
ยุคดิจิตอลการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่เติบโตอย่างสมวัยและก้าวทันไปกับสังคมดิจิตัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจลูกให้มากขึ้น และต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้การสร้างพื้นฐานในการดูแลลูก ๆ ตั้งแต่เล็กไปจนโตให้มีคุณภาพเหมาะสมตามวัยมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ อยากให้ลูก ๆ ก้าวสู่โลกยุคดิจิตอลได้อย่างมีคุณภาพไปจนถึงอนาคต ต้องไม่พลาดอ่านนิตยสาร MODERNMOM พร้อมแล้วไปหาความรู้กันเลย ^^
ยุคนี้เป็นยุค Touch Screen สัมผัสแล้วสัมฤทธิผล ทำให้เราก็มักจะเคยตัว ได้อะไรง่าย ๆ ครั้นพอมาถึงตอนเลี้ยงลูกน้อยตั้งแต่ baby เหตุไฉนจึงหาที่แตะให้หยุดร้องทันที ให้ทำอย่างที่ฉันต้องการทันทีเหมือน Smart Phone ไม่ได้ ทำอย่างไรดี ? อยากจะบอก Steve jobs ให้ทำ App แตะแล้วเลี้ยงลูกได้ดั่งใจ Steve jobs ก็ไม่อยู่ซะแล้ว
พ่อแม่ในยุคนี้มักมีความคาดหวังสูง ประสบการณ์ ความรู้ ในการเลี้ยงดูเข้าใจเด็กน้อย คุ้นเคยกับความสะดวกสบาย ความอึดน้อยกว่ายุคก่อน รวมไปกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สังคมดิจิตัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้เกิดปัญหาความเครียดได้มากในการที่จะเลี้ยงลูกสักคนหนึ่ง แต่ไม่เป็นไรค่ะ สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของชีวิต ขอเสนอมุมมองแนวคิดพื้นฐานในการดูแลเลี้ยงดูที่สามารถปรับเปลี่ยนใช้กับลูกตั้งแต่เล็กไปจนโตจากคุณหมอเด็กคนหนึ่งค่ะ

เด็กในแต่ละช่วงอายุจะมีลักษณะทั่ว ๆ ไปที่คล้ายคลึงกัน เช่น มนุษย์ต้องการความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขวบปีแรก อย่าลืมให้ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขเบบี๋นะคะ
ช่วงเดือนแรกลูกก็จะกิน ๆ ๆ ๆ เสร็จก็อึ ฉี่ ร้อง กล่อมนอน หมอขอมอบคาถา 5 อ.ให้กับชีวิตพ่อแม่ลูกอ่อนก็คือ อดนอน อดทน อดกลั้น อดออม และอึด
พอเข้าขวบปีที่สอง อายุขวบกว่า ๆ ยังไม่สามารถพูดได้แต่มีความเข้าใจ มีอารมณ์ที่อาจรุนแรงได้ อยากรู้ อยากเห็น อยากทำเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เรารู้คร่าว ๆ ลักษณะในวัยนี้ก็จะเข้าใจและไม่เครียดจนเกินไป ก็พยายามจัดให้ลูกได้เล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข ช่วยให้ลูกทำเองตามวัย (ตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้กินเอง) ช่วยเราตามวัย (เอาของมาให้) และชมพอสมควรให้ลูกรู้สึกดีกับตัวเอง (Self-esteem) เป็นการป้องกันการร้องดิ้นยามถูกขัดใจ ถ้าเกิดอาการกรี๊ดก็พยายามพูดคุย เบี่ยงเบน อาจใช้เทคนิคแม่นิ่งหรือส่งให้คนอื่นช่วยดูแลก่อนสักหน่อย สิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างวินัย (Disoipline Techniques) พูดง่าย ๆ ก็คือ เข้าให้ถูกทางกับลูกแต่ละคนในแต่ละวัย
การหาความรู้ลักษณะเด็กในแต่ละวัย อาจได้จากการสังเกตสอบถามจากคนรอบข้าง จากหนังสือนิตยสาร สื่อ Internet ไม่รู้อะไรถามอากู๋ (Google) รวมไปถึงการปฏิบัติจริง ลงมือเลี้ยงลูกด้วยตนเอง จากนั้นจึงนำมาปรับเปลี่ยนเป็นสไตล์เรา ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ด้วยนะคะ เพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่อาจพบได้ก็คือ ข้อมูลมากมายจนมึนตึ้บได้

Play + learn = เพลิน เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น และเลียนแบบพ่อแม่คนเลี้ยง เป็น Super Model ตลอดเวลา และเป็นการสอนที่มีอิทธิพลมากค่ะ อย่าลืมงานบ้านที่ช่วยให้เรียนรู้ได้มาก การจัดโต๊ะอาหาร แยกช้อนกับส้อม รู้จักจำนวนกี่อัน เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เช่น น้ำแช่ช่องแข็งเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำแข็ง รูปทรงต่าง ๆ น้ำไปต้มโดนความร้อนเปลี่ยนเป็นไอน้ำ แต่ก็ต้องระวังด้วย เพราะถ้าไปถูกเป็นอันตรายได้ หรือเวลาทำกับข้าวก็สามารถเปลี่ยนครัวเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น ไข่เปลี่ยนสภาพเป็นเจียว เมื่อเจอความร้อน รับประทานได้อร่อยด้วย สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเล่นพูดคุยอย่างสนุกสนานกับลูกได้
นอกจากนั้นกีฬาเป็นยาวิเศษสำหรับเด็ก ๆ และทุกคนค่ะ กีฬาทำให้แข็งแรง ไม่ค่อยป่วย สำคัญมากในผู้เป็นภูมิแพ้ ทักษะการเรียนกีฬา ต้องมีการซ้อม ฝึกฝน จึงจะทำได้ ไม่ใช่เล่นทีเดียวแล้วทำได้ ถึงแม้รู้เข้าใจแล้วก็ต้องลงมือทำจึงจะชำนาญ กีฬาทำให้เรียนรู้ความอดทนรู้แพ้ (คราวนี้แพ้ไม่เป็นไร คราวหน้าอาจชนะ) รู้ชนะ (ไม่เหลิง คราวหน้าอาจแพ้ก็ได้) กีฬาเป็นทักษะที่ช่วยให้มีเพื่อน มีสังคม ไม่เหงา ดึงออกจากหน้าจอทั้งหลาย ดนตรี ศิลปะ เช่น วาดรูป ปั้นงานฝีมือ ช่วยในการใช้เวลาว่าง และส่งเสริมจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่ากรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ที่ควบคู่กันไปในการที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นการกำหนดลักษณะ บุคลิกภาพ ภาษิตแต่โบราณจะกล่าวถึงความสำคัญของกรรมพันธุ์ เช่น ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมในปีแรก ๆ ของชีวิตมีความสำคัญมากในการที่คนสักคนจะเติบโตมาเช่นไร มีข้ออธิบายทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า ตั้งแต่ปฏิสนธิเราก็จะได้ลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ เช่น ลักษณะ สีผิว ความฉลาด แต่สมองก็ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู มีส่วนกำหนดการเติบโตของสมอง เซลล์สมองจะมีการเชื่อมต่ออย่างมากมายในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิต สมองมีการเจริญเติบโตมาก เป็นการวางระบบ ดั่งภาษิตโบราณ "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ตัดยาก" เลี้ยงลูกก็คล้ายปลูกต้นไม้ เลือกพันธุ์ดี ดินดีทะนุบำรุง โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ผลลัพธ์ก็ออกมาดีกว่า ง่ายกว่า

กิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน กิน อาบน้ำ แต่งตัว ล้วนเป็นช่วงเวลาที่ส่งเสริมความรัก พัฒนาการลูก พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเป็นของเล่นที่ดีที่สุด เช่น เวลาอาบน้ำ เพียงแค่ตุ๊กตาเป็ดลอยน้ำก็เล่นเป็ดลอยน้ำจมน้ำ (วิทยาศาสตร์) สีเหลือง (รู้สี) ขนาดตัวใหญ่ ตัวเล็ก เป็ดหนึ่งตัว มาอีกตัวเป็นสองตัว (เรียนเลขอย่างเพลิดเพลิน)
นิทานเป็นกลยุทธ์แต่โบราณ ในการสอนเลี้ยงดูเด็ก ทั้งเล่าทั้งอ่านนิทานสอนได้ทุกอย่าง เลขก็ได้ สี รูปทรง จริยธรรม แต่ต้องเลือกตามวัย ความสนใจและเล่าอย่างสนุกสนาน ที่สำคัญมากที่สุดพยายามมีความสุขกับแต่ละช่วงของชีวิตในการดูแลลูก อย่ามัวแต่กังวลจนเกินไป วันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน เผลอแป๊บเดียว ลูกอายุ 20 ปีอย่างไม่รู้ตัว ทำดีที่สุดในแต่ละวันเท่าที่เราทำได้ดีกว่าค่ะ


ในการทำอาหารนั้นเครื่องปรุงที่สด สะอาด และปรุงตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ก็จะทำให้อาหารออกมากลมกล่อมยกตัวอย่าง เช่น ต้มยำกุ้ง ถ้าได้เครื่องปรุงสด สะอาด คุณภาพดี ปรุงตามจังหวะที่เหมาะสม ก็ออกมาอร่อย ถ้าใส่กุ้งสด ๆ ตอนน้ำไม่เดือดกุ้งจะคาวกินไม่ได้ คล้าย ๆ กับนมแม่ช่วงเดือนแรกของชีวิตสำคัญมาก ๆ แต่ถ้าเอามาให้เด็กประถมกินก็ไม่ได้มีผลเลิศเช่นช่วงเดือนแรก ๆ นอกจากนั้นแต่ละบ้านก็อาจจะมีสูตร เคล็ดลับที่แตกต่างกันไปบ้างในการทำกับข้าวให้อร่อย รสชาติกลมกล่อม หรือเลี้ยงลูกให้เก่งดี มีความสุขฉันใดก็ฉันนั้น การเลี้ยงลูกเราพยายามให้มีปัจจัยบวก ๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และกันไม่ให้ปัจจัยลบเข้าไป
ในชีวิตจริงมีหลายอย่างที่เรากำหนดไม่ได้ทั้งหมด ถ้ามีปัจจัยบวกมาก ๆ ผลลัพธ์ที่เป็นบวกก็จะได้มากกว่า เช่น นมแม่เป็นสิ่งที่ดีเลิศในช่วงแรกของชีวิต พยายามให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือการที่แม่อยู่ดูแลลูกเป็นสิ่งดี แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน การมีคนช่วย เช่น ญาติ คนเลี้ยงดี ๆ ก็ช่วยได้มาก

ชีวิตครอบครัวเริ่มมาจากความสัมพันธ์ของหญิงชาย ตามมาด้วยความสัมพันธ์กับลูก สัมพันธ์กับญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายาย เพื่อน ๆ ผู้ร่วมงาน เราก็พยายามเข้าใจดูแล บริหารความสัมพันธ์เหล่านี้ให้ดี ประดุจดังทะนุบำรุงต้นรักที่มีหลาย ๆ กอ การบริหารจัดการที่ดีมีความสำคัญ หาพันธมิตรดี ๆ ช่วยเหลือ เช่น เราไม่สามารถอยู่ดูแลลูกตลอดเวลา ช่วงที่เราไม่อยู่ หาตัวแทนดี ๆ เช่น ปู่ย่าตายาย คนเลี้ยงดี ๆ มีคนรักลูกหลาย ๆ คน แต่ไม่ใช่ว่าพ่อแม่หายตัวไปเลยนะคะ
การบริหารการเงินก็มีความสำคัญมาก การมีลูกมีค่าใช้จ่ายที่สูง เราจะเลี้ยงลูกเอง ประหยัด แทนการออกไปหาเงินอย่างเดียวอาจคุ้มกว่าไหม หรือบางทีแม่บางคนอยู่แต่บ้าน เลี้ยงลูกตลอดอาจเครียดจากทั้งดูแลลูก บ้าน ทำกับข้าว เสื้อผ้า เมื่อสามีกลับดึกก็ต้องมีศิลปะการบริหารจัดการให้ดีว่าอะไรเหมาะสมกับเรา จะจัดการชีวิตอย่างไรดี

ในยุคนี้ไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีได้ แต่เทคโนโลยีที่มากไปในวัยเด็กอาจมีปัญหาทางพัฒนาการได้มาก หมอเด็กทางพัฒนาการมักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยง เวลาที่อยู่หน้าจอ (Screen Time) ทั้งหลายทั้งปวง ทีวี วิดีโอ iPad, Tadlet, Smart Phone ทั้งหลาย โดยเฉพาะสองปีแรกไม่ควรดูเลย หลังจากนั้นพยายามน้อยกว่าสองชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ดูแลเรื่องเนื้อหาและดูไปกับลูก ปัจจุบันเป็นสังคมก้มหน้าอาจส่งผลพัฒนาการเด็กช้าในด้านภาษา สังคม ความสัมพันธ์ ในเด็กโตก็อาจใช้ Internet ในการหาความรู้ พูดคุยกับพ่อแม่ ทั้งนี้ต้องมีความพอดีและกำหนดกฎเกณฑ์แต่เนิ่น ๆ เพราะเทคโนโลยีก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงด้วยเช่นกัน

การมีความรู้ทางวิชาการเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จ (แบบที่ว่าความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด) ความสามารถทางด้านอื่น ๆ มีความสำคัญ เช่น อารมณ์ EQ จริยธรรม MQ เด็กแต่ละคนอาจมีความถนัด ความสามารถที่แตกต่างกันไป พยายามส่งเสริมพัฒนาศักยภาพดุจดั่งเจียระไนเพชร

ปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนเร็วมาก เราต้องพยายามปรับตัวตามสังคมที่เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่น (Resiliency) เพราะสมรรถภาพในการปรับตัวคือความสำเร็จของชีวิต (Resiliency is the Mother of Success) ต้องสอนและปลูกฝังเรื่องนี้กับลูกไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ อย่าลืมนะคะว่าอุปสรรคก็คือความท้าทาย

พ่อแม่ทุกคนดีพอ ส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกไม่ค่อยดีกับตัวเอง ฉันจะเป็นแม่ที่ดีไหม ฉันจะมีนมให้ลูกกินไหม เหล่านี้เป็นความรู้สึกที่ปกติ พยายามเข้าใจตัวเองและทำจิตให้เข้มแข็งนะคะ ถ้าไม่ไหวก็ปรึกษาหาคนคุยด้วย
ส่วนความพอดีก็มีความสำคัญ เช่น การดูแลลูกต้องพยายามให้ช่วยตัวเองตามวัย ไม่ใช่ทำให้หมดหรือปล่อยจนเกินไป การที่ลูกทำอะไรได้เองตามวัยจะทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง (Self-esteem) และชมพอดี ๆ ตามความเหมาะสม คาดหวังตามความเป็นจริงนั้นสำคัญมาก การที่ผู้เลี้ยงดูต้องรู้ว่าเด็กปกติเป็นอย่างไรและคาดหวังตามความเป็นจริง ชมตามความเหมาะสม กิจกรรมที่ให้ลูกทำตามวัย ตามความสามารถของลูก ไม่ใช่ลูกอายุเพียงหกเดือนบ่นว่าทำไมลูกไม่เดิน (เป็นไปไม่ได้)
มีความหวังกับลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่จะรักและให้กำลังใจเสมอ และอย่าลืมมีความสุขกับชีวิต ครอบครัว เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ศิลปะในการมีครอบครัวก็คือทำดีที่สุดในแต่ละวัน มีความสุขได้ง่าย ๆ นะคะ

Vol.20 No.233 มีนาคม 2558