x close

5 โรคลำไส้ของน้องหนูวัยเบบี๋

รคลำไส้ในเด็ก

5 โรคลำไส้ของน้องหนูวัยเบบี๋
(Mother&Care)

          เด็กวัยเบบี๋ยังมีภูมิต้านทานไม่มากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรค จึงพบว่า เด็กวัยนี้มีสิทธิ์เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ได้ง่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ทันไว้ก่อน เพื่อการดูแลสุขภาพลูกวัยเบบี๋อย่างถูกทางนั่นเองค่ะ

         1.ลำไส้อักเสบ จากการติดเชื้อ เป็นโรคลำไส้ที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุของโรคมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ

          วิธีดูแล : ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ ทดแทนภาวะ การขาดน้ำจากการถ่ายเหลว และระวังไม่ให้ร่างกายลูกสูญเสียน้ำมาก เพราะอาจทำให้ลูกน้อยมีอาการช็อกได้ ถ้ามีอาการขาดน้ำรุนแรง เช่น ปากแห้ง ตัวซีดหรืออาเจียนมาก ควรพาลูกไปพบคุณหมอโดยด่วน

          วิธีป้องกัน : ต้องมั่นใจถึงความสะอาดทุกขั้นตอน ดูแลวัยซนที่เริ่มเรียนรู้ใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากอย่างใกล้ชิด

         2.ลำไส้อักเสบ เพราะแพ้โปรตีน เนื่องจากเยื่อบุผนังลำไส้ของลูกยัง ไม่แข็งแรง ระบบการย่อยก็ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อการดูดซึมอาหาร เกิดอาการแพ้โปรตีนในอาหาร

          วิธีดูแล : เด็กที่ลำไส้อักเสบจากการแพ้โปรตีนในนมวัว ควรงดนมวัว ดื่มนมแม่ (แม่ควรงดนมวัว และอาหารที่มีผลิตภัณฑ์นมวัว) หรือใช้นมสูตรพิเศษสำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนในนมวัวค่ะ

          วิธีป้องกัน : ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวนานอย่างน้อย 6 เดือน ควรให้ลูกเริ่มอาหารเสริมหลังอายุ 6 เดือน และให้อาหารทะเล หลังขวบปีไปแล้ว เพราะเด็กที่แพ้โปรตีน ในนมวัวมีโอกาสที่จะแพ้โปรตีนจากชนิดอื่น ๆ ได้ค่ะ

         3.ลำไส้กลืนกัน เกิดจากลำไส้ ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลาย (กลืนกัน) สาเหตุของโรคยัง ไม่สามารถระบุได้ชัด แต่เป็นภาวะเฉียบพลันที่ทำให้เด็กมีอาการปวดท้อง

          วิธีดูแล : พาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง คุณหมออาจใช้วิธีสวนแป้งหรือลมเข้าทางทวารหนัก เพื่อให้ลำไส้ที่กลืนกันคลายออก แต่ถ้าลำไส้กลืนกันนาน ไม่สามารถดันลำไส้ออกมาได้ จำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้ขาดหรือทะลุ

          วิธีป้องกัน : ไม่ปล่อยให้มีอาการนานเกิน 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด

         4.ลำไส้อุดตัน เป็นความผิดปกติของโครงสร้างระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหารถึงลำไส้ใหญ่ ที่ทำให้อาเจียนบ่อยครั้งหลังกินนม และอาจมีน้ำดีปนมาด้วย ซึ่งอาการอาจไม่ชัดเจนในระยะแรกแต่จะค่อย ๆ มากขึ้น

          วิธีดูแล : งดนมและพาลูกมาโรงพยาบาล เพื่อเอกซเรย์ กรณีที่ต้องรักษา มักต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติ ซึ่งอยู่ในความดูแลของแพทย์ศัลยกรรมเด็กและกุมารแพทย์

          วิธีป้องกัน : ให้น้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย ระหว่างพาลูกมาพบคุณหมอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำหรือช็อกหลังอาเจียน

         5.ลำไส้สั้น เกิดจากความผิดปกติที่มีแต่กำเนิด อาการจะมากน้อย อยู่ที่ลำไส้ส่วนที่เหลือว่าดูดซึมอาหารและน้ำได้มากน้อยเพียงใด

          วิธีดูแล : ถ้าลำไส้ยาวพอ ลูกยังสามารถรับอาหารทางปากหรือ สายยางได้ เพื่อให้ลำไส้ที่เหลือค่อย ๆ ปรับตัวมาทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนรับอาหารได้เต็มที่ แต่ถ้าลำไส้เล็กมีขนาดสั้นมาก จำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดแทน

          วิธีป้องกัน : เนื่องจากเป็นภาวะความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด อาจป้องกันปัญหาได้ยาก ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดสังเกตความผิดปกติ เพื่อการดูแลรักษาอาการได้เหมาะสมและรวดเร็วค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 โรคลำไส้ของน้องหนูวัยเบบี๋ อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2556 เวลา 14:07:23
TOP