x close

ตรวจสอบพัฒนาการลูกวัย 3-6 ปี

พัฒนาการเด็ก

ตรวจสอบพัฒนาการลูกวัย 3-6 ปี
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : นล้น/ภาพ : พี่ไม้

           ในวัย 3-6 ปี เด็กส่วนใหญ่เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เริ่มแยกจากพ่อแม่และบ้านมากขึ้น เด็ก ๆ จะมีการพัฒนาการด้านภาษาอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการพูด และได้เริ่มต้นเรียนรู้การอ่าน เขียน เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมได้มาก แต่ในขณะเดียวกัน วัยนี้ก็เป็นช่วงวัยที่เด็กจะเริ่มมีปัญหาที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในอนาคตได้ หลายปัญหาหากพ้นเลยวัยนี้ไปจะยิ่งแก้ไขได้ยาก เช่น เด็กพัฒนาการช้า พูดช้า ซน สมาธิสั้น พฤติกรรมดื้อรั้น ก้าวร้าว เป็นต้น


          ดังนั้นคุณแม่ควรตรวจสอบพัฒนาการที่ลูกควรทำได้ตามวัยกันดีกว่าค่ะ

3 ขวบ พูดสื่อสารได้เก่งขึ้น

          เด็กอายุ 3 ขวบ ควรสามารถบอกชื่อสัตว์ในหนังสือที่ดูด้วยกันได้อย่างน้อย 1 รูป สามารถนั่งฟังนิทานได้อย่างน้อย 5 นาที สามารถถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านด้วยกันได้ สามารถพูดคุยสื่อสารให้ผู้ใหญ่ทั่วไปฟังเข้าใจได้ ไม่ใช่พูดแล้วคนใกล้ชิดเท่านั้นที่ฟังรู้เรื่อง ช่วยหยิบของยกของได้ ตอบได้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย บอกสีได้อย่างน้อย 1 สี พูดคุยเป็นประโยชน์ที่มีอย่างน้อย 3 คำเป็นหลัก ใช้คำถาม อะไร ทำไม ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ ถามและตอบคำถามของพวกเขาอย่างสนใจ

4 ขวบ เข้าใจกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น

          ทางด้านร่างกายเด็กอายุ 4 ขวบ จะขี่จักรยาน 3 ล้อได้ รู้จักการเล่นซ่อนหา วิ่งไล่จับ หรือเกมอื่น ๆ ที่มีกฎเกณฑ์ รู้จักการทำตามกฎกติกานั้นได้ พลิกหน้าหนังสือได้ทีละหน้า เล่าเรื่องหรือนิทานที่ได้ฟังบ่อย ๆ ได้ สามารถบรรยายภาพที่เห็นได้ ด้านการพูดเขาจะใช้คำได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคำที่แสดงกริยาอาการ เช่น กินข้าว เตะบอล รู้จักใช้ประโยคที่ซับซ้อนขึ้น รู้จักการเล่นสมมุติ โดยเล่นกับตุ๊กตาคน สัตว์ เด็กบางคนอาจเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจค่ะ ด้านการใช้มือลูกวัยนี้สามารถวาดรูปวงกลมได้เมื่อเห็นแบบ ชอบทำท่าเขียนหนังสือ ขีดเขียนสิ่งต่าง ๆ ในกระดาษแล้วอ่านออกมาแบบสมมติได้

5 ขวบ ไม่งอแงแล้วล่ะ

          พออายุ 5 ขวบ ลูกควรจะช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เช่น ติดกระดุมเสื้อผ้าของตัวเองได้ รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำเองได้ ระหว่างปิดเทอมคุณแม่ควรให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เหมือนเวลาที่ไปโรงเรียนนะคะ

          เรื่องที่น่าดีใจคือลูกวัยนี้จะไม่งอแงเวลาคุณแม่บอกให้เขารออยู่กับพี่เลี้ยง ครู หรือเวลาปล่อยให้เขาเล่นกับเพื่อน ๆ เด็กวัยนี้ควรจะนั่งนิ่ง ๆ ฟังเรื่องเล่าได้นานกว่า 10-20 นาที วาดรูปสี่เหลี่ยมได้เมื่อเห็นแบบ บอกชื่อพยัญชนะบางตัวได้ บอกชื่อตัวเองได้และบอกพยัญชนะที่สะกดชื่อตัวเองได้ โดยอย่างน้อยควรจะบอกพยัญชนะที่สะกดชื่อตัวเองได้ บอกจำนวนได้ ชี้และนับสิ่งของได้อย่างน้อย 3 ชิ้น รู้จักสีอย่างน้อย 3 สี เดินลงบันไดแบบสลับเท้าได้ กระโดดสลับเท้าได้

6 ขวบ ช่วยเหลือตัวเองได้เก่ง

          ลูกอายุ 6 ขวบ จะช่วยเหลือตัวเองได้เก่งแล้วค่ะ เขาจะ แต่งตัวเองได้โดยคุณแม่ไม่ต้องช่วย สวมรองเท้า ผูกเชือกรองเท้าเองได้ รับลูกบอลลูกเล็กที่ส่งให้แบบกระเด้งได้ กระโดดแบบกระต่ายขาเดียวได้ บอกอายุได้ พูดทวนตัวเลขได้อย่างน้อย 4 ตัวติดกันอย่างถูกลำดับ บอกตัวอักษรได้อย่างน้อย 10 ตัว รู้เสียงของตัวอักษรพยัญชนะเกือบทุกตัว อ่านคำที่คุ้นเคยได้มากกว่า 15 คำ เขียนคัดลอกคำง่าย ๆ จากหนังสือได้
เวลาเล่นในกลุ่มเพื่อน เขาจะมีพฤติกรรมที่ดี ความเอาแต่ใจลดลง เพราะต้องการการยอมรับ ไม่อยากแปลกแยกจากคนอื่น

          หากอ่านแล้วยังสงสัย เรามี Checklist เป็นแนวทางช่วยในการประเมินความสามารถของลูก วัย 3-6 ปีมาฝากค่ะ ลูกอาจทำได้ไม่ครบทุกข้อ ก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่หากเห็นว่าลูกทำได้ช้ากว่าวัยหลายข้อ ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการและพฤติกรรมค่ะ

Checklist ลูกวัย 3-6 ปี ด้านสังคม

          เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ คุณแม่ไม่ต้องคอยดูแลตลอดเวลา

          ชอบช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักแบ่งปันของเล่น เริ่มสนใจเด็กที่เล็กกว่า

          อยากรู้อยากเห็น มีท่าทีเป็นมิตร ต้องการการยอมรับจากเพื่อน

          ดื้อ โกรธง่าย ขี้อิจฉา ชอบทะเลาะกับพี่น้อง

          เริ่มมีอาการฝันร้าย และตื่นขึ้นมาร้องไห้ในตอนกลางคืน

          เปิดเผย คุยเก่ง ชอบคุยโม้ โอ้อวด ซึ่งการพูดเกินจริงของเด็กวัยนี้ไม่ใช่การโกหก

          ชอบทำตัวเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น ทำท่าดุน้อง สัตว์เลี้ยง ของเล่น

ด้านสมอง สติปัญญา

          ชอบดูหนังสือภาพ บอกเล่าเรื่องราวที่เคยเห็นในหนังสือได้ถูกต้อง

          ความจำดี ช่างสังเกต มีความสนใจสิ่งต่าง ๆ นานขึ้น

          วาดภาพคน คร่าว ๆ ได้ มีอวัยวะ 5-7 ส่วน

          นับเลขได้ ถึง 10 บางคนนับได้มากกว่านั้น แต่ความเข้าใจด้านปริมาณ จะมีเพียง 2-3 เท่านั้น

          จัดของเป็นพวก ๆ ตามสี และขนาดได้

          เรียนรู้ค่าต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ชอบฟังคำคล้องจอง

          รู้ความแตกต่างระหว่างเพศ

          เข้าใจเรื่องเวลา-สถานที่มากขึ้น

กิจกรรมและการเล่น

          ชอบต่อบล็อกไม้ เอาของต่าง ๆ วางซ้อนกัน

          ชอบเล่นทราย น้ำ เป่าฟองสบู่

          รู้จักเล่นสมมุติกับตุ๊กตา

          ขีดเขียน ระบายสี และปั้นดินน้ำมันได้

          เล่นเลียนแบบท่าทางที่เห็นจากคนรอบข้าง หรือตัวละครในโทรทัศน์

          รู้จักการเล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน แต่ถ้าเล่นกับเด็กที่โตหรือเล็กกว่าจะเล่นได้ไม่นาน







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 36 ฉบับที่ 495 พฤษภาคม 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสอบพัฒนาการลูกวัย 3-6 ปี อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2556 เวลา 14:59:03 17,440 อ่าน
TOP