x close

12 วิธีเป็นสุดยอดคุณแม่ที่แสนดีให้ลูกน้อย

แม่และเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ต้องยอมรับว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาอย่างดีในสมัยนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะทุกวันนี้มีสิ่งยั่วตาล่อใจรอลูกน้อยของเราอยู่มากมาย ทั้งสื่อต่าง ๆ โซเซียลเน็ตเวิร์ก และสังคมแวดล้อมในโรงเรียนที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต่างก็พากันกังวลกันสารพัดเรื่อง เป็นต้นว่า หากลูกดื้อจะใช้วิธีไหนจัดการ และจะสอนยังไงให้ลูกเชื่อฟังไม่ออกนอกลู่นอกทาง ครั้นจะใช้วิธีเบาไปก็กลัวจะคุมลูกไม่อยู่ แต่ถ้าใช้วิธีแรงไปก็อาจจะพาให้เขาเตลิดไปอีก ดังนั้นกระปุกดอทคอมก็เลยนำ 12 วิธีเป็นคุณแม่ที่แสนดีให้ลูกน้อยมาบอกกล่าวกับคุณแม่ทุกคนให้ได้รู้กัน ว่าถ้าอยากให้ลูกเชื่อฟังและยกเราเป็นสุดยอดคุณแม่คนดีที่ 1 ก็ต้องทำตามนี้เลย

 1. เปลี่ยนเสียงตะโกนเป็นการตกลง

           เวลาที่เด็ก ๆ งอแงเขาก็ไม่เลือกเวลาหรือดูความเหมาะสมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าคุณจะเกิดปรี๊ดแตกแผดเสียงดังใส่ลูกน้อยในวันที่เขางอแง และคุณก็เหนื่อยและเครียดจากที่ทำงานเป็นทุนเดิม ซึ่งเสียงดัง ๆ อาจจะหยุดอาการงอแงของเด็ก ๆ ได้ชะงัด แต่วิธีการหยุดเขาแบบนี้ จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าการตะโกนเป็นวิธีที่จะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ จนอาจจะพัฒนาเป็นความก้าวร้าวติดตัวเขาไปในอนาคต ถ้าเป็นอย่างนี้เราเปลี่ยนจากการตะโกนมาเป็นการพูดคุยตกลงกับเด็ก ๆ ดีกว่าไหม เมื่อเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็แค่จับเขามาคุยด้วยเหตุด้วยผล แล้วค่อย ๆ พูดสอนเขาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่าเขาทำอะไรผิด แล้วทำไมถึงทำพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้ อาจจะยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมเข้าไปด้วยก็ได้ ว่าถ้าทำแบบนี้อีกแม่จะไม่ให้กินขนม หรือไม่ให้ดูการ์ตูนอีกนะ เพื่อที่เขาจะได้ฝึกการใช้เหตุผลไปด้วยในตัว

 2. หลบไปสงบสติอารมณ์

           หากวิธีพูดคุยด้วยเหตุผลไม่สามารถหยุดอาการงอแงของเด็ก ๆ ได้ และคุณแม่เองก็เริ่มจะสติแตกอีกรอบแล้ว ก็เลือกเดินออกมาจากจุดนั้น แล้วหลบไปสงบสติอารมณ์สักพัก เพื่อจะได้กลับมาคุยกับเขาใหม่อีกครั้งดีกว่า  เพราะถ้าหากคุณแม่ยั้งอารมณ์ไม่อยู่ จนเผลอตวาดเสียงดังใส่ลูกน้อย เพื่อให้เขาหยุดร้องไห้งอแง เด็ก ๆ ก็อาจจะเรียนรู้และเข้าใจไปเองว่าพฤติกรรมที่รุนแรงเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน และโตไปเขาก็อาจจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงในสังคมได้

 3. ใจเย็นและนิ่มนวล

           สำหรับคุณแม่ที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน อารมณ์ร้อน ก็อยากจะขอให้ปรับนิสัยตัวเองให้เป็นคนใจเย็นลงอีกนิด เพราะถ้าหากเด็ก ๆ เห็นคุณแม่เอะอะปึงปังอยู่ตลอด ทีนี้เวลาจะพูดสั่งสอนให้เขาสงบสติอารมณ์ ไม่โวยวายก็คงลำบากแล้วล่ะ อีกอย่างหากคุณแม่ชอบใช้อารมณ์กับลูก ๆ เป็นประจำ จะทำให้เด็ก ๆ ไม่เชื่อฟังอีกด้วยนะ ดังนั้นก็พยายามใจเย็นและนิ่มนวลกับลูก ๆ ไว้ดีกว่าเนอะ

 4. "ทำอย่างนี้ไม่ดีเลยนะลูก…"

           หากลูกทำผิด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก คุณแม่ก็ไม่ควรจะดุว่าลูกแรง ๆ เพราะการดุเขาด้วยเสียงดัง ๆ และถ้อยคำที่รุนแรง จะทำให้เขารู้สึกเหมือนโดนประณาม หรือโดนกล่าวหา ทำให้เขาไม่อยากฟังสิ่งที่คุณแม่พูด ทางที่ดีเริ่มพูดกับเขาด้วยประโยคประมาณว่า "ทำอย่างนี้ไม่ดีเลยนะลูก…" แล้วก็ค่อย ๆ สอนเขาจะดีกว่า เพราะถ้าหากเราเป็นฝ่ายที่เริ่มเย็นลงก่อน เด็ก ๆ ก็จะค่อย ๆ สงบสติอารมณ์ได้ และนิ่งฟังเราในที่สุด

 5. อธิบายเหตุผลให้กระจ่าง

           เมื่อเลือกที่จะสั่งสอนเขาด้วยเหตุและผล คุณแม่ก็จำเป็นต้องอธิบายเหตุและผลอย่างกระจ่างแจ้ง และอิงตามหลักความเป็นจริงด้วย เช่น หากลูกน้อยชอบแกล้งดึงหางน้องหมาและน้องแมว คุณแม่ก็อาจจะพูดกับเขาด้วยเหตุผลว่า อย่าแกล้งน้องหมาน้องแมวแบบนี้ เพราะเจ้าสี่ขาจะเจ็บ และอาจจะหันมากัดหรือข่วนให้เขาได้รับอันตรายด้วย นอกจากนี้การฝึกให้เขาใช้เหตุและผลตั้งแต่เด็ก ๆ จะทำให้เขาโตไปเป็นคนมีเหตุผลด้วยนะคะ

 6. จัดอาหารจานเล็ก ๆ

           สำหรับเด็กเล็ก ๆ ควรจะต้องจัดอาหารแยกให้เขาได้ทานเป็นส่วนตัว เพราะถ้าหากให้เขากินอาหารบนโต๊ะที่มีแต่อาหารอยู่เยอะแยะ และทุกคนก็ร่วมกันกินอย่างเอร็ดอร่อย อาจจะทำให้เขาติดนิสัยกินเยอะตามไปด้วย จนอาจกลายเป็นเด็กกินเยอะและอ้วนได้ในอนาคต เสียสุขภาพและบุคลิกภาพแย่เลยค่ะ

 7. เตรียมน้ำเปล่าให้เขาอยู่เสมอ

           เด็ก ๆ หลายคนติดนิสัยดื่มแต่น้ำหวานจนเคยชิน และไม่ค่อยจะยอมดื่มน้ำเปล่ากันสักเท่าไร ซึ่งคุณแม่สามารถสร้างนิสัยดื่มน้ำเยอะ ๆ ให้เขาได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเตรียมน้ำเปล่าเต็มแก้วให้เขาอยู่เสมอ ทั้งเวลาที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ หรือแม้กระทั่งเวลาที่นั่งเล่นกันในห้องนั่งเล่น โดยต้องคอยบอกให้เขาจิบน้ำเป็นระยะ ๆ ด้วย เพื่อให้ร่างกายเขาเกิดความเคยชินกับการดื่มน้ำ จะได้ดื่มน้ำเปล่าจนติดนิสัย และเพื่อเลี่ยงไม่ให้เขาดื่มน้ำหวานบ่อย ๆ ด้วย

 8. ปลูกฝังเรื่องการกินอาหารเพื่อสุขภาพ

           หากไม่อยากให้เด็ก ๆ โตขึ้นมาด้วยการกินแต่ขนม น้ำหวาน และอาหารขยะ พ่อและแม่ก็จำเป็นต้องปลูกฝังเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่มีประโยชน์ให้เขาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ด้วยการฝึกให้เขากินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ตั้งแต่ยังเด็ก และทุกมื้ออาหารก็ควรจะมีอาหารเพื่อสุขภาพรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง หรือในระหว่างมื้ออาหารก็พูดคุยกันในประเด็นอาหารเพื่อสุขภาพ และโทษของอาหารขยะด้วยก็ได้

 9. ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการกินของลูก

           ทุกวันนี้อัตราเด็กที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ และส่วนมากก็มาจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่มีประโยชน์ และหากว่าเด็ก ๆ ของคุณติดนิสัยชอบกินฟาสต์ฟู้ด หรือขนมและน้ำหวานอย่างหนัก จนน้ำหนักเริ่มจะเกินมาตรฐานอยู่รอมร่อ ก็คงต้องค่อย ๆ ปรับนิสัยให้เขากินอาหารขยะน้อยลง โดยอาจจะซื้อธัญพืชอบแห้งมาให้เขากินเป็นขนมแทน  หรือในมื้อเช้าก็ทำแซนด์วิชโฮลเกรนให้เขากิน และพยายามเลี่ยงไม่ให้เขากินฟาสฟูดส์บ่อยเกินไปด้วย ค่อย ๆ เปลี่ยนเมนูอาหารอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเขาก็จะเริ่มชินกับอาหารสุขภาพไปเองค่ะ

 10. ฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเอง

           เด็กที่โตพอจะทำอะไรด้วยตัวเองได้ก็ควรจะปล่อยให้เขาได้ทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง เช่น จัดเสื้อผ้าเข้าตู้เสื้อผ้าด้วยตัวเอง หิ้วผ้าที่ใส่แล้วมาใส่เครื่องซักผ้าและกดปุ่มซัก หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขาพอจะทำเองได้ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น หรือถ้าจะให้ดี คุณแม่จะสอนให้เขามีส่วนร่วมในการทำความสะอาดบ้านและดูแลบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดห้องตัวเอง หรืออาบน้ำน้องหมาก็ได้ โตขึ้นไปเขาจะได้เป็นเด็กที่ทำอะไรเป็น ช่วยเหลือตัวเองได้โดย ไม่ต้องพึ่งพาให้ใครมาทำอะไรให้นะคะ

 11. ตั้งกฎการรับประทานอาหาร

           สำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นอาจจะมีสังคมเพื่อนและติดเพื่อนมากกว่าเด็กในวัยอื่น ๆ จนอาจจะไม่ค่อยได้ร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ก็คงเริ่มห่วงและกังวลว่าลูกจะนอกลู่นอกทาง หรือเสี่ยงจะไปในทางที่ผิดหรือเปล่า ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงและเพื่อให้ครอบครัวได้รับประทานอาหารร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะตั้งกฎการร่วมโต๊ะอาหารว่า ใน 1 สัปดาห์จะต้องกินอาหารเย็นร่วมกันอย่างพร้อมหน้าไม่ต่ำกว่า 3-4 วันเป็นอย่างต่ำ นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ในขณะที่ร่วมรับประทานอาหารกัน ก็ควรปิดทีวี วิทยุ และปิดเสียงโทรศัพท์ด้วย เพื่อไม่ให้มีอะไรมารบกวนการพูดคุยในครอบครัว

 12. หาโอกาสพูดคุยกับลูก ๆ

ด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน อาจจะทำให้พ่อ แม่ ลูก และคนในครอบครัวไม่มีเวลาพูดคุย และบอกเล่าเหตุการณ์ในแต่ละวันให้กันและกันฟัง ซึ่งก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ความสัมพันธ์มีช่องว่าง ห่างเหิน และไม่สนิทพอที่ลูก ๆ จะกล้าปรึกษาเวลาที่เขามีปัญหา ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว เราก็ควรจะหาโอกาสอยู่กับลูกเป็นส่วนตัวบ้าง อาจจะพาลูกออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ เดินไปคุยกันไป หรือจะส่งลูกเข้านอนทุกคืนก็ได้ แม้ว่าลูกจะโตเกินที่จะพาเข้านอน แต่วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณและลูกมีเวลาได้คุยกัน อีกทั้งยังเป็นการแสดงความรักความห่วงใยให้เขาได้รับรู้ด้วยล่ะ

          เด็กทุกคนจะเติบโตมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูสั่งสอนของพ่อและแม่เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากอยากให้เขาโตขึ้นเป็นเด็กดี ใครเห็นก็เมตตาเอ็นดู และมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง จนทั้งลูกและใคร ๆ ก็พากันยกย่องว่าคุณเป็นสุดยอดคุณแม่ ก็ลองทำตาม 12 วิธีที่เรานำมาฝากกันนะคะ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 วิธีเป็นสุดยอดคุณแม่ที่แสนดีให้ลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2556 เวลา 20:58:27 7,286 อ่าน
TOP