x close

แหวะนม เมื่อเรื่องง่ายกลายเป็นยาก

แหวะนม
รับมืออาการแหวะของลูกน้อยอย่างถูกวิธี

แหวะนม เมื่อเรื่องง่ายกลายเป็นยาก
(modernmom)
เรื่อง : สิริญาดา สกุลรัตน์

          คุณแม่ทุกคนเห็นด้วยไหมคะว่า เวลาลูกน้อยดูดนมได้เก่ง กินได้เยอะ อร่อยและมีความสุขกับการกิน คุณแม่ทุกคนก็ตื่นเต้น ดีใจ และมีความสุขไปด้วย แต่เวลาที่กินมากไปจนลูกแหวะนมออกมาน่ะสิ ตอนนั้นความดีใจก็หายไปหมด ความกังวลมาแทนที่ว่าลูกน้อยจะเป็นอะไรไปหรือเปล่า ทำเอาใจหายใจคว่ำไปตาม ๆ กัน เมื่อผ่านช่วงเวลาที่ได้เข้าใจอาการของลูกและแก้ไขได้ถูกจุดนั่นแหละค่ะ ถึงคลายความกังวลลงได้พร้อมกับรู้วิธีรับมือกับอาการแหวะของลูกได้ถูก

เมื่อลูกแหวะนม


          ตอนที่ลูกแหวะนมครั้งแรกหลังคลอดได้ไม่นาน แม่ขอสารภาพว่าตกใจมาก กลัวว่าลูกจะเป็นอะไรไป อีกทั้งยังเสียดายน้ำนมอีกด้วย เพราะในช่วงแรก กว่าจะกระตุ้นน้ำนมให้มีมากก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนกัน แม่ยังจำได้ถึงวันแรกที่นั่งมองนมสีขาว ๆ ไหลล้นออกจากปากลูก เปรอะไปตามเสื้อจนเป็นคราบ แล้วลูกก็ร้องไห้โยเย จนคิดจะพาลูกไปหาหมอเสียด้วยซ้ำ กระทั่งมีคุณแม่รุ่นพี่ท่านหนึ่ง ให้คำแนะนำพร้อมหัวเราะอย่างขำ ๆ ว่าตื่นเต้นเกินเหตุ

          เขาบอกว่าทารกแหวะนั้นเป็นเรื่องธรรมด๊าธรรมดา ทารกคนไหน ๆ ก็ต้องเคยผ่าการแหวะนมมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อของเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหูรูดตรงรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะ โดยปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้ต้องขยายเพื่อให้อาหารผ่านไปหากระเพาะได้

          เด็กน้อยทุกคนที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง เมื่อนมผ่านลงไปแล้ว กล้ามเนื้อที่ต้องหดตัวปิดไม่ให้อาหารไหลกลับคงยังไม่ทำงาน พอกินอิ่มใหม่ ๆ แล้วแม่เผลอวางลูกให้นอนหงายโดยไม่ได้อุ้มเรอ นั่นแหละค่ะ เจ้าตัวเล็กของแม่เลยทั้งแหวะทั้งสำลักออกมาทีเดียว

รับมือฉับไว แก้ไขได้ทัน

          สิ่งหนึ่งที่แม่ได้รับคำแนะนำมาจากคุณแม่รุ่นพี่ แล้วก็ใช้ได้ผลดีมาก ๆ ก็คือ การรู้จักสังเกตวิธีดูดนมของลูก ไม่ว่าจะดูดจากเต้านมโดยตรงหรือดูดจากขวด หากการดูดนั้นเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เช่น ในกรณีที่กินนมแม่ ลูกนอนในท่าไม่สบาย หรือดูดหัวนมเข้าไปได้ไม่ลึกพอ ทำให้น้ำนมไหลน้อย และลูกก็ตั้งหน้าตั้งตาดูดเอาลมเข้าไปจนเต็มท้อง นั่นแหละค่ะสาเหตุที่ลูกมีลมในท้องจนดันเอาอาหารออกมา

          สำหรับเวลาที่ลูกน้อยกินนมจากขวดก็เช่นกัน แค่การหมุนปิดฝาจุกนมแน่นเกินไป หลวมเกินไป จนมีฟองอากาศไหลเข้าขวดนมไปมาก ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกแหวะนมได้ ก็ลูกน้อยจะดูดเอาแต่ลมเข้าไปจนเต็มกระเพาะนั่นเอง

          นอกจากระวังเรื่องการให้นมแล้ว วิธีง่าย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกไม่มีลมในท้องก็คือการอุ้มเรอ โดยยกตัวลูกขึ้นคว่ำพาดไหล่ ลูบหลังเบา ๆ กระทั่งลูกเรอออกมา ก็จะช่วยให้สบายท้อง ซึ่งตอนอุ้มเรอนี้เจ้าตัวเล็กอาจมีแหวะนมออกมาบ้าง ก็แค่ใช้ผ้ารองบนบ่าไว้ก่อนเท่านั้นจะได้ไม่เลอะ ไม่นานนักลูกน้อยก็จะสบายตัวและอิ่มสบายท้องค่ะ

สังเกตรูปแบบการแหวะนม

          พอรับรู้ว่าการแหวะนมเป็นเรื่องธรรมดา แม่ก็ชะล่าใจไปนิดหน่อยที่ไม่ได้สังเกตว่าลูกแหวะบ่อยแค่ไหนหลังดื่มนม เพราะหลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ แม่ก็ต้องรับรู้ว่า แม้จะจับลูกน้อยอุ้มเรอหลังมื้อนมแล้วก็จริง แต่เจ้าตัวเล็กก็ยังแหวะนมออกมาเป็นระยะในระหว่างมื้อ แถมงอแงจนผิดสังเกตอีกด้วย

          คราวนี้แม่ไม่รอช้า รีบพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ เพราะทุกคนในบ้านเริ่มกังวลว่าลูกแหวะนมบ่อยเกินไปจนผิดปกติ ซึ่งก่อนไปแม่ได้หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จึงได้พบว่ารูปแบบของการแหวะนมในทารกมีสาเหตุแตกต่างกันออกไปหลายแบบ ยิ่งอ่านก็ยิ่งสงสัยและใจไม่ดี แม่เชื่อว่าการพบแพทย์เป็นวิธีที่จะช่วยให้เข้าใจอาการที่ถูกต้องดีกว่าคาดเดาและรักษาไปเองโดยไม่ถูกต้อง

          คุณหมอใช้เวลาตรวจสุขภาพของลูกไม่นานนัก ก็สรุปว่ามี 2 อาการที่แม่ต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับการแหวะนมค่ะ

          อย่างแรกก็คือ ลูกอาจจะไม่เป็นอะไรมาก เพียงแต่ดื่มนมในปริมาณมากเกินไปในแต่ละมื้อ และอาจเรอออกมาได้ไม่หมด ซึ่งโดยปกติทารกจะผายลมออกมาด้วย แต่ด้วยความที่ลูกน้อยยังไม่รู้จักการเบ่ง จึงผายลมไม่เก่งนัก อาจต้องให้คุณแม่ช่วยด้วยการนวดเบา ๆ ที่บริเวณท้อง หรือพลิกตัวลูกน้อยไปมา บริหารให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น

          อีกแบบหนึ่งที่คุณหมอสงสัยคือ หากลูกน้อยแหวะทุกมื้อและไม่มีท่าทีดีขึ้น นั่นอาจเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะหย่อน ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต้องรักษาด้วยยาเพื่อช่วยให้อาหารเคลื่อนสู่ลำไส้ได้ดีขึ้น

          ในเบื้องต้นคุณหมอคิดว่าไม่น่าห่วงนัก เพราะเจ้าตัวเล็กยังร่าเริงอยู่และน้ำหนักไม่ลด จึงได้รับยาช่วยแก้ท้องอืดสำหรับทารกมาขวดเล็ก ๆ เพื่อช่วยในเวลาฉุกเฉิน นอกนั้นคุณหมอให้เฝ้าดูอาการไปก่อน พร้อมกำชับให้ลูกน้อยกินนมเป็นเวลา ไม่ละเลยการอุ้มเรอ และการขยับร่างกายบ่อย ๆ จะช่วยให้ดีขึ้นได้

อาการแหวะนม สัญญาณโรคร้ายแรง

          หลายครั้งที่ความวิตกของแม่ทำให้สนใจหาคำตอบให้มากขึ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์ ที่ได้รับรู้จากคุณหมอว่า การแหวะนม แม้จะเป็นธรรมดาสำหรับทารกทุกคนก็จริง แต่หากไม่สังเกตให้ดี ก็อาจพบว่านั่นคือการเตือนสำหรับการเจ็บป่วยสำหรับทารกก็เป็นได้

          คุณหมอบอกว่าการแหวะนมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกินมากไป การเป็นโรคกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะหย่อน หรือร้ายแรงกว่านั้นคือการมีเนื้องอกในบริเวณท้องของลูก ซึ่งลักษณะอาการของเด็กหลังจากแหวะนมบ่อยแล้วอาจจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย แม้ก้อนเนื้อในท้องจะไม่ใช่มะเร็งแต่ก็ควรต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นเมื่อกล้ามเนื้อบีบตัวจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้

          นอกจากนี้ยังมีอาการที่อาจร้ายแรงกว่านั้น เช่น การแหวะนมหรืออาเจียนบ่อย กระทั่งน้ำหนักของลูกน้อยลดลงเรื่อย ๆ แทนที่เด็กจะอ้วนขึ้นตามวัย กรณีนี้ถือว่าต้องพบแพทย์เท่านั้น ถึงจะแก้ไขได้ถูกจุด เพราะนั่นอาจเป็นปัญหาที่ระบบทางเดินอาหารของลูกน้อยก็เป็นได้

          โชคดีมากที่สุดท้ายลูกน้อยของแม่ก็มีอาการดีขึ้น ด้วยสูตรที่ว่า "กินตามเวลา ดื่มให้พอดี อุ้มเรอ และออกกำลังกาย" ไม่นานนักลูกน้อยก็มีกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น อาการแหวะนมก็ค่อย ๆ หายไป กระทั่งต่อมาลูกสามารถเรอได้เองโดยไม่ต้องอุ้มเรอแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความรู้ที่แม่ได้จากการไม่มองข้ามอาการเล็ก ๆ อย่างการ "แหวะนม" นั่นเองค่ะ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการแหวะนม

          การแหวะนมของทารกช่วงแรกคลอด-4 เดือน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารและกระเพาะทำงานยังไม่เต็มที่ หรือลูกกินลมเข้าไปมากจากการดื่มนมผิดวิธี

          เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงและปรับตัวได้ การกินของลูกจะดีขึ้น โดยอาการแหวะนมจะหายไปได้เอง

          หากแหวะนมบ่อยมาก เช่น ทุกครั้งหลังดื่มนม อาจมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหูรูดหย่อน ควรปรึกษากุมารแพทย์

          หากแหวะนมร่วมกับอาเจียนเป็นประจำต่อเนื่อง อาจเกิดความผิดปกติในท้อง เช่น เนื้องอก

          หากแหวะนมเป็นเวลานาน และน้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.19 No.224 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แหวะนม เมื่อเรื่องง่ายกลายเป็นยาก อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2558 เวลา 12:01:04 96,615 อ่าน
TOP