นอนหลับยากหรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาก่อนนอน
- ไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัด เพราะความร้อนจะไปทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากจนทำให้เกิดอันตรายในช่องปาก ลำคอ ลำไส้ได้
- ไม่ควรดื่มชาที่ชงค้างคืนหรือชงไว้นานหลายชั่วโมง เพราะชาอาจบูด นอกจากนี้ชาที่ชงทิ้งค้างไว้นาน ๆ พบว่ามีกรดแทนนินสูง และสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารพิษได้
สำหรับชาเขียวในขวดพลาสติกถ้าชงเก็บไว้นานหลายเดือนจะมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายหรือไม่นั้น พญ.สุธีรา ก็ระบุว่า ยังไม่แน่ใจในข้อนี้ แต่ทางที่ดี หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง และหันไปดื่มน้ำเปล่าจะดีที่สุด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ