8 สัญญาณอันตรายแม่ตั้งครรภ์ (modernmom)
เรื่อง : รศ.นพ.วิทยา ติฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช
"ลูกรอด..แม่ปลอดภัย" จุดมุ่งหมายนี้ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คนคงอยากได้และฝันถึง แต่ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 9 เดือนของการตั้งครรภ์อาจทำให้ความฝันนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเปรียบได้กับการขับรถเดินทางไกลที่ยิ่งระยะเวลาในการเดินทางเนิ่นนานเพียงใด ความเสี่ยงต่าง ๆ ก็มากขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหมด แบตเตอรี่เสื่อมหรือแม้แต่อุบัติเหตุ รถยนต์ทุก ๆ คันจึงต้องมีสัญญาณเตือนที่หน้าปัดไว้เตือนคนขับให้รับทราบและเฝ้าระวังก่อนจะเกิดเหตุเหล่านั้น
การตั้งครรภ์ก็เช่นเดียวกัน มีปัญหาที่อาจทำอันตรายคุณแม่ได้มากมายหลายประการเลยทีเดียว บางคนก็มีปัญหาเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง ในขณะที่บางคนปัญหาที่มีค่อนข้างจะรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตามปัญหาส่วนมากมักมีอาการ และอาการแสดงหรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า "สัญญาณเตือนภัย" เป็นตัวบอกสัญญาณเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดของการตั้งครรภ์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับตัวปัญหาที่มี เพียงแต่ว่าคุณแม่ทั้งหลายจะเฝ้ามองและเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง บทความครั้งนี้ผมอยากจะเล่าถึงสัญญาณเตือนอันตรายที่สำคัญบางประการที่พบบ่อยและอาจจะเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์เพื่อให้คุณแม่สังเกต จะได้ให้การดูแลตัวเองและปรึกษาคุณหมอที่ดูแลได้อย่างถูกต้องต่อไปครับ
1. เลือดออกจากช่องคลอด
อาการนี้นับเป็นสัญญาณเตือนที่พบได้บ่อย และมีความสำคัญที่สุด หากมีอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแม้เพียงหยดเดียวก็ตาม แนะนำว่าคุณแม่ควรรีบไปพบคุณหมอทันทีครับ ทั้งนี้ก็เพราะอาการเลือดออกจากช่องคลอดอาจเป็นอาการนำของภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้หลายประเภท และบางประการมีอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามาพบคุณหมอช้าจนเกินไป
สาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์พอแบ่งง่าย ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
เลือดออกทางช่องคลอดใน 5 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุที่ทำให้เลือดออกในช่วงนี้ที่พบบ่อย ๆ คือ การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งภาวะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าวินิจฉัยได้ล่าช้า อาจทำให้คุณแม่เสียเลือดมากจนเป็นอันตรายได้ ส่วนสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า เช่น แผลที่ปากมดลูก ติ่งเนื้อที่ปากมดลูก เป็นต้น สาเหตุเล็กน้อยเหล่านี้ตรวจง่ายมาก แค่คุณหมอใส่เครื่องมือเข้าไปดูในช่องคลอดก็มองเห็นแล้วครับ
เลือดออกทางช่องคลอดใน 5 เดือนหลังของการตั้งครรภ์ สาเหตุที่พบบ่อยซึ่งทำให้เกิดเลือดออกในช่วงระยะนี้ก็คือภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด รวมทั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือแม้แต่เป็นอาการนำของการเจ็บครรภ์คลอดตามปกติก็ยังได้ครับ
2. ปวดท้องน้อย
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องน้อย ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นเรื่องปกติ คุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยบริเวณเชิงกรานทั้ง 2 ข้างเป็น ๆ หาย ๆ อาการที่ว่านี้มักเกิดจากการที่ตัวมดลูกซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นไปกดทับกระดูกเชิงกรานทำให้รู้สึกปวดได้ แต่อาการปวดนี้มักจะบรรเทาลงเมื่อพักผ่อน และส่วนมากอาการจะหายได้เองเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่ถ้าคุณแม่มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ปวดเฉพาะที่ เช่น ที่ข้างซ้ายข้างเดียวหรือข้างขวาข้างเดียว บางรายมีอาการไข้หรือมีภาวะซีดร่วมด้วย อย่างนี้ไม่ปกติแล้วครับ อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ นอกมดลูก หรือถุงน้ำรังไข่มีการบิดขั้วก็ได้ ต้องรีบไปพบคุณหมอนะครับ เพราะถ้าช้าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ครับ
3. แพ้ท้องรุนแรง
อาการแพ้ท้องไม่น่าจะเป็นสัญญาณอันตรายอะไรใช่ไหมครับ เพราะใคร ๆ ที่ตั้งครรภ์ก็แพ้ท้องกันเกือบทั้งนั้น แต่ในที่นี้ผมหมายถึงอาการแพ้ท้องที่รุนแรงจนทำให้คุณแม่ทั้งหลายไม่สามารถกินอาหารได้เลย และคุณหมอจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ เพราะคลื่นไส้อาเจียนมากตลอดเวลาและบางคนอาจมีน้ำหนักลดลงเลยก็ได้
แม้ว่าเราจะสามารถพบอาการแพ้ท้องรุนแรงได้ในครรภ์ปกติ แต่ก็มีภาวะผิดปกติบางอย่างขณะตั้งครรภ์ที่พบร่วมกันได้บ่อย ๆ เช่น การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการแพ้ท้องรุนแรงก็แนะนำให้ไปพบคุณหมอตรวจให้แน่ใจเสียก่อนนะครับว่าการตั้งครรภ์ของคุณแม่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ
4. เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
ปกติคุณแม่ควรจะมีอาการเจ็บครรภ์คลอดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ถ้าคุณแม่ที่อายุครรภ์ยังไม่ถึงช่วงเวลาดังกล่าวแล้วเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมาอย่างนี้ไม่ปกติแล้วล่ะครับ เพราะมันคือการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดซึ่งเสี่ยงที่จะตามมาด้วยการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นการคลอดที่จะได้ทารกที่ไม่แข็งแรง ทารกจำนวนไม่น้อยที่คลอดก่อนกำหนดเสียชีวิตจากปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่อาจจะรู้สึกว่ามดลูกของคุณแม่มีการบีบตัวอยู่เรื่อย ๆ แต่มักจะเป็นจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ หรือบางวันไม่รู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวเลยก็มี แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณแม่สังเกตว่าท้องตึงหรือแข็ง บางคนอาจปวดหลังบริเวณกระเบนเหน็บ เป็นจังหวะสม่ำเสมออาจจะทุก ๆ 10-15 นาที ให้พึงระวังว่านี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดและควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีครับ
5. น้ำเดิน
ทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้อยู่ในโพรงมดลูกโดยตรง แต่จะลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ซึ่งบรรจุอัดแน่นอยู่ในมดลูกอีกทีหนึ่ง โดยปกติถุงน้ำคร่ำจะแตกหรือรั่วเมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอดแล้ว เพราะเมื่อถึงระยะดังกล่าวมดลูกจะมีการหดรัดตัวบีบถุงน้ำคร่ำจนแตกหรือรั่ว บางคนถุงน้ำก็แตกหรือรั่วภายหลังเจ็บครรภ์คลอดไม่นาน ในขณะที่บางคนกว่าถุงน้ำคร่ำจะแตกหรือรั่วก็เมื่อทารกใกล้จะคลอดออกมาแล้วก็ได้ แต่ก็มีคุณแม่บางรายที่ถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่วก่อนที่จะเจ็บครรภ์คลอดก็มี กรณีเช่นนี้มักจะเรียกกันว่าน้ำเดิน
การมีน้ำเดินอาจจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใดของการตั้งครรภ์ก็ได้ หากมีน้ำเดินควรรีบไปโรงพยาบาลโดยไม่ชักช้า เพราะการที่มีน้ำเดินไม่ได้หมายความว่าจะมีแค่โอกาสที่จะมีการติดเชื้อในโพรงมดลูกเท่านั้น แต่น้ำเดินยังเป็นตัวบ่งบอกปัญหาบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ทารกในครรภ์นอนอยู่ในท่าขวาง หรือเอาก้นลงมาก่อน หรือเสี่ยงต่อการมีภาวะสายสะดือย้อยโผล่พ้นปากช่องคลอดออกมา ซึ่งจะทำให้ทารกเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
กรณีที่มีน้ำเดินเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ครบกำหนดแล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร คุณแม่บางรายคุณหมอไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ให้นอนพักในห้องรอคลอดไม่นานก็สามารถที่จะเจ็บครรภ์คลอดได้เอง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถ้ายังไม่เจ็บครรภ์คลอดหลังจากรอไประยะหนึ่ง คุณหมอก็สามารถที่จะให้ยาเร่งคลอดได้ และถ้าการเจ็บครรภ์คลอดดำเนินไปอย่างล่าช้าเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก คุณหมอก็จะพิจารณาผ่าตัดคลอดให้
แต่ถ้าคุณแม่ "น้ำเดินก่อนกำหนด" คือมีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ กรณีเช่นนี้มีปัญหาที่ต้องคิดมากขึ้น เพราะถ้าไม่รีบให้ทารกคลอดออกมาก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้ แต่ถ้ารีบให้คลอดออกมาก็อาจจะได้ทารกที่ร่างกายยังไม่สมบูรณ์พอ ปอดของทารกอาจจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่และเสียชีวิตหลังคลอดได้ จากข้อขัดแย้งดังกล่าวคุณหมอส่วนมากจึงมักจะให้คุณแม่นอนพักในโรงพยาบาล โดยหวังผลให้การตั้งครรภ์ยืดยาวออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าจะไม่มีการติดเชื้อโรคเกิดขึ้น โดยอาศัยการตรวจสัญญาณชีพ การเจาะเลือดตรวจ การตรวจดูลักษณะและปริมาณน้ำคร่ำที่ไหลออกมาทางช่องคลอด ถ้าคิดว่าอาจมีการติดเชื้อเกิดขึ้นต้องรีบยุติการตั้งครรภ์ทันที โดยการเร่งคลอดหรือผ่าตัดคลอดแล้วแต่ความเหมาะสม
รู้จัก "น้ำเดิน"
ปกติแล้วขณะที่ทารกลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ถุงน้ำคร่ำจะปิดสนิทไม่มีทางให้ทารกติดต่อกับภายนอกได้ นอกจากนี้ถุงน้ำที่ยังไม่แตกก็จะแนบติดแน่นกับผนังของโพรงมดลูกด้วย ผลดังกล่าวทำให้โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าไปในถุงน้ำคร่ำและโพรงมดลูกจึงเป็นไปได้ยากมาก แต่เมื่อถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก็เหมือนกับประตูเมืองถูกเปิดออกให้ข้าศึกคือ เชื้อโรคเข้าไปในถุงน้ำและโพรงมดลูกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะตามมาด้วยการติดเชื้อในโพรงมดลูกในเวลาต่อมา คุณแม่และทารกในครรภ์อาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตามแม้จะมีน้ำเดินแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการติดเชื้อทุกราย บางรายก็ไม่มี ส่วนมากรายที่มีการติดเชื้อมักเป็นรายที่มีน้ำเดินมาเป็นเวลานานแล้ว 12-24 ชั่วโมงโดยที่ทารกยังไม่คลอด
ในระยะใกล้คลอดศีรษะของทารกจะมีการเคลื่อนต่ำลงมาในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีการกดที่กระเพาะปัสสาวะ ผลก็คือจะทำให้ปัสสาวะบ่อยและบางคนก็มีปัสสาวะเล็ดด้วย ลองนึกภาพดูนะครับว่าคุณแม่ที่ครรภ์แก่ใกล้คลอดแล้วจะถ่ายปัสสาวะลำบากอย่างไร คุณแม่บางคนจึงอาจจะถ่ายปัสสาวะแล้วมีน้ำปัสสาวะตกค้างอยู่ในช่องคลอด เวลาลุกจากนั่งหรือเดินจึงอาจมีน้ำปัสสาวะที่ค้างอยู่ในช่องคลอดไหลออกมาได้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นน้ำเดิน
การแยกว่าน้ำที่ออกจากช่องคลอดเป็นน้ำเดินหรือน้ำปัสสาวะทำได้ไม่ยาก ถ้าเป็นน้ำเดินจะมีน้ำไหลออกมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นน้ำปัสสาวะจะมีเฉพาะช่วงภายหลังถ่ายปัสสาวะไม่นาน คุณแม่บางคนอาจได้กลิ่นปัสสาวะด้วยก็มี อย่างไรก็ตามถ้าคุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นน้ำอะไรก็ควรจะไปพบคุณหมอเพื่อตรวจยืนยันจะดีกว่าครับ
6. ปวดศีรษะ ตามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่
สาเหตุที่ผมต้องนำอาการเหล่านี้มารวมไว้ด้วยกัน อธิบายได้ง่าย ๆ ครับว่าทั้ง 3 อาการนี้เป็นอาการที่แสดงถึง "ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ครรภ์เป็นพิษ" นั่นเองครับ ภาวะนี้ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่มีอันตรายต่อทั้งชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์ พบได้บ่อยในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่เป็นวัยรุ่น แม่อายุมาก หรือคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น โดยทั่วไปมักพบ อาการปวดศีรษะเป็นอาการเด่นมากที่สุด โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผากและท้ายทอย บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือแขนขาร่วมด้วย หากคุณสังเกตพบว่ามีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะให้การรักษาทันท่วงทีและช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ครับ
7. ลูกดิ้นลดลงหรือไม่ดิ้น
บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกเสียใจไปกับคุณแม่หลาย ๆ คนที่ต้องสูญเสียลูกน้อยในครรภ์ไป เพียงเพราะไม่ได้ให้ความสนใจกับการดิ้นของลูกน้อย หรือไม่แน่ใจว่าลูกดิ้นเป็นปกติหรือไม่ แล้วไม่ได้ไปพบคุณหมอ คำว่า ลูกดิ้น ในทางการแพทย์หมายถึง การที่ทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหว ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวในลักษณะดิ้น การเคลื่อนไหวอย่างเบา ๆ อันเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของการตอด นั่นคือไม่ว่าลูกจะเคลื่อนไหวแบบเบา ๆ หรือแรงก็ถือว่า ลูกดิ้น เหมือนกัน
การที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีความรู้สึกว่าลูกในท้องยังคงดิ้นอยู่ทุก ๆ วันตามปกติน่าจะบอกได้คร่าว ๆ ว่าทารกแข็งแรงดีอยู่ แต่ถ้าวันใดรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงอย่างผิดสังเกตอาจแสดงว่าทารกไม่แข็งแรง และถ้าไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเลยติดต่อกัน 1-2 วันหรือมากกว่านั้น อาจบ่งบอกว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตไปแล้วก็ได้
หากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ปราณ 18-20 สัปดาห์ หรือ 5 เดือนในลักษณะของการตอด แต่ถ้าเป็นการตั้งครรภ์หลังจะรู้สึกว่าลูกเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นการดิ้นจะมีความแรงและจำนวนครั้งมากขึ้นจนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ลดลงจนครรภ์ครบกำหนดแต่ก็จะลดลงไม่มากจนผิดสังเกต
ช่วงเวลาที่คุณแม่ควรให้ความสนใจในการนับจำนวนครั้งการดิ้นของลูกในครรภ์ คือภายหลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ เพราะจะสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงการดิ้นของลูกได้ค่อนข้างชัดเจน การดิ้นของลูกที่ลดลงเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะขาดออกซิเจนและมีวิธีง่าย ๆ 2 วิธีในการนับการดิ้นของลูกที่อยากแนะนำให้คุณแม่ได้นำไปใช้กัน
นับลูกดิ้นในช่วงเวลาติด ๆ กัน 4 ชั่วโมง : แนะนำให้คุณแม่ที่ไม่ได้มีงานประจำนอกบ้าน สามารถนั่งหรือนอนพักสบาย ๆ ได้นาน ๆ หากสามารถนับลูกดิ้นได้เกิน 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมงก็ถือว่าปกติครับ
การนับลูกดิ้นหลังอาหาร : แนะนำให้นับจำนวนครั้งของลูกดิ้นเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ หาเวลาพักผ่อนสบาย ๆ พร้อมกับนับลูกดิ้นไปด้วย หากมีการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์มากกว่า 4 ครั้งขึ้นไปก็ถือว่าปกติเช่นกันครับ
สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือในทางการแพทย์เราถือว่าการประเมินความแข็งแรงของทารกในครรภ์ โดย การนับจำนวนครั้งของลูกดิ้นเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นการประเมินที่ใช้เพียงความรู้ส่วนตัวของคุณแม่เท่านั้นและอาจผิดพลาดได้ ดังนั้นเมื่อคุณแม่มีความรู้สึกลูกดิ้นน้อยลง จึงควรปรึกษาคุณหมอ ผู้ดูแลเพื่อตรวจวินิจฉัยความแข็งแรงของทารกในครรภ์ให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
8. มีไข้
การมีไข้ขณะตั้งครรภ์จัดว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญนะครับ เพราะใช้เป็นอาการแสดงของการติดเชื้อ ซึ่งหากมีการติดเชื้อที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะอันไม่พึงประสงค์ เช่น การแท้ง หรือความพิการของทารก (ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการติดเชื้อหัดเยอรมันครับ) และการคลอดก่อนกำหนดเป็นต้น
ไข้ อาจมีสาเหตุได้หลายประการครับ แต่ที่พบบ่อย ๆ ในขณะตั้งครรภ์ก็คือ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
ถ้าหากคุณแม่มีอาการไข้ก็ขอให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อให้การตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ ครับ อย่าซื้อยากินเองเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้าและยังอาจมีอันตรายจากการซื้อยากินเองอีกด้วยครับ
สัญญาณเตือนภัยที่ผมได้กล่าวมาทั้งหดข้างต้นเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยขณะตั้งครรภ์ เพียงแค่คุณแม่มีความรู้และให้ความสนใจ ในการสังเกตสัญญาณเหล่านี้ก็จะทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงด้วยความสุขของทุกคนแล้วครับ คุณแม่อย่าลังเลที่จะไปพบคุณหมอเมื่อเจอสัญญาณเตือนเหล่านี้นะครับ เพราะการไปพบแพทย์แล้วตรวจพบว่าปกติ ดีกว่าการปล่อยให้เกิดอันตรายตามมาภายหลังเพราะคิดว่าไม่มีอะไร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.19 No.222 เมษายน 2557