x close

พูดย้ำ ! บ่นซ้ำ ! ลูกยิ่งต่อต้าน

พัฒนาการเด็ก

พูดย้ำ ! บ่นซ้ำ ! ลูกยิ่งต่อต้าน
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี

           เจ้าตัวเล็กที่บ้านมีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่ยอมทำตามที่บอกบ้างหรือเปล่าคะ ถ้าใช่...ลองสังเกตดูนะคะ ว่าคุณพ่อคุณแม่มักพูดซ้ำ ๆ บอกให้ลูกทำโน่นทำนี่อย่างเดียวหรือเปล่า พอลูกไม่ยอมทำก็บ่น จนเกิดเป็นอารมณ์โมโหและดุลูก หากเป็นแบบนี้ก็ไม่แปลกที่ลูกจะต่อต้านค่ะ



พูดซ้ำ ๆ ขัดขวางพัฒนาการ


           ปกติแล้วเด็กวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้ภาษา เริ่มพูดเป็นคำหรือพูดประโยคสั้น ๆ บางครั้งเริ่มมีการตั้งคำถามกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งมักจะได้ยินประโยคคำถามจากลูกว่า "ทำไม" หรือ "อะไร" เป็นประจำ

           นอกจากนี้ ลูกจะเริ่มเข้าใจประโยคคำสั่ง เวลาบอกให้ทำอะไร ก็จะเริ่มเข้าใจและปฏิบัติตามได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่เด็ก ๆ ทุกคนจะเชื่อฟังหรือทำตามทุกครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ไม่ชอบให้ใครมาบงการ มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างเยอะ ทำตามใจตัวเองเป็นหลัก ห่วงเล่น ดังนั้น เวลาคุณแม่บอกให้ทำอะไร จึงมีการต่อรอง ไม่ยอมทำง่าย ๆ

           คุณแม่จึงต้องพูดสั่งบ่อย ๆ จากประโยคคำสั่งที่คอยบอกให้ลูกทำตามเพื่อเกิดพัฒนาการที่ดี กลับกลายเป็นการพูดสั่งซ้ำไป ซ้ำมา พูดแล้วพูดอีก พูดพร่ำเพรื่อ พอลูกไม่ทำตามก็จะเกิดเป็นอารมณ์โมโห กลายเป็นคุณแม่ขี้บ่น ดุลูกเสียงดัง ซึ่งแทนที่ลูกน้อยจะเชื่อฟังกลับเกิดอารมณ์ต่อต้าน และกลายเป็นการขัดขวางพัฒนานาการที่ดีของลูกในที่สุดค่ะ


ทำไมลูกต่อต้านการพูดซ้ำ ๆ


           คุณแม่บางคนใช้คำสั่งด้วยการ "พูดไปเรื่อย ๆ" โดยที่คุณแม่เองไม่สังเกต ว่าลูกสนใจในเรื่องหรือเหตุการณ์ตรงนั้นอยู่หรือเปล่า

           เช่น คุณแม่นั่งทำงานอยู่ ลูกกำลังนั่งเล่นของเล่น พอถึงเวลากินข้าว คุณแม่พูดกับลูกว่า "เก็บของได้แล้วลูก" "เก็บให้เรียบร้อยนะ" "มากินข้าวได้แล้ว" "ถ้าไม่เก็บ ไม่ต้องกินข้าวนะ" พูดโดยที่ไม่หันไปดูหรือไม่ได้ไปช่วยลูกเก็บเลย นั่งพูดไปเรื่อย ๆ พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พอหันไปเห็นว่าลูกยังไม่เก็บ ก็เกิดอารมณ์เสีย เสียงดังใส่ลูก ดุลูกว่าทำไมยังไม่เก็บอีก บอกให้เก็บตั้งนานแล้ว เป็นต้น

           การพูดซ้ำเรื่อย ๆ ทำให้เด็กเกิดการเบื่อหน่ายและจับประเด็นไม่ถูก ไม่รู้ว่าคุณแม่จะให้ทำอะไร ต้องการอะไร ไม่เข้าใจว่าคุณแม่จะสั่งเขาเรื่องอะไร ทำให้ลูกเกิดการเบื่อหน่ายได้ หรืออาจจะมีปัญหาความสัมพันธ์ และนำไปสู่การมีปัญหาทางอารมณ์กับลูก ถ้าพูดบ่อยแล้วไม่ทำตามที่คุณแม่พูดก็ดีหรือดุ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ลูกเกิดพฤติกรรมต่อต้าน เช่น ไม่ยอมทำ อาละวาด ร้องไห้ โวยวาย หรือขว้างข้าวของ กลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด และอารมณ์รุนแรงได้ค่ะ


พูดอย่างไร ไม่ซ้ำและพร่ำเพรื่อ


           วัยนี้ไม่ชอบให้ใครมาสั่งหรือพูดซ้ำไปซ้ำมากับเขาบ่อย ๆ ดังนั้น คุณแม่จึงควรมีวิธีการพูดเพื่อให้ลูกเป็นเด็กน่ารักเชื่อฟังและทำตามที่คุณแม่บอก

โดยมีเทคนิคง่าย ๆ คือ

          1.พูดประโยคสั้น ๆ ชัดเจน เน้นประเด็นสำคัญเข้าใจง่าย และที่สำคัญควรพูดเป็นรูปธรรม หากคุณแม่เปรียบเทียบเป็นนามธรรม เช่น ถ้าหนูไม่ทำแบบนั้นเดี๋ยวบาปนะ ซึ่งการพูดเป็นนามธรรม เด็กจะงง และไม่เข้าใจว่าบาปคืออะไรดังนั้น ต้องพูดให้ชัดเจน ว่าหนูควรทำอะไร แล้วมีผลอย่างไรซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีกว่าค่ะ

          2.ใช้เทคนิคการพูดแบบให้เลือก ถ้าอยากให้ลูกทำอะไรก็ให้เขาเลือก แต่สิ่งที่จะให้ลูกเลือกก็ควรอยู่ในบริบทที่จัดไว้ให้แล้ว เช่น หนูจะแปรงฟันก่อนหรืออาบน้ำก่อนดี เพราะไม่ว่าเขาจะเลือกอะไรก่อนก็เป็นสิ่งที่คุณแม่วางแผนไว้แล้วว่าลูกจะต้องทำทั้งสองอย่าง แต่ลูกสามารถมีโอกาสที่จะเลือก ได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเด็ก ๆ จะชอบวิธีแบบนี้มากกว่าค่ะ

          3.พูดควบคู่ไปกับการกระทำ ถ้าคุณแม่ต้องการให้ลูกเข้านอนจากที่เคยพูดสั่งว่าเข้านอนได้แล้ว ให้เปลี่ยนเป็นการตกลงกันว่าลูกจะเข้านอนกี่โมง แล้วชวนลูกทำเป็นตารางเวลา เป็นกิจวัตรประจำวัน ให้เขามีส่วนร่วมในการรับรู้ แล้วให้ตกลงกันว่าต้องทำแบบนี้ ถ้าลูกทำได้ก็ชมเขา หรือมีรางวัลให้เขาด้วยค่ะ ที่สำคัญต้องเน้นความสม่ำเสมอ ว่าต้องเข้านอนเวลานี้ทุกวันถ้าลูกไม่เข้านอนจะมีผลอย่างไร หรือมีบทลงโทษอะไรที่จะเกิดขึ้นกับเขา เช่น ของที่เขาเคยได้ หรือเคยตกลงกันไว้ว่าจะซื้อให้ลูกก็จะไม่ได้แล้วนะ ซึ่งจะทำให้เขาเชื่อฟังและรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองอีกด้วย

          4.การใช้น้ำเสียง ขึ้นอยู่เหตุการณ์ด้วย เช่น บอกให้ลูกมาอาบน้ำ แล้วอยากให้เขาสนุกกับการอาบน้ำ การใช้น้ำเสียงควรจะสนุก ตื่นเต้น หาของเล่นมาเล่นกับลูก เพื่อให้เขามีความสุขกับการอาบน้ำมากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่ทำตาม เริ่มงอแง ให้ใช้น้ำเสียงนิ่ง และค่อย ๆ เข้มขึ้นและจริงจังมากขึ้น แสดงสีหน้าจริงจัง แต่ไม่ใช่ตวาดหรือดุจนเขากลัว เพราะจะทำให้ลูกน้อยเข็ดขยาดกับการอาบน้ำได้ค่ะ

          ลองนำเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กับลูกดูนะคะ จะได้ไม่เป็นคุณพ่อคุณแม่ขี้บ่น เพราะการพูดเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลกับพัฒนาการต่าง ๆ ลูกน้อยจะเป็นเด็กอารมณ์ดีหรือจะขี้หงุดหงิดก็เกิดจากการพูดของคุณพ่อคุณแม่นี่แหละค่ะ



          
     



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 364 พฤษภาคม 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พูดย้ำ ! บ่นซ้ำ ! ลูกยิ่งต่อต้าน อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2556 เวลา 18:21:51 4,905 อ่าน
TOP