ปานของหนูต้องรู้ว่าอันตรายหรือไม่ (modernmom)
เรื่อง : อาศิรา
"มีที่แขนข้างขวาค่ะ ใหญ่มากกกก สีจะออกน้ำตาล ๆ ค่ะ ตอนแรกนึกว่าขี้ไคลค่ะเหมือนมาก ๆ แม่ก็หลงขัดช้าาาา 555+"
Little Tiggy
"น้องมีปานน้ำตาล ช่วงท้องลามไปถึงด้านหลังเลยค่ะ มีปานเล็กกับปานใหญ่ซ้อนกัน ปานเล็กจะเข้มกว่าปานใหญ่ และก็ตรงช่วงเหนือตาตุ่มด้านในขาข้างละจุด ข้างขาหนีบอีกด้วยค่ะ แต่ก็ไม่กังวลมากเท่าไหร่ เพราะเป็นเด็กผู้ชาย"
Kaotom Peace
"น้องช็อปเปอร์มีปานดำที่หัวด้านหลังค่ะ ขนาดประมาณหัวแม่มือและมีปานแดงเป็นจุดเล็ก ๆ อยู่ข้าง ๆ กันค่ะ สงสัยจังว่าทำไมต้องมาด้วยกัน T_T (สงสัยจะสมองดี ฮี่ฮี่ คิดเข้าข้างลูกตัวเอง)"
Aewjung Sarisa
"ปานเขียววงใหญ่ที่ขาแขนกันลำตัวเยอะมาก โตแล้วจะหายไหมคะ ใครมีประสบการณ์บ้างคะ"
Teata Batt Thararoop
"มีปานเขียวที่ข้อเท้าข้างซ้ายและขวาเลยค่ะ ดีที่ไม่ค่อยชัดมากเท่าไหร่ มันจะหายไหนคะ มีใครรู้บ้าง"
ปาณิศรา จิตจง
หลังจากอุ้มท้องมาหลายเดือน การได้เห็นหน้าลูกน้อย คือความชื่นอกชื่นใจของผู้เป็นพ่อและแม่ หลังจากนั้นก็วาดสายตาสำรวจไปทั่วร่างของลูก สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าต้องสะกิดตาสะกิดใจคุณแม่อย่างแน่นอน คือ ปานเล็ก ปานใหญ่ มาพร้อมกับความสงสัยว่า ปานที่มากับตัวลูกน้อยอันตรายหรือเปล่านะ ไปไขข้อข้องใจกันค่ะ
ปานของเจ้าเบบี๋มีกี่ชนิดหนอ ?
ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Nevus)
ลักษณะ : เมื่อแรกเกิดปานชนิดนี้ของเจ้าตัวเล็กอาจจะสีค่อนข้างแดง แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน ปานจะเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลที่เข้มขึ้น (แต่ในทารกบางคนอาจเป็นสีดำเข้มหรือน้ำตาลเข้มตั้งแต่แรกเกิด) ขนาดของปานจะโตกว่าไฝธรรมดา อาจมีผิวเรียบหรือนูน ขรุขระอาจมีขนอยู่บนปานดำด้วย ปานประเภทนี้ไม่มีอันตราย นอกจากทำให้ดูไม่สวย
Concem : ถ้าปานเพิ่มขนาดใหญ่ ต้องรีบพบคุณหมอเพื่อตรวจดูสาเหตุที่ปานเพิ่มขนาด
ปานมองโกเลียน (Mongolian Spot)
ลักษณะ : ปานชนิดนี้พบบ่อยมากที่สุดในปานชนิดที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะเป็นผื่นราบสีฟ้าเทา ฟ้าเข้ม หรือเขียวพบบริเวณก้น สะโพก บางครั้งก็อาจพบที่อื่น เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ เป็นต้น แต่ปานมองโกเลียนจะค่อย ๆ จางหายไปเองเมื่อลูกน้อยโตขึ้น
ปานสตรอว์เบอร์รี (Strawberry Nevus)
ลักษณะ : เป็นปานที่มีลักษณะเป็นตุ่มก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอแรก ๆ ที่ลูกเกิดจนถึงอายุประมาณ 1 ปานจะโตเร็วมาก หลังจากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น และส่วนใหญ่ประมาณ 85% เมื่อลูกอายุประมาณ 7 ปีปานชนิดนี้จะหายเอง เหลือเพียงแผลเป็นจาง ๆ เท่านั้น
Concem : แม้ปานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อโต แต่ในบางครั้งควรระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อถ้าเกิดแผลและมีเลือดออกอาจติดเชื้อได้ ในกรณีที่ปานมีขนาดใหญ่มาก อาจเสี่ยงต่อการมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเกิดเกร็ดเลือดต่ำ (เกิดจากปฏิกิริยาเกร็ดเลือดทำลายกันเอง) ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนควรรีบพาลูกพบแพทย์
ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary Malformation)
ลักษณะ : มักพบตั้งแต่แรกเกิด และจะอยู่ไปตลอดไม่จาง มักขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานชนิดนี้จะขยายขึ้นเรื่อย ๆ ตามตัวของเด็กที่โตขึ้น รวมทั้งมีสีเข้มขึ้น นูนและขรุขระเพิ่มขึ้นตามอายุ
Concem : หากพบบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจมาพร้อมกับความผิดปกติของตาและสมองลูก ควรรีบพาลูกพบคุณหมอค่ะ เพื่อตรวจอาการ
ปานโอตะ (Nevus of Ota)
ลักษณะ : พบในเด็กแรกเกิดและบางรายอาจมาพบเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะจะคล้ายปานมองโกเลียน คือมีสีเทาหรือน้ำเงิน มักพบบริเวณโหนกแก้มหรือขมับ แต่จะไม่จางหายไปได้เองเหมือนปานมองโกเลียน ปานโอตะไม่มีอันตรายเพราะจะไม่กลายเป็นมะเร็ง เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ค่ะ
ได้รู้จักปานแต่ละชนิดกันไปแล้วนะคะ คุณแม่ลองสังเกต "ปาน" บนตัวลูกน้อยว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง แต่อย่าเป็นกังวลมากเกินไป เพราะ "ปาน" นั้นอาจไม่ได้อันตรายอย่างที่คุณแม่คิด แต่ก็ไม่ควรละเลยไปนะคะ ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง เพื่อความปลอดภัยของลูกค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.18 No.209 มีนาคม 2556