x close

ย้อนรอย ทำไมลูกพูดช้า

พัฒนาการเด็ก

ย้อนรอย ทำไมลูกพูดช้า (modernmom)
เรื่อง : ส้มซ่า

          "ลูกพูดช้าเหมือนกันค่ะ เกือบ 2 ปีถึงเริ่มพูด แต่พอพูดก็เป็นประโยคเลย สื่อสารได้เข้าใจ ไม่สับสน เขาอาจจะใช้การฟังแล้วก็เรียนรู้ในช่วงแรก ๆ มั้งคะ ^o^ ปล. ตอนนี้เข้าขั้นพูดมากเลยค่ะ 555"

คุณ Biggy Ratiros

          "ตอนนี้ลูกสาวอายุ 1 ปี 7 เดือน ยังพูดไม่เป็นประโยค เรียกได้แต่ "จ๋า" กับคำว่า "ไก่" แต่พอเราพูดอะไรกับลูกเขารู้เรื่องทุกอย่าง ลูกสาวจะพูดภาษาของเขาเอง กลุ้มเหมือนกันค่ะ"

คุณ FaiiFoo KG

          "ลูกสาวพูดช้าค่ะ พูดได้พูดรู้เรื่องตอนอายุ 2 ปีครึ่ง พอพูดได้ก็พูดไม่หยุด ถามอะไรตอบได้หมด ไม่เคยบอกปฏิเสธว่า "ไม่รู้" จะพยายามตอบทุกอย่าง แต่เวลาออกจากบ้านหรือพบปะผู้คนที่ไม่สนิทไม่ค่อยพูดค่ะ แต่อยู่บ้านพูดรู้เรื่อง แต่ไม่ค่อยชัด"

คุณ นู๋ ชื่อ ชัญญา

          จากสภาพสังคมปัจจุบัน พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่มีพัฒนาการพูดล่าช้า ซึ่งส่งผลจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเลี้ยงดู สภาพสังคมรวมถึงปัญหาทางด้านกายภาพของเด็ก ซึ่งสำหรับพัฒนาการพูดของเด็กวัย 0-3 ปีนั้น ควรมีพัฒนาการการพูดที่เหมาะสมอย่างไร ไปหาคำตอบด้วยกันเลยค่ะ

สาเหตุที่ลูกพูดช้า

         1.ลูกขาดการกระตุ้นทางภาษา การใช้ภาษาที่เหมาะสม มีความจำเป็นต่อการพูดอย่างยิ่งยวดค่ะ แต่หากเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นทางภาษาที่เหมาะสม หรือคุณแม่อาจจะไม่ได้พูดกับเด็กก็จะทำให้เด็กขาดทักษะในการเรียนรู้ด้านการพูด รวมถึงการไม่เปิดโอกาสให้เด็กพูด หรือพยายามที่จะพูด เช่น เมื่อเด็กอยากได้อะไร แค่ชี้ผู้ใหญ่ก็หยิบให้ โดยเด็กไม่ต้องพยายามออกเสียง

         2.มีความผิดปกติทางร่างกาย ความผิดปกติทางร่างกายเหล่านี้ ได้แก่ หูตึง หูหนวก ซึ่งอาจเกิดจากภาวะการตั้งครรภ์ผิดปกติ ส่งผลต่อการได้ยิน หรืออาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นภายในหลัง

         3.มีความผิดปกติจากโรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้แก่ เด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) หรือความผิดปกติที่เกิดจากภาวะการคลอด เช่น ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง

         4.ความเครียดหรือกังวล สภาพการเลี้ยงดูที่ดี มีผลต่อการพูดเช่นกัน แต่หากครอบครัวมีภาวะความเครียดมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรง เช่น การทะเลาะกันภายในครอบครัว หรือการที่เด็กถูกตำหนิบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้เด็กไม่กล้าพูด หรือกลัวที่จะพูด รวมไปถึงการเลือกใช้ไวยากรณ์ไม่ถูกต้องจนกระทั่งอาจเกิดความบกพร่องในการออกเสียง ใช้เสียงก็ได้ค่ะ

         5.ภาวะออทิสติก ซึ่งมักจะมีอาการร่วมกับสมาธิสั้น มักจะพูดช้าหรือไม่พูด หรือพูดสื่อสารอย่างไม่มีความหมาย

พัฒนาการพูดสมวัย

          พัฒนาการพูดของเด็กปกติส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีการพัฒนาในอายุที่ใกล้เคียงกัน จะต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น เช่น อาจพูดเร็วช้าต่างกัน ความชัดเจนถูกต้องต่างกัน หรือจำนวนคำที่พูดได้ต่างกัน เรามาดูกันค่ะว่าเด็กแต่ละช่วงอายุควรมีพัฒนาการด้านนี้อย่างไรบ้าง คุณแม่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการสังเกตพัฒนาการการพูดของลูกได้

        1 เดือนครึ่งถึง 4 เดือน ช่วงวัยนี้เด็กเริ่มจะส่งสัญญาณการพูดของเขาแล้วค่ะ คุณแม่จะสังเกตว่าลูกจะเริ่มจ้องหน้า สนใจเวลามีคนมาพูดคุยด้วย และเริ่มมีเสียงในคอ อืออา อ้อแอ้ และเสียงแปลก ๆ ให้ได้ยินกันแล้ว

         5-6 เดือน พัฒนาการพูดของเด็กช่วงวัยนี้ เขาจะเริ่มสนุกกับการเลียนเสียง จะเลียนเสียงตนเองและเลียนเสียงคนอื่นได้ เช่น หากเคยได้ยินคุณแม่ร้องเพลงให้ฟัง เขาก็จะเริ่มฮัมตามเสียงได้บ้าง

        9-12 เดือน ช่วงอายุนี้ลูกเริ่มพูดค่ะ คุณแม่ควรเริ่มพูดคุยโต้ตอบกับลูก ที่สำคัญ เขาเริ่มหัดเรียกพ่อแม่ได้แล้วด้วย รวมถึงใช้ท่าทางสื่อความหมาย รวมถึงบอกความต้องการของตัวเอง ชี้นู่นชี้นี่ให้ดูช่วงนี้คุณแม่ควรจะหมั่นพูดโต้ตอบกับลูกบ่อย  ๆ นะคะ

        1 ปี-1 ปี 6 เดือน เป็นวัยกำลังซนเลยค่ะ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะลูกเริ่มจะมีพัฒนาการโต้ตอบที่ชัดเจน สามารถทำตามคำสั่ง พร้อมทำท่าทางประกอบไปกับการพูดด้วย ชี้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และเริ่มพูดคำเดี่ยว ๆ ที่มีความหมายได้มากขึ้นด้วยค่ะ บางรายอาจเห็นลูกเริ่มฮัมเพลงตามทำนองได้แล้วด้วยนะคะ

        1 ปีครึ่ง-2 ปี ช่วงอายุนี้ พัฒนาการพูดของลูกจะซับซ้อนมากขึ้น ลูกจะเริ่มเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อน และเริ่มเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้นไปด้วย ช่วงนี้คุณแม่จะสังเกตได้ว่าลูกสามารถพูดคำที่มีความหมายต่างกันสองคำต่อกันได้ เช่น "กินข้าว" "ไปเที่ยว" "หิวนม" แต่อาจจะยังไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์

        2-3 ปี ช่วงวัยนี้ถือว่าเป็นวัยที่พัฒนาการพูดของลูกเริ่มสมบูรณ์แล้วนะคะ ลูกจะสามารถพูดเป็นประโยคโต้ตอบได้แล้ว พูดคุยสื่อสารรู้เรื่องมากขึ้นแบบคำต่อคำและยังสามารถบอกชื่อ นามสกุล ฟังเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อน ช่วงนี้คุณแม่อาจต้องทนเหนื่อยฟังนิดนึงนะคะ เพราะลูกของคุณแม่จะมีเหตุการณ์มาเล่าให้ฟังแบบไม่หยุดเลยทีเดียว

ต้องสงสัยว่ามีปัญหาด้านการพูด

          การที่จะบอกว่าลูกพูดช้า หรือจะมีปัญหาทางด้านการพูดหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะเสียเวลารอจนลูกเกินอายุ 2 ปีแล้วจึงนำลูกไปตรวจ เพราะถ้าสังเกตให้ดี ลูกอาจมีพฤติกรรมที่แสดงว่าอาจมีปัญหาในการพูดตั้งแต่ขวบปีแรกแล้ว ซึ่งคุณแม่สามารถนำข้อบ่งชี้ต่อไปนื้ เพื่อสังเกตพัฒนาการของลูกได้ค่ะ ซึ่งสามารถแบ่งออก 5 ช่วงสำคัญ ๆ ดังนี้นะคะ

        6 เดือน ลูกยังไม่ส่งเสียงอืออา ไม่หันหาเสียง และไม่แสดงอาการตกใจเวลาได้ยินเสียงดัง ๆ

        10 เดือน เรียกชื่อแล้วไม่หันมาตามเสียง

        15 เดือน ไม่สามารถทำตามหรือไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ เช่น มานี่ นั่งลง บ๊ายบาย

        1 ปีครึ่ง พูดคำเดี่ยว ๆ ได้น้อยกว่า 5-6 คำ

        2 ปี พูดคำเดี่ยว ๆ ต่อกันไม่ได้ เช่น "ไปเที่ยว" "ไม่เอา" "หม่ำหนม" หรือชี้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้

กระตุ้นการพูดของลูก

          การดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและใช้ภาษาจำเป็นต้องได้รับการดูแล เพราะหากละเลยไม่กระตุ้นลูก นอกจากจะเป็นปัญหาด้านพัฒนาร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมานะคะ ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องช่วยคุณลูกแล้วนะคะ

          หมั่นพูดกับลูก : คุณแม่ควรให้ความเอาใจใส่ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ตั้งแต่ยังเล็กให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ

         เลียนเสียงโต้ตอบ : เมื่อลูกเริ่มเปล่งเสียง เล่นเสียง ให้คุณแม่เลียนเสียงโต้ตอบกับลูก พยายามกระตุ้นและจูงใจให้ลูกพูดด้วย

         สถานการณ์ผ่อนคลาย : ในกรณีที่ลูกยังไม่พูด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดคั้นหรือลงโทษลูก เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเครียด และไม่ยอมพูดมากขื้น

         ให้กำลังใจ : ช่วงที่ลูกพยายามพูด แม้ในระยะแรกจะพูดไม่ชัด ไม่ควรตำหนิเด็ก แต่ควรพูดคำที่ถูกต้องให้เด็กฟัง อาจเลือกคำสั้น ๆ ง่าย ๆ ก่อน

         กระตุ้น : คุณแม่สามารถกระตุ้นการพูดของลูกได้โดย เริ่มจากสิ่งที่เด็กกำลังสนใจอยู่ เช่น อ่านนิทานที่ลูกชอบให้ฟัง ชี้ชวนให้ดูภาพและพูดภาพนั้นออกมาให้ลูกได้ยิน

         อย่าละเลย : ควรหมั่นกระตุ้นส่งเสริมและเช็กอาการผิดปกติ ด้านการพูดของลูกน้อย ไม่ควรชะล่าใจ เพื่อจะได้รับมือกับอาการที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยค่ะ

          เด็กจะมีพัฒนาการด้านการพูดและการใช้ภาษาที่ปกติ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ข้อดังนี้

          การได้ยินหรือการรับรู้ที่ปกติ คือ มีหูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นในที่ปกติ รวมถึงการมองเห็นและการรับรู้ทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ ด้วย เช่น จะสอนเด็กให้รู้จักคำว่า "รถ" ถ้าเด็กมองเห็นรถยนต์ ก็ต้องรู้ว่ารถมีรูปร่างแบบนี้นะ

          มีสมองและระบบประสาทที่ปกติ สมองและระบบประสาทที่ดีนั้นใช้ในการรวบรวมข้อมูล แปลข้อมูล ทำความเข้าใจและคิดเตรียมเลือกคำพูด เช่น หากถามลูกว่า "หิวข้าวไหม" ลูกก็ต้องสามารถรับรู้ ทำความเข้าใจได้ว่า ถ้าหิวก็ต้องตอบว่า "กิน" เป็นต้น

          มีอวัยวะในการพูดและการออกเสียงปกติ อวัยวะในการออกเสียงและพูดนั้น ได้แก่ ปาก ลิ้น คอ เพดาน กล่องเสียง ริมฝีปาก รวมไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และกล้ามเนื้อกะบังลม หากอวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ตามปกติ ก็จะส่งผลต่อการพูดที่ดีและพัฒนาการพูดที่ดีของลูกด้วยค่ะ

          มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งภายในครอบครัวและสังคม เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพูดโดยตรง หากเด็กได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม และถ้าคุณพ่อคุณแม่หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ มีการโต้ตอบและรู้จักช่วยกระตุ้นต่อการออกเสียงที่ถูกต้องเด็กก็จะมีพัฒนาทักษะทางภาษาและการพูดที่ดีไปด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.18 No.209 มีนาคม 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอย ทำไมลูกพูดช้า อัปเดตล่าสุด 21 พฤษภาคม 2556 เวลา 14:55:03 32,167 อ่าน
TOP