เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เด็ก 2 คนในวัยหัดพูดที่พยายามจะสื่อสารและเล่นกันตามประสา เป็นภาพที่ใครเห็นก็ต้องยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับความน่ารักน่าเอ็นดูของเจ้าหนูน้อยกันเป็นแถว แต่ภายใต้ความน่ารักอย่างนั้น คุณแม่ทราบไหมคะว่า เด็ก ๆ เขาไม่ได้ผูกสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนตามสัญชาตญาณเท่านั้น แต่เด็ก ๆ เขาเข้าใจความสัมพันธ์ในรูปแบบเพื่อนได้ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้เลยต่างหาก ยืนยันด้วยผลการศึกษาที่เว็บไซต์ mom.me เขานำมาเผยให้ได้ทราบโดยทั่วกันตามนี้เลยจ้า
จากผลการทดลองของสถาบันวิจัยทางจิตวิทยาสำหรับเด็กของประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า จริง ๆ แล้วเด็กมีความสามารถในการรับรู้ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนได้ตั้งแต่อายุประมาณ 9 เดือนเท่านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชิคาโกยังย้ำต่ออีกว่า เด็กในวัย 9 เดือนจะเริ่มสนใจท่าทีของคนอื่นผ่านหนัง และสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะฉากที่มีการพูดคุยกันระหว่างคน 2 คน และเริ่มเรียนรู้วิธีการเลียนแบบท่าทีเหล่านั้นอย่างคร่าว ๆ ได้แล้วด้วย
ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดีย และคนรอบข้างแล้ว สัญชาตญาณของลูกรักก็เอื้ออำนวยให้เขารู้จักหาเพื่อนได้ด้วยตัวเอง คล้ายคลึงกับสัญชาตญาณของการอยู่รอดของมนุษย์ทั่วไป และแม้ว่าเด็กในวัย 9 เดือนยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ แต่คุณแม่อาจจะสังเกตุเห็นได้ว่า ลูกรักใช้สายตาที่แน่วแน่สื่อสารแทน โดยเด็ก ๆ จะแสดงความสนใจในสิ่งที่เลือกอย่างชัดเจน รวมทั้งเรื่องการเลือกเพื่อนด้วยเช่นกัน หากเขาต้องการจะสานความสัมพันธ์กับใคร เด็ก ๆ ก็จะแสดงท่าทีจด ๆ จ้อง ๆ เพื่อมองดูท่าทีของฝ่ายตรงข้ามก่อน และถ้าอีกฝ่ายก็มีทีท่าเป็นมิตรไม่น้อยไปกว่ากัน (ซึ่งส่วนมากจะวัดจากความชอบ และไม่ชอบในสิ่งเดียวกัน) เด็ก ๆ เขาก็จะอ้อแอ้กันไปตามประสาอย่างที่ทำให้เราต้องอมยิ้มเอ็นดูอยู่บ่อย ๆ นั่นแหละจ้า
ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนในแบบผู้ใหญ่อาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างไม่มากก็น้อย แต่สำหรับผ้าขาวอย่างหนูน้อยวัยใส เด็ก ๆ เขาไม่สนใจเรื่องผลประโยชน์แต่อย่างใด เพียงแค่คนไหนมีท่าทีที่น่าเข้าใกล้ เด็ก ๆ ก็สนใจอยากจะเข้ามาสานสัมพันธ์เป็นเพื่อนทั้งนั้น และเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งคำสอนและตัวอย่างที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ ก็จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อย กับการสร้างสังคมของลูกด้วยนะจ๊ะ