นิทานราหูอมจันทร์ ตำนานเรื่องเล่า ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กก็ฟังดี

          นิทานราหูอมจันทร์ นิทานก่อนนอนจากตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ นิทานชาติเวร พระราหู พระอาทิตย์ และพระจันทร์ โดย โหรชี้ชัด บอกเลยผู้ใหญ่ก็อ่านได้ เด็กก็ฟังดี
นิทานอีสป

          นิทานก่อนนอนมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น นิทานอีสป เรื่องเล่าที่มาพร้อมข้อคิดสอนใจ, นิทานพื้นบ้าน ที่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา รวมไปถึงนิทานสนุก ๆ พร้อมภาพประกอบเสริมทักษะ ทั้งนี้ ในทางโหราศาสตร์ก็มีนิทานที่ชื่อว่า นิทานชาติเวร เช่นกัน ซึ่งเป็นนิทานที่เกี่ยวกับดวงดาวต่าง ๆ อย่างวันนี้กระปุกดอทคอมก็มี นิทานชาติเวร พระราหู พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจาก โหรชี้ชัด มาฝาก สำหรับใครที่อยากรู้ว่า ตํานาน ราหูอมจันทร์ หรือ เทพพระราหู ฉบับนิทานชาติเวรเป็นอย่างไร ตามมาอ่านกันเลย

          ในอดีตชาติภพหนึ่ง มีเศรษฐีสองสามีภรรยามีบุตรชายด้วยกันสามคน แทนชื่อให้เข้าใจกันง่าย ๆ ลูกคนโตคือ พระอาทิตย์, ลูกคนรองคือ พระจันทร์ ส่วน พระราหู เกิดเป็นน้องสุดท้อง กาลต่อมาเศรษฐีเกิดตกยาก ขัดสน ทำธุรกิจผิดพลาด จำต้องคิดจากจรไปหาทำเลเพื่อทำกินสร้างตัวใหม่ยังที่อื่น จึงได้ถวายเคหสถานอันเป็นที่อยู่อาศัยให้เป็นธรณีสงฆ์ แล้วก็ยกครัวออกเดินทางไปตั้งหลักยังชนบทห่างไกล
 

          พ่อแม่และลูกทั้งสามช่วยกันประกอบสัมมาอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำให้ฐานะของครอบครัวค่อย ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง พี่คนโตเป็นเสาหลักของบ้าน ก็อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างเข้มงวด อวดเบ่ง จู้จี้จุกจิกกับน้อง ๆ ทำให้มีเรื่องทะเลาะขัดใจกับน้องทั้งสองอยู่บ่อยครั้ง ส่วนน้องคนรองก็มักจะรักความสบาย ช่วยงานบ้าง ไม่ช่วยงานบ้าง แต่มีเสน่ห์ช่างปรนนิบัติ ชอบบริการ ช่างประจบ เอาอกเอาใจ จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ส่วนน้องชายคนเล็ก ออกแนวฉลาดพลิกแพลง มีหัวคิดทำการค้า ชั้นเชิงการทำธุรกิจแพรวพราวเหนือชั้นกว่าพี่ทั้งสองมาก แต่ด้วยความหัวการค้าที่ต้องมีเล่ห์กล คบหาคนไม่เลือกชนชั้น ก็เลยไม่ค่อยลงรอยกับพี่ชายคนโต แล้วก็มักจะมีกิจกรรมหมุนเงินกับพี่คนรอง ไม่ว่าจะขอกู้บ้างหรือให้กู้บ้าง แล้วแต่วาระ

นิทานอีสป

          ต่อมาไม่นานนัก เศรษฐีผู้เป็นบิดาก็ได้สิ้นอายุขัยลงด้วยความชรา มารดาและบุตรทั้งสามจึงได้ทำการประชุมฌาปนกิจตามประเพณี แล้วได้ไปนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ทักษิณานุปทาน ฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นการทำบุญสัตตมวาร (ทำบุญครบรอบ 7 วัน) บุตรชายทั้งสามของเศรษฐีก็พากันเอาภาชนะมาใส่อาหารเพื่อตักบาตรถวายพระสงฆ์ พี่ชายคนโต (พระอาทิตย์) ออกหน้ารับแขกเป็นหน้าเป็นตาของงาน ก็ได้นำ "ขันทอง" ใส่ข้าวสำหรับตักบาตร, น้องชายคนรอง (พระจันทร์) ก็วิ่งบริการอำนวยความสะดวกผู้ที่มาร่วมงาน ก็ได้นำ "ขันเงิน" ใส่ข้าวสำหรับตักบาตร ส่วนน้องชายคนเล็ก (พระราหู) กำลังสาละวนวุ่นวายกับการจัดงานอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งกินเลี้ยงเมามายกับเหล่าบริวาร จึงออกมาแบบแฮงก์ ๆ ไม่มีเวลาจัดภาชนะสวยงามได้เหมือนพี่ทั้งสอง มองหาภาชนะใดมาใส่ข้าวเพื่อตักบาตรก็หาไม่ทัน เหลียวซ้ายแลขวาเจอ "ขันกะลามะพร้าว" จึงคว้าเอามาตักข้าวใส่บาตร
นิทานอีสป

          พี่ชายคนโตอธิษฐานว่า "ขออานิสงส์ผลบุญของข้าพเจ้าที่ได้ใช้ขันทองคำนี้ จงส่งผลให้ข้าพเจ้าได้กำเนิดมีรัศมีกายสุขสว่าง และวรรณะเปล่งปลั่งดุจทองคำเจิดจรัส"
 

          ส่วนน้องคนรองก็ได้อธิษฐานว่า "ขออานิสงส์ผลบุญของข้าพเจ้าที่ได้ใช้ขันเงินใบนี้ จงส่งผลให้ข้าพเจ้าได้กำเนิดเป็นผู้มีรัศมีกายและวรรณะเป็นสีขาวนวลสว่างประดุจเงินยวงน่าพิศมัย"
 

          ส่วนน้องชายคนเล็กเมื่อได้ยินพี่ทั้งสองอธิษฐาน ก็ให้รู้สึกเคืองขัดหมั่นไส้ ด้วยตนเองได้ใช้เพียงขันกะลามะพร้าว แล้วจะอธิษฐานสิ่งใดได้บ้างเล่า ? ฉับพลันความคิดบรรเจิดจากความหมั่นไส้พี่ชายทั้งสองก็ปิ๊งเป็นไอเดียเด็ด ! น้องชายคนเล็กจึงตั้งดวงจิตอธิษฐานว่า "ขอให้อานิสงส์แห่งตน แม้จะเพียงใช้กะลามะพร้าวตักบาตร แต่ก็เป็นแม่งานจัดงานบุญใหญ่ให้แก่บิดาผู้ล่วงลับแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตา ก็ขอให้ข้าพเจ้าจงกำเนิดมีร่างกายอันใหญ่โตอย่างหาประมาณมิได้ ให้ใหญ่ถึงขนาดที่สามารถบดบังทุกแสงสว่างได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะยามทิวาหรือราตรี

 

นิทานอีสป

          นับว่าเป็นคำอธิษฐานที่เกรียนแก่นเอาสะใจเป็นที่ตั้ง เช่นนั้น พระราหู จึงสามารถบดบังแสงแห่งพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ตามแรงอธิษฐาน แต่ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ที่สุดก็ต้องคายออกมา ฉะนั้นจึงเกิดเป็นเรื่องเล่าในทางโหราศาสตร์เกี่ยวกับ "คราส" จากพระราหูบดบังแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ เกิดเป็นตำนาน "สุริยคราส" และ "จันทรคราส" เช่นนี้แล
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก โหรชี้ชัด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิทานราหูอมจันทร์ ตำนานเรื่องเล่า ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กก็ฟังดี อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2564 เวลา 23:03:39 234,885 อ่าน
TOP
x close