x close

มารู้จัก กระหม่อม เจ้าหนูแรกเกิดกัน

กระหม่อมเด็กแรกเกิด

รู้จัก “กระหม่อม” เจ้าหนูแรกเกิด (Mother&Care)
เรื่อง : เฮลิโคเนีย

         เมื่อได้พบสบสายตาเจ้าหนู เป็นต้องตกหลุมรักเมื่อแรกพบ คุณแม่จึงชอบจับจ้องได้ครั้งละนาน ๆ มองไปยังส่วนไหนก็น่ารักไปหมด มือน้อย ๆ เท้าน้อย ๆ นิ้วเล็ก ๆ แขนป้อม ๆ ใบหูกระจิดริด ดวงตาใส ๆ ปากนิดจมูกหน่อย ศีรษะและกระหม่อมก็น่าทะนุถนอม มาถึงตรงนี้ก็เลยอยากจะรู้นักว่าต้องดูแลศีรษะและกระหม่อมอย่างไร


รู้ไว้อย่านึกว่า "กระหม่อม" ราชาศัพท์นะพ่ะย่ะค่ะ

         ก่อนจะไปดูแลกระหม่อมของลูก คุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมกระหม่อมคนเรา ถึงใช้เป็นคำเดียวกับคำราชาศัพท์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคำว่ากระหม่อมถือเป็นส่วนที่สูงที่สุดในตัวคนเรา ดังนั้นจึงนำคำว่ากระหม่อมมาใช้ประกอบคำในคำราชาศัพท์ เพื่อแสดงความเคารพยกย่องผู้ที่ตนเคารพอย่างยิ่งนั่นเองค่ะ

รู้ที่มาของพวก "กระหม่อมบาง"

         นอกจากจะสงสัยว่าทำไมถึงใช้ชื่อเป็นคำเดียวกับคำราชาศัพท์ คุณแม่คงเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่หรือแม้แต่คนสมัยนี้ชอบพูดถึงคำว่าพวกกระหม่อมบาง กระทบอะไรนิดหน่อย เป็นต้องเจ็บป่วยไม่สบายตลอด ก่อนเฉลยถึงเบื้องหลังที่มาของคำนี้ เราไปทำความรู้จักกระหม่อมของลูกกันก่อนค่ะ

กระหม่อมเป็นส่วนของกะโหลกศีรษะ ซึ่งอยู่ถัดจากส่วนที่สูงที่สุดลงมาในแนวกลางใกล้หน้าผาก เป็นส่วนที่ยังเชื่อมต่อกันไม่สนิท จนเกิดเป็นช่องว่าง ๆ นิ่ม ๆ บนศีรษะ กดแล้วบุ๋ม จะมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ กระหม่อมหน้าที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และกระหม่อมหลังที่เป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่า กระหม่อมหน้าจะปิดเมื่ออายุประมาณ 1 ปี-1 ปีครึ่ง ส่วนกระหม่อมหลังจะปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน

วิธีดูแล

         ช่วงที่กะโหลกส่วนนั้นยังเป็นเนื้อเยื่อปิดอยู่ ยังไม่เป็นกระดูกแข็งนี้ ต้องระวังไม่ให้ถูกกระแทก หรือถูกความร้อนจัดเย็นจัด เพราะกระหม่อมบาง คนที่เป็นหวัดง่ายเมื่อกระทบอากาศร้อนหรือเย็น ก็มักเรียกกันว่าคนกระหม่อมบาง โดยเปรียบกับเด็กทารกนั่นเอง แต่คุณแม่ก็อย่าได้กังวลที่จะสัมผัสกระหม่อมลูก เพียงระวังไม่กดหรือกระทบแรง ๆ ก็พอ หมั่นสัมผัสตรวจกระหม่อมด้วยนะคะ ถ้าคลำแล้วพบว่าบุ๋มลงไปมาก ลูกซึม ไม่เล่น ไม่ยิ้ม ไม่ร่าเริงเช่นเคย ดวงตาโหลลึก ลูกอาจมีอาการขาดน้ำรุนแรง หรือถ้าพบว่ากระหม่อมโป่งพอง ไม่เต้นตุบ ๆ ไปตามจังหวะการเต้นของชีพจร แสดงว่าลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง ควรพาลูกไปพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ

รู้จักศีรษะของเจ้าหนูโดยรวม

         คำว่า กระหม่อม นอกจากหมายถึงส่วนที่สูงที่สุดลงมาในแนวกลางใกล้กับหน้าผากแล้ว ยังหมายรวมไปถึงศีรษะโดยรวม ซึ่งประกอบไปด้วยกระหม่อม กะโหลกศีรษะ ใบหน้า สมอง โดยสมองและอวัยวะรับความรู้สึกที่สำคัญได้แก่ ตา หู จมูก ปาก จะอยู่ภายในกะโหลกศีรษะเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน โดยกะโหลกศีรษะยังประกอบด้วยกระดูกอยู่หลายชิ้น ซึ่งกว่าจะเชื่อมกันสนิทก็ย่างเข้าสู่วัยเด็กโตและผู้ใหญ่ ช่วงนี้จึงต้องดูแลศีรษะให้ดีด้วย ส่วนการจะรู้ได้ว่าศีรษะของลูกเป็นปกติดีหรือไม่ ดูได้จากการวัดเส้นรอบศีรษะค่ะ

รู้ทันการขยายตัวของเส้นรอบศีรษะ

         โดยปกติเมื่อเกิดมาเด็กจะมีเส้นรอบวงศีรษะยาวประมาณ 35 ซม. และจะขยายตัวเร็วมากในช่วง 6 เดือนแรกประมาณเดือนละ 1.5 ซม. ซึ่งเท่ากับเส้นรอบศีรษะของลูกจะเพิ่มขึ้นจาก 35 ซม.เป็น 47 ซม. ในช่วงขวบปีแรก และเส้นรอบศีรษะโดยปกติ จะอยู่ระหว่าง 45-47 ซม.ค่ะ

ทำไมต้องวัดเส้นรอบศีรษะ

         คุณแม่อาจสงสัยว่าเวลาพาลูกไปตรวจสุขภาพ คุณหมอมักวัดเส้นรอบศีรษะทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขวบปีแรกที่ศีรษะขยายตัวรวดเร็ว การวัดเส้นรอบศีรษะของลูก จะเป็นตัวบ่งบอกให้ทราบว่าสมองได้เจริญเติบโตอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ปกติลูกจะได้รับการวัดเส้นรอบศีรษะเป็นประจำในช่วงแรก คือ ทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพตั้งแต่ช่วงแรกเกิด 1 เดือน 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 12 เดือน ก็จะได้รับการวัดเส้นรอบศีรษะด้วย เพื่อดูว่าสมองและกะโหลกศีรษะเติบโตไปตามปกติหรือไม่

         ถ้ากะโหลกศีรษะมีความผิดปกติ กระดูกชิ้นต่าง ๆ ของกะโหลกติดกันเร็วเกินไป หรือลูกขาดสารอาหาร หรือสมอง ได้รับความกระทบกระเทือนในช่วงวัยขวบปีแรก สมองย่อมเจริญเติบโตไม่ดี กะโหลกศีรษะจะเล็กกว่าธรรมดา ดังนั้นการวัดเส้นรอบศีรษะประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้งในขวบปีแรก และวัดทุกครึ่งปีไปจนถึงอายุราว 6 ปี ก็จะช่วยทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว และจะช่วยให้ดูแลรักษาลูกได้แบบทันท่วงทีด้วยค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.9 No.106 ตุลาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารู้จัก กระหม่อม เจ้าหนูแรกเกิดกัน อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:17:45 38,819 อ่าน
TOP