เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
แม้จะมีข่าวให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แต่เหตุการณ์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองลืมลูกหลานทิ้งไว้ในรถยนต์ก็ยังคงเกิดขึ้น ซึ่งหลาย ๆ กรณี เด็กอาจจะโชคดีรอดชีวิต เพราะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่เด็กโชคร้ายติดอยู่ภายในรถยนต์เป็นเวลานานจนหมดสติ ช็อก บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรณี ด.ญ.มนัสนันท์ ทองภู่ หรือ น้องเอย อายุ 3 ปี นักเรียนชั้นเตรียมอนุบาล 1 โรงเรียนอนุบาลอนงค์เวท จ.สมุทรปราการ ถูกทิ้งให้อยู่ภายในรถตู้ของโรงเรียนเป็นเวลานานกว่า 7 ชั่วโมง อันเกิดจากความประมาทของครูพี่เลี้ยง ทำให้อาการของน้องเอยเข้าขั้นโคม่า สมองบวม ก้านสมองไม่ตอบสนอง ซึ่งแพทย์ก็ลงความเห็นว่า โอกาสที่น้องเอยจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมมีน้อยมาก
หลายคนที่ได้ยินข่าวเด็กติดอยู่ในรถอาจจะคิดว่า ที่เด็กมีอาการโคม่าขนาดนี้เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากประตูหน้าต่างปิดสนิท แต่หากไปสอบถาม นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี จะทราบว่า แท้จริงแล้วเด็กส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้นต่างหาก
ทั้งนี้ นพ.อดิศักดิ์ อธิบายว่า หากเด็กเข้าไปอยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแดดเพียงแค่ 5 นาที อุณหภูมิภายในรถก็จะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้แล้ว หากติดนานเกิน 10 นาที ร่างกายก็จะยิ่งแย่ และถ้าอยู่นานถึง 30 นาที ก็อาจเสียชีวิตได้ เพราะปกติร่างกายของคนเราจะรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่เมื่อติดอยู่ในรถที่มีความร้อน ร่างกายก็จะขับความร้อนออกมาในรูปของเหงื่อ หากอุณหภูมิภายในรถยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะถึงจุดที่ ร่างกายทนไม่ไหว ทำให้กระบวนการขับความร้อนของร่างกายที่มาในรูปของเหงื่อหยุดทำงาน เมื่อกระบวนการขับความร้อนหยุดทำงาน เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวมตามมา จากนั้น อาจหยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างก็จะหยุดทำงาน
คุณหมอยังอธิบายต่อว่า การจะตรวจสอบว่าเด็กติดอยู่ในรถนานแล้วหรือไม่นั้น ให้ดูจากลักษณะร่างกาย หากเด็กติดอยู่ในรถยังไม่นาน เด็กจะมีสภาพตัวแดง ๆ อยู่ แต่ถ้าเด็กติดในรถเป็นเวลานานแล้วจะมีลักษณะตัวซีด เพราะเลือดเป็นกรด และอวัยวะหยุดทำงานแล้วนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูโรงเรียนที่ดูแลเด็กเล็ก ๆ ต้องระมัดระวังบุตรหลานให้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ "อย่าทิ้งเด็กไว้ในรถ" ไม่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะลงจากรถไปทำธุระเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ไม่ควรปล่อยเด็กให้อยู่ในรถตามลำพังเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจอดรถอยู่กลางแจ้ง เพราะเด็กอาจจะเสียชีวิตจากความร้อนภายในรถที่เพิ่มสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเข้าใจว่า ถ้าเปิดกระจกแง้ม ๆ ไว้เล็กน้อยก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่จริง ๆ แล้ว อย่าลืมว่า เด็กเสียชีวิตเพราะความร้อน ไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ดังนั้น แม้จะเปิดกระจกแง้ม ๆ ไว้ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก หรือแม้แต่จอดรถในที่ร่มก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่เด็กจะเสียชีวิตได้เช่นกัน แต่อาจใช้เวลานานกว่าจอดรถกลางแจ้ง
นอกจากนี้ แม้แต่การเปิดแอร์ทิ้งไว้แล้วในรถก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างที่ปรากฏข่าวผู้ใหญ่เปิดแอร์นอนอยู่ในรถแล้วเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง นั่นเพราะเมื่อจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้ คนในรถจะสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เซื่องซึม สั่น กระตุก หากสูดดมก๊าซเข้าไปมาก ๆ อาจมีอาการหายใจติดขัด หมดสติโดยไม่รู้ตัว เพราะฮีโมลโกลบินจะน้อยกว่าปกติ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ทันที
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก