อาการเกร็งของหนู...ผิดปกติมั้ย ?

แม่และเด็ก

อาการเกร็งของหนู...ผิดปกติมั้ย?
(รักลูก)
เรื่อง : สิริพร

          อาการเกร็งของลูกน้อยมีทั้งปกติและไม่ปกติค่ะ แต่ก็สร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่เสมอ หากรู้สาเหตุและรู้วิธีตอบสนองอย่างถูกต้องเรื่องนี้ก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป

          อาการเกร็งมักเกิดในเด็กอายุ 0-3 ปี การแยกแยะว่าอาการเกร็งแบบปกติหรือไม่ปกตินั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด ว่าลูกเริ่มเป็นตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เป็นช่วงเวลาไหนสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมใดอยู่หรือไม่ และในระหว่างที่เกร็งมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นประวัติช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคของคุณหมอต่อไปได้ค่ะ

เกร็งแบบนี้...หนูปกติดี

          อาการเกร็งต่อไปนี้ คืออาการเกร็งที่เป็นปกติ เพียงแต่จะต้องตอบสนองลูกให้ตรงจุดและถูกเวลา

         1.เกร็งแบบบิดปวด อาการนี้เป็นได้ตั้งแต่แรกเกิดค่ะ ลูกจะมีอาการบิดปวด เช่น ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่าย คือ ลูกจะบิดก่อนทุกครั้งเมื่อมีอาการปวด เช่น เกร็งแขนเกร็ง ขา และทำท่าพยายามเบ่งจนหน้าแดง ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีปัสสาวะหรืออุจจาระออกมา

          แก้อาการเกร็ง หากลูกมีอาการเกร็งแบบนี้ สักพักเขาก็จะคลายตัวได้เองค่ะ แต่หากลูกไม่มีอุจจาระออกมาหลังจากที่เกร็งคุณแม่อาจต้องดูว่าลูกมีอาการท้องผูกหรือไม่ หากลูกท้องผูกก็ต้องปรึกษาคุณหมอ เพื่อแก้อาการท้องผูกอย่างถูกวิธีต่อไป

         2.เกร็งแบบโคลิค อาการนี้มักเป็นตอนกลางคืนค่ะ ซึ่งลูกจะกรีดร้อง ร้องเสียงแหลม หรือเกร็งทั้งตัว บางคนอาจมีการผายลม หรือเรอออกมาด้วย

          แก้อาการเกร็ง ส่วนมากอาการเกร็งแบบโคลิค จะไม่มีผลต่อพัฒนาการค่ะ ทั้งน้ำหนัก และส่วนสูงยังเป็นไปตามวัย สายตายังตอบสนอง กลอกไปกลอกมาได้ปกติ เพียงแค่คุณแม่อุ้มให้เขาได้เรอ แล้วรอสักพักอาการนี้ก็จะดีขึ้นได้ แม้ว่าต้องใช้เวลานานสักหน่อยก็ตาม

         3.เกร็งเพราะถูกกระตุ้นทางอารมณ์ อาการเกร็งแบบนี้จะเกิดขึ้นบ่อยกับลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป อาการนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นอย่างชัดเจน เช่น กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ เวลาเป็นลูกจะกรีดร้องดัง ๆ ร้องไม่หยุด จะเขียวไปทั้งตัว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้มีอันตราย และไม่มีผลต่อพัฒนาการของลูกค่ะ

          แก้อาการเกร็ง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ ว่าหลังจากเกร็งแล้วสักพัก ลูกจะเริ่มหายใจเข้าแรง ๆ แล้วร้องไห้ต่อได้ ซึ่งเวลาที่ลูกหายเกร็งแล้ว ให้เข้าไปตอบสนองด้วยการอุ้ม หรือถ้าลูกอยู่ในวัยที่เริ่มพูดคุยรู้เรื่องแล้ว คุณแม่ค่อยคุยกับเขาว่าสิ่งที่ทำถูกหรือไม่ โดยไม่ต้องพูดถึงเหตุผลมากนะคะ

         4.เกร็งเพราะเกิดความสุข มักเกิดในเด็ก 1-3 ปีขึ้นไป เด็กผู้หญิงจะเอาขาไขว้กัน ถู ๆ แล้วก็เกร็ง ส่วนเด็กผู้ชายนั้นจะเกร็งเป็นท่าคว่ำขย่มและเกร็งขา ซึ่งลูกไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำคืออะไร เพียงแต่รู้ว่าทำแล้วมีความสุข คุณพ่อคุณแม่จึงอาจมองว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติได้

          แก้อาการเกร็ง ถ้าลูกพยายามเกร็งแบบนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่รีบหาอย่างอื่นให้ลูกเพื่อเบนความสนใจ เช่น ของเล่น ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ลูกก็หายได้เองค่ะ

         5.เกร็งเพราะเกิดกรดไหลย้อน กรดไหลย้อนนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นกับลูกตั้งแต่วัย 0-3 ปี ซึ่งสังเกตได้ง่าย ๆ เวลาที่ลูกกินนมหรือหลังกินสักพัก จะมีอาการร้องงอแง ตัวเกร็ง

          แก้อาการเกร็ง เวลาที่คุณแม่ให้นม หรือป้อนนมจากขวด จะต้องยกหัวลูกให้สูง หากยังไม่หายต้องรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อคุณหมอจะให้ยาทำให้หูรูดของหลอดอาหารของลูกทำงานดีขึ้นค่ะ

เกร็งแบบนี้...ไม่ปกติแล้ว

          อาจนำไปสู่โรคทางระบบประสาทและสมองได้ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดค่ะ

          1.เกร็งชัก ลูกจะมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง เช่น ตาเหลือก หรือมองด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษแล้วค้างอยู่อย่างนั้น บางคนอาจมีอาการกัดฟันร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูกอย่างใกล้ชิดนะคะ เพราะอาการชักนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะช่วงที่ลูกตื่นอย่างเดียว แต่จะเป็นช่วงที่หลับด้วย ซึ่งเกิดจากภาวการณ์ทำงานผิดปกติของเซลล์สมอง ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจคลื่นสมองและวินิจฉัยอย่างละเอียดมากขึ้น

          2.เกร็ง CP เป็นภาวะที่ลูกมีอาการเกร็งตลอดเวลา และถ้ามีเสียงหรือมีสิ่งใดมากระตุ้นให้เขาตกใจก็จะยิ่งเกร็งมากขึ้นอาการเกร็งแบบนี้อาจเข้าข่ายอาการ CP (Cerebral Palsy) หรือโรคพิการทางสมองได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อเช็กอาการอย่างละเอียด ประเมินว่ามีภาวะใดที่เกี่ยวข้องกับสมองหรือระบบประสาทอื่น ๆ อีกหรือไม่

          การสังเกตของคุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะช่วยให้สามารถตอบสนองอาการเกร็งของลูกได้ถูกต้องแล้ว ยังช่วยให้คุณหมอประเมินและสามารถแยกวินิจฉัยโรค จากอาการเกร็งที่ผิดปกติของลูกได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้การรักษามีความถูกต้องและรวดเร็วด้วยค่ะ


                      
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 364 พฤษภาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการเกร็งของหนู...ผิดปกติมั้ย ? อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2556 เวลา 16:52:56 183,279 อ่าน
TOP
x close