เพราะลูกน้อยวัย 6 เดือน เริ่มสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านการคืบคลานมากขึ้น
Checkup ลูกน้อย 6 เดือน (รักลูก)เรื่อง : สิริพร
ลูกน้อยวัย 6 เดือน เริ่มสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านการคืบคลานมากขึ้น รวมทั้งมือน้อย ๆ ก็มักคว้าจับ สัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกัน จึงเป็นอีกช่วงวัยที่คุณแม่จะได้ส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้ก้าวไกลค่ะ
Checkup การเติบโตของหนู
คุณหมอจะแนะนำการดูแล และวิธีปฏิบัติในเบื้องต้นสำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือน ดังนี้
ตรวจสอบร่างกาย
คุณหมอจะตรวจสอบน้ำหนักของทารกความยาว เส้นรอบวงศีรษะ รวมทั้งเปรียบเทียบว่าลูกเติบโตสมวัยหรือไม่ตามข้อมูลมาตรฐานในชาร์ตการเจริญเติบโต พร้อมกับแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลทารก
การขับถ่าย
ลักษณะและสีของอุจจาระและปัสสาวะของลูก อาจเปลี่ยนไปตามนมและอาหารทดแทนมื้อนมที่ลูกกิน หากพบว่าลูกมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องร่วง ท้องผูก คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจสาเหตุที่แน่ชัด
การนอนหลับ
ลูกน้อยวัย 6 เดือน จะนอนเฉลี่ย ประมาณ 12 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน และเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักนอนหลับยาวตลอดคืน หรือต่อเนื่องนาน 6-8 ชั่วโมง
การกินนม
นมยังจำเป็นสำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือน แต่ในช่วงวัยนี้สามารถเสริมอาหารทดแทนมื้อนมได้แล้ว โดยเริ่มจากข้าวบด หรือไข่แดง เพราะเป็นอาหารเสริมที่มีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็น และเพื่อป้องกันการแพ้อาหาร ก่อนที่คุณแม่จะเสริมอาหารชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง
Checkup พัฒนาการตามวัย
พัฒนาการสำคัญของลูกน้อยวัย 6 เดือน มีดังนี้
ส่งเสียงอย่างมีความหมาย
ลูกวัยนี้มักชอบส่งเสียงดัง ๆ แต่เป็นการออกเสียงแบบมีความหมาย เช่น ส่งเสียงร้องเมื่อต้องการความช่วยเหลือ หรือเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่ นอกจากนี้เขายังตอบสนองต่อคำพูดหรือท่าทีที่คุ้นเคย เช่น หันเมื่อเรียกชื่อเขา ดีใจเมื่อเห็นแม่ทำท่าจะให้นม เป็นต้น เริ่มสื่อสารผ่านภาษากาย เช่น ชูสองแขน เมื่อต้องการให้แม่อุ้ม โยกตัวไปยังทิศที่อยากให้พ่ออุ้มไป
พลิกคว่ำพลิกหงาย ได้คล่องมากขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถคืบไปข้างหน้าและข้างหลังได้บ้าง และเริ่มนั่งทรงตัวได้นานขึ้น แต่ก็มีเด็กหลายคนที่เริ่มนั่งได้เอง ที่สำคัญชอบเล่นกับคนอื่น ๆ หรือออกไปดูโลกนอกบ้านมากขึ้น
เรียนรู้ผ่านการสัมผัส
ในวัยนี้เด็กจะให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัว และเรียนรู้ผ่านการสัมผัสมากขึ้น เช่น ใช้นิ้วมือในการค้นหาสิ่งของ หยิบจับและส่งสิ่งของจากมือข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งได้ จ้องมองและหยิบสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ชอบที่จะสำรวจสิ่งแปลกใหม่ด้วยปาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กวัยนี้มักเอาของเข้าปาก
Checkup ร่างกายหนูผิดปกติหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่สามารถรู้ได้ว่าสุขภาพร่างกาย และพัฒนากาของลูกปกติหรือไม่ ด้วยการพาลูกไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
ตรวจร่างกาย
ในวัยนี้คุณหมอจะให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของลูกน้อยเป็นพิเศษ นอกจากนั้นก็ตรวจร่างกายโดยรวม เช่น ตรวจสายตาเพื่อกรองการมองของเด็ก ฟังการเต้นของหัวใจและจับชีพจร
ฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน
วัคซีนสามารถป้องกันลูกน้อยจากการเจ็บป่วยในวัยเด็กได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ลูกน้อยควรได้รับวัคซีนตามคุณหมอนัดอย่างเคร่งครัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 377 มิถุนายน 2557