x close

รู้ไหมพัฒนาการการพูดของเจ้าตัวน้อย เริ่มก่อนคำแรกที่พูดได้



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           คุณแม่ลูกอ่อนทั้งหลายคงกำลังตั้งหน้าตั้งตารอฟังคำแรกที่ลูกจะพูดได้กันอยู่ใช่ไหมล่ะคะ และหลาย ๆ คนก็ทั้งเชียร์และสอนให้ลูกพูดคำว่า "แม่" เป็นคำแรกอยู่แน่ ๆ เลยเชียว ซึ่งเจ้าหนูจะเริ่มพูดเป็นภาษาได้คำแรกตอนอายุประมาณ 12-18 เดือน แต่ทราบไหมคะว่าที่จริงเจ้าตัวน้อยสามารถพูดได้ก่อนที่คุณจะฟังการพูดของเขารู้เรื่องอีกนะ อ๊ะ ๆ แปลกใจแล้วล่ะสิคะ ถ้าอย่างนั้นวันนี้คุณแม่ลูกอ่อนทั้งหลายมาเรียนรู้เรื่องพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเจ้าตัวน้อย ไปพร้อม ๆ กับเราและข้อมูลที่นำมาฝากจาก คุณเจมส์ ฮาร์เบค แห่งไซต์เดอะ วีค ผู้มีความสนใจและเชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านรวมทั้งด้านภาษาศาสตร์กันค่ะ  

           หลาย ๆ ครั้งคุณอาจเคยได้ยินลูกชายฝาแฝดทำเสียอ้อ ๆ แอ้ ๆ ใส่กันอยู่สองคน บางครั้งลูกสาวก็ทำเสียงงัม ๆ ยัม ๆ จับใจความไม่ได้ตอนพาสาวน้อยใส่รถเข็นออกไปเดินเล่น จนนึกว่าลูกน้อยกำลังพยายามคุยกับมนุษย์ต่างดาวอยู่เสียอีก เอ.. สิ่งที่เจ้าตัวน้อยทำบ่อย ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ฟังไม่รู้เรื่องเหล่านี้จะนับเป็นภาษาสำหรับเด็กได้หรือเปล่านะ แล้วภาษาของเด็กจะมีหลากหลายเหมือนกับภาษาที่คนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้กันไหมนี่ ? .. เอาล่ะ ค่อย ๆ มาคลายความสงสัยไปพร้อมๆ กันทีละข้อดีกว่าค่ะ

           ความจริงแล้วหากจะกล่าวว่าเด็ก ๆ มีภาษาเป็นของตัวเองก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก แต่ก็น่าจะเข้าใจง่ายหากบอกว่า ก่อนเด็ก ๆ จะพูดคำแรกออกมาได้ในภาษาที่เราเข้าใจและฟังรู้เรื่องนั้น เจ้าตัวน้อยของเราล้วนต้องผ่าน "การอ้อแอ้ทั้ง 3 ระยะ" นี้มาแล้วทั้งสิ้น แต่ละระยะอาจคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันในอายุของเจ้าตัวน้อยที่ต่างกันออกไป ลองตั้งใจฟังดูนะคะว่าเจ้าตัวเล็กของคุณกำลังอ้อแอ้อยู่ในระดับไหน

1. อ้อแอ้ขั้นเริ่มต้น (Marginal babbling)

           การส่งเสียงอ้อแอ้ขั้นแรกนี้ ถือเป็นการเล่นกับการออกเสียงของเจ้าตัวเล็ก หนูน้อยอาจส่งเสียง "กรือออออ" "วาาาาาาา" "ยัมมมมมม" หรือเสียงอะไรก็แล้วทีละเสียง และทีละยาว ๆ บางครั้งก็ทำไปเพราะรู้สึกสนุกที่ได้ออกเสียงใหม่ ๆ โดยไม่มีความหมาย แต่บางครั้งก็เป็นเสียงที่บ่งบอกถึงความต้องการบางอย่างได้เช่นกัน

2. อ้อแอ้แบบพูดซ้ำ ๆ (Canonival หรือ Reduplicated babbling)

           เจ้าหนูในอายุ 6-9 เดือน จะเริ่มมีการอ้อแอ้แบบพูดพยางค์เดียวแต่พูดซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้งติดกัน เช่น "ดาดาดาดาดาดา" "จั๊ดจั๊ดจั๊ดจั๊ดจั๊ด" ฯลฯ เป็นช่วงขั้นตอนของการเรียนรู้ว่าการขยับลิ้นในแบบต่าง ๆ กันไป สามารถออกเสียงได้หลากหลาย

3. อ้อแอ้แบบพูดหลายคำ แต่ยังฟังไม่รู้เรื่อง (Variegated babbling)

           หลังจากอ้อแอ้แบบพูดคำพยางค์เดียวซ้ำ ๆ แล้ว เจ้าตัวเล็กก็จะอัพเลเวลเป็นการอ้อแอ้แบบพูดหลาย ๆ คำ จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าเจ้าตัวน้อยกำลังคุยภาษาต่างดาวอยู่ เพราะการอ้อแอ้ในระยะนี้ดูจะพูดเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นภาษาที่ฟังไม่ออก ที่จริงแล้วช่วงนี้เจ้าตัวเล็กกำลังสนุกกับการทดลองออกเสียงด้วยการเปลี่ยนแปลงการขยับปากในแบบต่าง ๆ มีการอ้าปาก และใช้รูปปากที่หลากหลาย แทนที่จะเป็นการทำเสียงต่าง ๆ ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งลิ้นเหมือนเช่นในระยะก่อนหน้า นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการฝึกกล้ามเนื้อรอบ ๆ ริมฝีปากนั่นเองค่ะ

           อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานชิ้นไหนที่บ่งว่า การอ้อแอ้ของเจ้าตัวเล็กสามารถสื่อสาร (กับเด็ก ๆ) ด้วยกันเองรู้เรื่อง เพราะไม่พบว่าการออกเสียงแต่ละคำจะมีการจัดเรียงอย่างเป็นระบบที่สามารถตีความหมายได้แต่อย่างใด แต่สิ่งที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ในระยะนี้ คือการออกเสียงต่าง ๆ ความแตกต่างของแต่ละเสียง รวมทั้งเสียงสูงเสียงต่ำหรือโทนเสียงด้วย ซึ่งโทนเสียงก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละภาษา หรือแม้แต่ภาษาเดียวกันแต่ต่างสำเนียงโทนเสียงก็จะต่างกันไปด้วย เด็ก ๆ จะค่อย ๆ เรียนรู้โดยการซึมซับจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นจากคุณพ่อคุณแม่ พี่เลี้ยง หรือเพลงที่เปิดให้เขาฟัง และเริ่มเลียนแบบการออกเสียงในโทนเสียงภาษาตัวเองไปทีละน้อย

           นอกจากเรื่องโทนเสียงแล้ว เจ้าตัวเล็กของคุณก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า หน่วยคำหรือสิ่งที่เขาออกเสียงมานั้น มีความหมายในภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้หรือไม่ เช่น เสียง "ก้ะ" มีความหมายในภาษาไทย เหมือนเป็นคำว่า "ค่ะ" สำหรับการออกเสียงแบบเด็ก ๆ แต่เสียง "กรือออ" ที่เขาทำนั้นไม่สามารถสื่อความหมายใด ๆ ได้ ยิ่งเจ้าตัวเล็กโตขึ้น การทดลองและเรียนรู้ของเขาก็จะมากขึ้นเป็นลำดับด้วย และเป็นช่วงนี้เองที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มฟังออกว่าเจ้าหนูของคุณกำลังพยายาอ้อแอ้เป็นภาษาที่คุณฟังรู้เรื่อง และการอ้อแอ้ของเจ้าตัวน้อยต่างชาติต่างภาษาก็จะเริ่มต่างกันไปจากจุดนี้นี่เองค่ะ ซึ่งจะอยู่ที่ช่วงอายุราว ๆ 1 ขวบพอดี

           และหากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองสังเกตดู อาจพบว่าการอ้อแอ้ของเด็กวัย 1 ขวบ ยังแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า word baby คือเจ้าตัวน้อยชอบที่จะพูดคำสั้น ๆ แต่พยายามเลียนแบบให้เหมือนกับคำที่คุณพ่อคุณแม่พูด กับอีกแบบคือ intonation baby คือเด็กที่มักพูดยาว ๆ แล้วเลียนเสียงสูงเสียงต่ำมากกว่า ซึ่งเจ้าตัวน้อยบางคนอาจสนุกกับการทดลองแบบนี้อยู่นาน กว่าจะเริ่มต้นเลียนแบบการพูดเป็นคำ ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ไม่ถือเป็นปัญหาแต่อย่างใดนะคะ 

           เพราะฉะนั้นคำแรกที่ลูกพูดออกมาและคุณฟังรู้เรื่อง จะนับเป็นคำแรกอย่างแท้จริงเลยก็ไม่นับว่าผิดหากใช้หลักภาษาของคุณเป็นเกณฑ์วัด แต่ความอ้อแอ้ของเจ้าตัวน้อยในช่วงก่อนหน้านั้น ก็ถือเป็นการพยายามส่งสารบางอย่างด้วยเช่นกัน ยิ่งเมื่อรวมกับภาษากายท่าทางที่เขาแสดงออกมาแล้วสามารถสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร เช่น ไม่สบายตัว หิว ฯลฯ และได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการกลับมา แม้จะยังไม่นับว่าประสบความสำเร็จในการใช้ภาษา แต่ว่าก็ประสบความสำเร็จในการสื่อสารแล้วล่ะค่ะ แต่รับรองเลยว่า ถึงเจ้าตัวเล็กจะยังอ้อแอ้พูดให้คุณฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้คุยกับเขาบ่อย ๆ กระตุ้นให้เขาได้อ้อแอ้เยอะ ๆ เขาก็จะเรียนรู้การพูดได้เป็นอย่างดีทีเดียว ซึ่งได้ทั้งจากการอ้อแอ้ฝึกออกเสียง และการซึมซับที่นำไปสู่การเลียนแบบจากการพูดของคุณด้วยนะคะ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหมพัฒนาการการพูดของเจ้าตัวน้อย เริ่มก่อนคำแรกที่พูดได้ อัปเดตล่าสุด 6 สิงหาคม 2556 เวลา 15:13:05 2,500 อ่าน
TOP