เศรษฐกิจตกต่ำ ทำแม่ดุด่าลูกมากขึ้น ?

แม่และเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เชื่อกันว่าสภาพเศรษฐกิจมีส่วนกำหนดพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ได้ หากเศรษฐกิจดีผู้ปกครองก็อุ่นใจ เลี้ยงลูกได้อย่างราบรื่น แต่หากเศรษฐกิจล้มพ่อแม่ก็จะเครียดจากภาวะการเงิน มีส่วนให้เอาอารมณ์ไปลงกับลูกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ฟังดูแล้วก็น่าคล้อยตาม เพราะเป็นสภาพที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้จริง แต่ล่าสุดมีผลการวิจัยจากภาควิชาปัญหาร่วมสมัยของสังคมใหญ่ (Contemporary Urban Problems) มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย สหรัฐฯ พบว่า สิ่งที่ทำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยความหยาบกระด้างมากขึ้น ไม่ได้มาจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำโดยตรง แต่เป็นเพราะยีนที่อ่อนไหวด้านอารมณ์ถูกกระตุ้นและทำให้อารมณ์แปรปรวนฉุนเฉียวต่างหาก

          ผลการวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ของสำนักวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ (National Academy of Sciences) ระบุว่า ยีน DRD2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนโดปามีน (ฮอร์โมนซึ่งควบคุมด้านอารมณ์และความรู้สึก) เมื่อถูกจี้ด้วยความรู้สึกเครียดว่าจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจทรุด จึงทำให้พฤติกรรมของแม่เปลี่ยนแปลงไปในทางหยาบกระด้างกับลูกมากขึ้น โดยมีพฤติกรรมชี้วัดคือ ตีลูก ตบหน้า หรือตวาดใส่ลูกบ่อยครั้งขึ้นกว่าปกติ

          ศาสตร์จารย์ไอร์วิน การ์ฟิงเคล ผู้นำการวิจัย ได้เริ่มติดตามพฤติกรรมของแม่จากครอบครัวที่เสี่ยงมีปัญหาใน 20 เมืองใหญ่ ตั้งแต่ช่วงปี 2007 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ เริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย โดยคาดหวังไว้ว่าจะคงจะได้เห็นว่าบรรดาแม่ ๆ คงเลี้ยงดูลูกอย่างหยาบกระด้างขึ้น มีพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่เหมาะสมกับลูกมากขึ้น เหตุเพราะความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ

แต่แล้วผลก็ไม่ได้ออกมาตามที่คาดไว้ เมื่อพบว่าแม่ที่มีพฤติกรรมอารมณ์แปรปรวนมีทั้งที่มาจากครอบครัวที่มีและไม่มีปัญหา ในขณะที่ครอบครัวที่ประสบปัญหาจริง ๆ แต่แม่ยังเลี้ยงดูลูกดีตามปกติก็มีอยู่ด้วย จึงได้ทำการวิจัยเจาะลึงลงกว่าเดิม โดยได้เน้นการศึกษาที่ยีน DRD2 เพราะเป็นยีนที่ควบคุมการทำงานของฮฮร์โมนโดปามีนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลกับเรื่องอารมณ์และความรู้สึก ก็ได้พบว่าแม่ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับลูกมากขึ้นนั้น มียีนอ่อนไหวตัวดังกล่าวอยู่


          โดยกลไกที่กระตุ้นให้แม่มีพฤติกรรมแปรปรวนรุนแรงกับลูกมากขึ้นนี้ไม่ได้มาจากความเครียดจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำโดยตรง แต่เป็นความวิตกกังวลล่วงหน้าว่าความตกต่ำของเศรษฐกิจนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว ไปกระตุ้นให้แม่ที่มียีน DRD2 ควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนโดปามีนแปรปรวน และเป็นผลให้พฤติกรรมของแม่เปลี่ยนไป ไม่ว่าครอบครัวจะเจอเข้ากับปัญหาจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม สรุปแล้วคือ แม่ที่มียีน DRD2 หากอยู่ในสภาวะที่กดดันและ "วิตกกังวลล่วงหน้าไปเอง" ว่าอาจต้องเจอปัญหา จะมีพฤติกรรมรุนแรงกับลูกมากขึ้น โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าแท้จริงแล้วครอบครัวจะต้องเผชิญปัญหาตามที่กังวลไว้หรือไม่ ส่วนแม่ที่ไม่มียีน DRD2 มีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมรุนแรงกับลูกน้อยกว่าไปจนถึงไม่มีเลย

          แต่อย่างไรก็ดี คณะวิจัยยังไม่สรุปแน่นอนว่าปัญหาพฤติกรรมแปรปรวนในเชิงลบของผู้เป็นแม่จะขึ้นอยู่กับยีนตัวนี้เพียงตัวเดียว อาจยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลร่วมด้วย และอาจมีอิทธิพลมากกวา ซึ่งจะยังต้องค้นคว้าวิจัยกันต่อไป




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เศรษฐกิจตกต่ำ ทำแม่ดุด่าลูกมากขึ้น ? อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2556 เวลา 15:24:26 2,421 อ่าน
TOP
x close