ปวดทรมานเพราะมดลูกอักเสบ (รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว
ภาวะการติดเชื้อหลังคลอดที่พบได้บ่อย คือภาวะมดลูกอักเสบ แม่หลังคลอดจะมีอาการปวดท้องที่แสนทรมาน มีไข้ขึ้นสูง ควรจะรีบมาพบแพทย์ ก่อนที่เชื้อจะลุกลามจนเป็นฝีหนองในช่องท้องค่ะ
เชื้อแบคทีเรียทำมดลูกอักเสบ
หลังคลอดลูก รกก็จะค่อย ๆ หลุดลอกออกมาพร้อมกับเศษเซลล์ของเนื้อตายในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูก หากเนื้อตายหลุดลอกออกมาไม่สมบูรณ์ หรือมีแบคทีเรียปนเปื้อนเข้าไป เป็นแบคทีเรียที่อาจเกิดขึ้นระหว่างคลอด แบคทีเรียจากทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดหรือทวารหนัก
เมื่อบริเวณนั้นมีเศษของเซลล์ซึ่งเป็นอาหารที่ดีสำหรับการแบ่งตัวของแบคทีเรีย จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูกลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก เรียกว่า มดลูกอักเสบหลังคลอดโดยการติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงหลังคลอด ไปจน 2-3 วันหลังคลอดค่ะ
8 ปัจจัยเสี่ยงทำมดลูกอักเสบหลังคลอด
1.มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากช่องคลอด เข้าไปสู่ชั้นกล้ามเนื้อมดลูก
2.แม่ตั้งครรภ์ที่น้ำเดินนาน ๆ ก่อนคลอด เมื่อถุงน้ำคร่ำที่ทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ลูกน้อยแตกออกและมีน้ำเดิน ยิ่งมีน้ำเดินนาน เชื้อโรคก็จะเข้าไปได้มากยิ่งขึ้น
3.ระยะรอคลอด ช่วงรอคลอด คุณหมอจะตรวจภายในติดตามดูว่าปากมดลูกเปิดมากแค่ไหน หากคุณแม่ต้องตรวจภายในบ่อย ๆ ก็จะนำเชื้อโรคเข้ามาได้มากขึ้น
4.การผ่าคลอด เพิ่มอัตราเสี่ยงของมดลูกอักเสบได้สูงกว่าแม่ที่คลอดเอง 2-30 เท่า ถ้าผ่าคลอดในแม่ที่น้ำเดินมาจากบ้านนานแล้ว มีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าแม่ที่ผ่าคลอดโดยคุณหมอนัดผ่า 40-50%
5.สุขภาพไม่ดี มีปัญหาเรื่องการดูแลสุขอนามัย เรื่องความสะอาดไม่ดี จะมีการติดเชื้อได้ง่าย
6.ช่องคลอดฉีกขาด ถ้าลูกเคลื่อนผ่านปากมดลูกลงมาจนถึงช่องคลอดแล้วเกิดการฉีกขาด หรือเย็บแผลฝีเย็บได้ไม่ดี จะทำให้ติดเชื้อได้
7.ผลการคลอดไม่ดี เช่น คลอดแล้วลูกมีน้ำหนักตัวน้อย ลูกเสียชีวิตหลังคลอด แม่ตั้งครรภ์อายุน้อย และคลอดครรภ์แฝดมีอัตราของการติดเชื้อได้สูง
8.คลอดลำบาก ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยคลอด ใช้คีมช่วยดึงศีรษะเด็ก เป็นต้น
อาการมดลูกอักเสบหลังคลอด
1.อาการเริ่มต้นคือ มีไข้เมื่อเลย 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดไปแล้ว อุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส โดยอาการไข้นั้นจะเริ่มมีตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 10 สำหรับในแม่ที่มีอาการไข้รุนแรงไข้จะสูงถึง 38.5-40 องศาเซลเซียส มีไข้หนาวสั่น ชีพจรเต้นเร็ว
2.น้ำคาวปลามีกลิ่น เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ ทำให้น้ำคาวปลากลิ่นเหม็นรุนแรง ยกเว้นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือเชื้อสเตรปโตคอคคัสแบคทีเรีย ซึ่งทำให้น้ำคาวปลาไม่มีกลิ่น และออกน้อย จึงทำให้สังเกตอาการได้ยาก ต้องระวังและติดตามอาการโดยใกล้ชิด
3.อาการปวดท้อง โดยเฉพาะปวดที่มดลูก ระยะแรกจะปวดเวลาถูกกด แต่ถ้าการติดเชื้อลุกลามไปถึงผิวด้านนอกของมดลูก คุณแม่จะรู้สึกปวดท้องโดยที่ไม่ต้องกดเลยค่ะ
4.อาการที่รุนแรงที่สุด ก็คือเมื่อพวกเศษของเซลล์เนื้อตายแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดเป็นฟองแก๊สไปอุดตันตามเส้นเลือดเล็ก ๆ อย่างปอดและหัวใจ สามารถทำให้แม่เสียชีวิตเฉียบพลันได้ แต่กรณีนี้พบได้น้อย
มดลูกอักเสบ พบคุณหมอโดยด่วน
หากตรวจพบว่ามีมดลูกอักเสบ คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งยากลุ่ม Ampicillin และยากลุ่ม Cephalosporin โดยจะให้ยาทางเส้นเลือดด้วยการหยดผ่านในน้ำเกลือ เพราะยากินจะไม่ได้ผล ทำให้แม่ต้องนอนโรงพยาบาลไปจนกว่าจะไม่มีไข้เกินกว่า 48 ชั่วโมงขึ้นไป จึงจะเปลี่ยนไปเป็นยากิน แล้วถ้ากินยาแล้วไม่มีไข้ คุณหมอก็จะให้กลับบ้านได้ โดยให้กินยาติดต่อกันอีก 5-7 วันค่ะ
ในกรณีที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล คุณหมอจะดูว่าจุดไหนที่มีแบคทีเรียสะสมอยู่มาก อาจมีรกค้างอยู่ด้านใน ต้องรักษาโดยการขูดมดลูก หรือกรณีที่มีก้อนฝีหนองที่ขาหนีบ ต้องผ่าเอาหนองออก แต่ถ้ามีฝีหนองด้านในช่องท้อง จะใช้วิธีการเจาะระบายหนองออกมากทางช่องคลอด เพื่อให้เชื้อโรคลดน้อยลง
กรณีที่ร้ายแรงที่สุด คือพบว่ามีหนองอยู่ด้านในท้องที่ลึกมากจนไม่สามารถเจาะได้ ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องแล้วเจาะหนองออก
ป้องกันไว้ก่อนมดลูกอักเสบ
แม่หลังคลอดที่ไม่อยากทรมานเพราะมดลูกอักเสบ ควรดูแลและป้องกัน ดังนี้ค่ะ
ต้องฝากครรภ์และมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณหมอติดตามว่าแม่มีอาการผิดปกติหรือไม่ จะได้รับการรักษาได้ทัน
ในระยะเจ็บท้องคลอด ถ้ามีน้ำเดินหรือมีมูกเลือดให้รีบไปโรงพยาบาลหรือแจ้งคุณหมอทันที ก่อนคลอดแพทย์หรือพยาบาลควรจะตรวจภายในทุก 2 ชั่วโมง ไม่ควรตรวจภายในถี่เกินไป เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
คุณพ่อที่จะเข้ามาในห้องคลอด อาจนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามา ต้องสวมเสื้อคลุมและระมัดระวังเรื่องความสะอาดให้ดี
หมั่นดูแลตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอ และทำตามคำแนะนำของคุณหมอ จะช่วยลดการเกิดมดลูกอักเสบหลังคลอดได้ค่ะ
อาการแทรกซ้อนที่อันตราย
หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด จะทำให้เชื้อโรคลุกลามไปทั่วร่างกาย คุณแม่อาจจะช็อกและเสียชีวิตได้ อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือเชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผิวด้านนอกของมดลูก บางรายติดเชื้อรุนแรงจนเป็นฝีหนองอยู่ในช่องท้อง
นอกจากนี้เชื้อโรคอาจจะกระจายไปตามระบบน้ำเหลือง จะมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นก้อนในช่องท้องและมีต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบ โดยอาจคลำแล้ว พบว่าเป็นก้อนที่ท้องก็ได้ และในบางครั้งเมื่อมีก้อนแทรกอยู่ในมดลูกจะทำให้มดลูกหดตัวไม่ดี ส่งผลให้ตกเลือดหลังคลอดได้อีกด้วยค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 362 มีนาคม 2556