สาเหตุ..คลอดก่อนกำหนด

ตั้งครรภ์

สาเหตุ..คลอดก่อนกำหนด (momypedia)

         การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร

         สาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด

         อาการเริ่มต้นของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

         การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

         สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับทารกคลอดก่อนกำหนด

         การดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดเมื่อกลับบ้าน


การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร

         การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ เราจะเรียกว่าครบกำหนดที่ 38-41 สัปดาห์ คือประมาณ 9 เดือนโดยเฉลี่ย หากคลอดก่อน 37 สัปดาห์ ทางการแพทย์ถือว่าคลอดก่อนกำหนด แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดน้อย ๆ เช่น 1-2 สัปดาห์ คือคลอดเมื่อ 35 หรือ 36 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทารกที่จะมีปัญหามาก ๆ คือทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยมาก ๆ คือ มีน้ำหนักตัวตอนเกิดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ทารกในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทารกที่การตั้งครรภ์สิ้นสุดที่อายุครรภ์ประมาณ 32-33 สัปดาห์ ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไรปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด

ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดมีหลายอย่างคือ

1. คุณสมบัติส่วนตัวและโรคประจำตัว

         คุณแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าคุณแม่ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี

         คุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ถ้าเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อนหนึ่งครั้ง มีโอกาสในการคลอดก่อนกำหนดครั้งต่อไปมีถึงร้อยละ 25 แต่ถ้าเคยคลอดก่อนกำหนดติดกัน 2 ครั้ง โอกาสในท้องต่อไปจะเพิ่มยิ่งขึ้นเป็นร้อยละ 50 ทางแพทย์เชื่อว่าระบบอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บท้องคลอดของคุณแม่คงมีการทำงานผิดปกติ

         คุณแม่ที่แท้งบ่อย ๆ มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดในการตั้งท้องต่อมามากขึ้น

         คุณแม่ที่มีมดลูกผิดปกติ มดลูกพิการมาแต่กำเนิด เช่น มีผนังกั้นภายในโพรงมดลูก หรือมดลูกมีเนื้องอกร่วมด้วย ทำให้โพรงมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ และคับแคบเกินกว่าที่ทารกจะเจริญเติบโตตามปกติ จึงคลอดออกมาก่อนกำหนด

         คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต ทำให้ทารกในท้องเจริญเติบโตได้ไม่ดี ตัวเล็ก และคลอดก่อนกำหนดได้

2. ชีวิตประจำวัน

         คุณแม่ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรือถึงแม่คุณแม่ไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนดได้

         คุณแม่ที่ดื่มสุราและเบียร์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ทุกชนิดจะทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตไม่ดีและคลอดก่อนกำหนด นอกจากนั้น อาจจะคลอดทารกออกมาพิการ

         สภาพการทำงานที่หนักเกินไป เช่น งานที่ต้องนั่งนาน ๆ วันละหลายชั่วโมง งานที่ต้องใช้แรงมาก จะทำให้คุณแม่เหนื่อยง่ายและมีปริมาณเลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง เพราะต้องแบ่งเลือดส่วนหนึ่งไปให้ตัวแม่เอง เพื่อสร้างพลังงานทดแทนในส่วนที่เสียไปจากการทำงานหนักมากกว่าปกติ ผลจะทำให้ทารกขาดสารอาหารและก๊าซออกซิเจน ทารกจะตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนด

         ความเครียด ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากงานหรือปัญหาในครอบครัว ทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

3. ปัญหาและภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

         ตั้งครรภ์แฝด

         เลือดออกขณะตั้งครรภ์

         ปากมดลูกหลวม

         การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

อาการเริ่มต้นของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

         โดยปกติในระยะตั้งครรภ์เกิน 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกหดตัวเบา ๆ เป็นพัก ๆ ไม่รู้สึกเจ็บปวด (อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเด็กโก่งตัว) เป็นการฝึกหัดตัวเองของมดลูกที่จะบีบตัวเมื่อถึงกำหนดคลอด การหดตัวของมดลูกแบบนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีการหดตัวบ่อย ๆ ถี่เกินไป ท้องตึงแข็งอยู่เป็นเวลานาน และมีอาการอื่นร่วมด้วย ก็แสดงว่าอาจจะมีการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

อาการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่

        มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ พร้อมกับเวลาที่มดลูกหดตัว อาการปวดท้องนี้จะคล้ายกับเวลาที่คุณแม่ปวดประจำเดือน ทั้งที่ขณะนั้นคุณแม่ไม่มีอาการท้องเสียหรืออาหารไม่ย่อยเลย

        มีอาการปวดหลังชนิดที่ร้าวลงไปถึงด้านล่างบริเวณก้นกบร่วมกับการปวดท้อง

        ปวดถ่วงในอุ้งเชิงกราน อาจจะร้าวไปที่ต้นขา

        มีเลือดออกทางช่องคลอด

        มีน้ำไหลออกจากช่องคลอดหรือระดูขาวออกมา บางทีอาจจะมีมูกปนเลือดออกมาด้วย

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

         ถ้ามีอาการเหล่านี้ขอให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งจะต้องรับตัวคุณแม่ไว้ในสถานพยาบาล และให้ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ถ้าปากมดลูกยังขยายไม่มากก็จะได้ผลดี สามารถให้ทารกอยู่ในครรภ์ต่อไปได้อีกจนกระทั่งใกล้กำหนดคลอดมากที่สุด

         แต่ถ้าแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถหยุดยั้งการหดตัวของมดลูกได้ แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์พวกเบตาเมธาโซน (Betamethasone) หรือเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้ปอดของทารกทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นมีโอกาสรอดมากขึ้น

         ยานี้จะได้ผลเมื่อฉีดเข้าไปอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และยาจะมีประโยชน์อยู่ 7 วัน หลังจากนั้นอาจจะต้องให้ซ้ำ แต่ยานี้ก็มีจำกัดการใช้ด้วย คือไม่สามารถให้ได้ทุกราย ในกรณีที่มีน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือสงสัยว่าจะมีการอักเสบในร่างกายของคุณแม่ ไม่สามารถให้ยาชนิดนี้ได้

         การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านอนามัยแม่และเด็ก แม้ว่าความเจริญทางด้านการแพทย์จะสามารถช่วยให้ทารกที่คลอดออกมาก่อนกำหนดนั้นมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ก็มีจำนวนมากที่มีความพิการหรือเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไว้ก่อนโดยการส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนที่จะตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็รีบไปฝากครรภ์ และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นก็ควรจะได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ถ้าป้องกันแล้วยังเกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดอีก ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ยาระงับการเจ็บครรภ์และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับทารกคลอดก่อนกำหนด แบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด

         ภาวะปอดไม่สมบูรณ์ ยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งเกิดมาก อย่างที่รู้กันว่าทารกคลอดก่อนกำหนดปอดไม่ค่อยสมบูรณ์ เป็นเพราะขาดสารเคมีบางชนิดในปอด ซึ่งสร้างไม่พอในช่วงตอนที่เกิด สารตัวนี้ทารกส่วนใหญ่ก็จะสร้างครบได้เมื่อ 35 สัปดาห์ สารตัวนี้เป็นสารลดความตึงผิวของถุงลม (Surfactant) ทำหน้าที่ให้ถุงลมโป่งง่าย ทำให้หายใจโดยที่ใช้แรงน้อยลง ในผู้ใหญ่เรามีประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทารกแรกเกิดแม้ครบกำหนดก็จะขาดนิดหน่อย มีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

         ภาวะเลือดออกในสมองอย่างเฉียบพลัน เพราะสมองทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังค่อนข้างนิ่มมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไรสมองยิ่งนิ่มมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเมื่อคลอดต้องผ่านอะไรหลาย ๆ อย่าง มีการเขย่า เจอแสงสว่าง เจอความตกใจ เจอร้อนเย็นต่างกัน ไม่เหมือนอยู่ในท้องแม่ ก็ทำให้ความดันเลือดค่อนข้างผันผวน อาจทำให้เส้นเลือดในสมองบางเส้นแตก ซึ่งเกิดได้ประมาณ 30% ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม

         ปัจจุบันยังไม่มีทางป้องกัน ทารกคนไหนเลือดออกในสมองมากก็จะเสียชีวิต ทารกที่เลือดออกน้อย 90% จะไม่ออกอาการอะไรเลย แล้วก็เติบโตได้โดยไม่มีปัญหา

         โรคติดเชื้อ ทารกคลอดก่อนกำหนดบางส่วนจะคลอดเพราะแม่มีการติดเชื้อในช่องคลอดหรือน้ำเดิน ถุงน้ำแตก ทำให้ทารกได้รับเชื้อเข้าไป เมื่อทารกติดเชื้อปุ๊บ ร่างกายของแม่จะขับทารกออกก่อนกำหนด เทารกบางคนจึงอาจมีภาวะติดเชื้อออกมาตั้งแต่เกิดเลย ก็ทำให้ทารกตายได้ แต่กรณีนี้เกิดไม่บ่อยเท่าไร

2. ภาวะติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายหลัง

         ภาวะลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน ลำไส้ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ทำงานอยู่อาจเน่าขึ้นมาโดยที่ไม่มีทางป้องกัน ไม่ทราบสาเหตุ ภาวะนี้เกิดได้ประมาณ 10% ของทารกทั้งหมดที่เกิดมาตัวเล็ก ยิ่งตัวเล็กก็ยิ่งเกิดเยอะ ใน 10% นี้ ครึ่งหนึ่งจะมีอาการเพียงเล็กน้อย คือ มีลำไส้ขาดเลือดชั่วคราว ท้องอืด กินนมไม่ได้ประมาณ 7-10 วัน อีก 25% มีลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ ซึ่งไม่ต้องทำอะไร รอเฉย ๆ แต่ต้องงดนมไปประมาณ 1-2 อาทิตย์ ให้ลำไส้รักษาตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะหายไปเองโดยไม่มีปัญหา ส่วน 25%ที่เหลือลำไส้ทะลุแล้วทารกเสียชีวิต

         การหยุดหายใจในทารกแรกเกิด เนื่องจากอยู่ในท้องแม่ ทารกไม่จำเป็นต้องหายใจเอง หายใจเองบ้าง ลืมบ้างได้ พอคลอดออกมาใหม่ ๆ บางทีอยู่เฉย ๆ เขานอนเงียบไปเลย เมื่อก่อนเราต้องใช้วิธีผูกขากระตุกเอาเป็นการป้องกัน เพราะทารกจะหยุดหายใจตอนหลับ แต่ตอนตื่นกระดุกกระดิกไม่ค่อยหยุดหายใจ แต่พวกนี้บางทีนอนหลับไปเฉย ๆ เขียวไปเลยตายได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อทารกครบกำหนดคลอด เช่น บางคนคลอดเมื่อ 32 สัปดาห์ พอเราเลี้ยงไปสัก 5 สัปดาห์เป็น 37 สัปดาห์ อาการหยุดหายใจก็จะหายไปเอง แต่บางครั้งก็ทำให้พ่อแม่เกิดความกลัวและกังวลกับอาการนี้เช่นกัน

         ภาวะโรคปอดเรื้อรัง ทารกคนไหนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ พอโรคปอดในระยะแรกหายแล้ว แต่เขายังหายใจเองไม่ได้ ไอเองไม่เป็น ไอไม่ค่อยแรง เสมหะก็ออกจากปอดไม่ได้ ทำให้ทารกต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจไปถึงจุดซึ่งทารกอ้วนพอที่จะมีแรงไอได้ บางทีก็ทำให้ปอดทารกมีปัญหาคล้าย ๆ คนสูบบุหรี่ คือ โดนออกซิเจน โดนแก๊สไม่ได้ จะไอเรื้อรัง แต่โรคปอดนี้หลังจากเอาเครื่องช่วยหายใจออกจะหายไปเองภายใน 1-2 ปี แต่ บางคนที่มีปัญหามาก พอเด็กอายุสัก 9-10 ปีก็อาจเป็นหอบได้ ส่วนใหญ่ที่รอดจากระยะแรกก็จะเป็นปกติ ภายใน 1-2 ปี อาจจะมีบางคนที่เป็นหวัดแล้วจะปอดบวมเพราะเด็กพวกนี้ระยะแรกปอดยังไม่ค่อยดีเท่าไร

         พัฒนาการช้า พบได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งครึ่งหนึ่งสามารถเป็นปกติได้โดยการกระตุ้น ปัจจุบันเมืองไทยมีโครงการกระตุ้นเด็กเรียกว่า early intervention คือ การกระตุ้นเด็กระยะแรก มีการสอนพ่อแม่ให้กระตุ้นเด็ก ทำให้พัฒนาการเขาดีขึ้นได้ อีกครึ่งหนึ่งค่อนข้างจะลำบาก คือสมองพิการไปเลย ทำอะไรไม่ได้มาก แล้วยังมีเดินไม่ค่อยได้ แต่สมองปกติ ไอคิวปกติ กลุ่มนี้ต้องใช้เครื่องช่วยเดิน แต่เขายังสามารถช่วยตัวเองได้

การดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดเมื่อกลับบ้าน

         ขณะอยู่โรงพยาบาลแพทย์จะคอยดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งทารกมีน้ำหนักมากกว่า 1.8–2 กิโลกรัม หรือจนสามารถลดการใช้ตู้อบ มีการดูดกลืนได้ดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ก็ยังคงนัดไปตรวจอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 1-2 อาทิตย์ และเมื่อกลับมาอยู่บ้านคุณพ่อคุณแม่ต้องมีการดูแลลูก ดังต่อไปนี้

         จัดสภาพแวดล้อม ควรจัดบรรยากาศในบ้านให้อากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายในของลูกไม่เย็นหรือร้อนเกินไป แต่บ้านเราเป็นเมืองร้อนภาวะตัวเย็นในทารกคลอดก่อนกำหนดก็ไม่น่ากังวลเท่าไร แต่หากมีอาการตัวร้อนขึ้นมาควรรีบพาไปหาแพทย์ทันที

         ความสะอาด เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก ทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ อาหารการกินของลูกน้อย เพราะทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ มากกว่าเด็กปกติ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในบ้านก็ต้องสะอาดด้วย

         ส่งเสริมพัฒนาการ ระบบสมองของทารกจะเจริญเร็วในช่วง 6-7 สัปดาห์สุดท้ายในการตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีพัฒนาการล่าช้าบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะคอยเช็คพัฒนาการ เช่น การได้ยินและการมองเห็นอยู่เป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะกระตุ้นลูกน้อยได้ด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ ใช้การพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่กับลูกบ่อย ๆ และใช้สีและแสงอย่างเหมาะสม

         นม สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะแนะนำว่าให้กินนมแม่เป็นหลัก แต่ก็อาจจะต้องกินนมสูตร Enrich Post-discharge Formula เสริมควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ทารกทำน้ำหนักดีขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวขึ้น 40-50 กรัมต่อวันก็ถือว่าใช้ได้ แต่ก็ต้องมีการประเมินดูในระยะยาวต่อไป

         ระบบหายใจ ยังคงต้องมีการระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะการหายใจอาจมีปัญหาได้ เช่น มีเสมหะอุดตัน มีน้ำมูก ทำให้หายใจไม่สะดวกหรือไม่ หายใจอกบุ๋ม หายใจเสียงดังครืดคราด คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพากลับมาตรวจใหม่ โดยเฉพาะเวลาดูดนมแม่จะเห็นได้ชัด ดังนั้นเวลาอุ้มให้นมลูก ก็ควรจะอุ้มลูกให้สูงขึ้น เพื่อระวังการสำลักนมด้วย

         อาการที่บ่งบอกว่าไม่สบาย หากลูกเกิดมีไข้ ตัวร้อน ติดเชื้อน้ำมูกเขียวข้น ดูดนมได้น้อยลง น้ำหนักไม่ขึ้น ตัวเหลือง หรือตาเหลือง คุณแม่ต้องรีบพาไปพบแพทย์ก่อนถึงเวลานัด ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องรีบไปให้ทันเวลา







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาเหตุ..คลอดก่อนกำหนด อัปเดตล่าสุด 12 เมษายน 2556 เวลา 13:39:28 80,696 อ่าน
TOP
x close