x close

ระวัง! เบบี้ติด ไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบ ในเด็ก

ระวัง! เบบี้ติดไวรัส ตับอักเสบ
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี

            ถึงแม้จะเป็นเด็กตัวเล็ก ไวรัสตับอักเสบซีก็ไม่ละเว้นค่ะ การติดต่อผ่านมาทางไหนมีอาการอย่างไร ที่สำคัญสามารถป้องกันได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ไว้เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขค่ะ

            โรคไวรัสตับอักเสบซี เกิดได้ในทุกช่วงอายุ สำหรับทารกอาจจะได้รับการถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากคุณแม่ได้ร้อยละ 5-7 ซึ่งพบได้น้อยมาก แต่สาเหตุหลัก ๆ ได้รับเชื้อทางเลือด เช่น การได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์เลือด มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้

            นอกจากนี้ ยังได้รับเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาที่มีการปนเปื้อน ไม่ปลอดเชื้อ ทำให้เบบี้ที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคใด ๆ ก็ตาม อาจได้รับเชื้อนี้มาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลจนเกินไปนะคะ เพราะวิทยาการด้านการแพทย์มีการพัฒนาที่ดีเยี่ยม การที่ลูกน้อยจะติดเชื้อจากการถ่ายเลือด หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ จึงมีโอกาสน้อยมากค่ะ

อาการเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบซี

            จริง ๆ แล้ว อาการของโรคนี้มักจะชอบเล่นซ่อนแอบค่ะ คือ ไม่ค่อยแสดงอาการ หรือมีอาการแสดงน้อย โดยอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอก คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ประมาณ 5-10 สัปดาห์ หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 6-7 สัปดาห์ ถึงจะมีอาการแสดงออกให้เห็น

            สิ่งที่ต้องระวังคือในเด็กเล็กมักไมมีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัด แต่จะมีลักษณะตัวเหลือง อ่อนเพลีย ถ้าเบบี้มีอาการน่าสงสัยแบบนี้ให้ตั้งข้อสังเกต ว่าลูกอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับตับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่โรคไวรัสตับอักเสบซีในอนาคตก็ได้ค่ะ

            เบบี้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามปกติ โดยพบว่าร้อยละ 15 ของการติดเชื้อสามารถรักษาได้ และร้อยละ 85 มักจะมีการติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุดค่ะ

ลูกติดเชื้อหรือเปล่า?

            ถ้าเบบี้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะการที่จะทราบว่าลูกน้อยมีภาวะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ ต้องตรวจเลือดและควรตรวจเช็กเด็กทุกคนที่คุณแม่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง หรือมีเชื้อ HCV RNV (PCR) เป็นบวก อายุที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจ คือ 18 เดือนขึ้นไป โดยตรวจสอบภูมิต้านทานโรคตับอักเสบซี (Anti-HCV) ไม่แนะนำให้ตรวจในเด็กแรกเกิด เนื่องจากค่า Anti-HCV ที่ได้ อาจเป็นผลจากคุณแม่ผ่านมายังลูกทำให้ผลตรวจสอบไม่ชัดเจน

            แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลและต้องการตรวจสอบเร็วกว่า 18 เดือน คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจ HCV RNA (PCR) ซึ่งใช้สำหรับตรวจในเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ คือ เด็กเคยได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน ซึ่งวิธีการตรวจแบบนี้สามารถตรวจได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2 เดือน ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของคุณหมอ

เคล็ดไม่ลับ ป้องกันตับอักเสบซี

            การป้องกันเบื้องต้น คือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือด ปัสสาวะ และสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น ระวังการใช้ใบมืด ของมีคม แปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น

            เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และเด็กส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการว่าเป็นโรคตับอักเสบซี ถ้าเจ้าตัวเล็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซี การไปพบคุณหมอและตรวจสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันสุขภาพตับของเจ้าตัวเล็กในอนาคตได้และรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

รักษาอย่างไร

            การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังในเด็กนั้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยการรักษาปัจจุบัน คือการให้ยาร่วมกันระหว่าง Pegylated interferon alfa และ Ribavarin

            ในเด็กอายุ 2-17 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังและมีอาการทางตับ หรือมีผลเลือด ALT ผิดปกติ การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความพร้อมของตัวเด็กเอง ว่ามีร่างกายแข็งแรงพร้อมรับมือต่อการรักษาหรือไม่ โอกาสที่จะตอบสนองต่อการรักษาและความเสี่ยงต่อการเกิด
ผลข้างเคียงของยาเป็นอย่างไร

            ก่อนการรักษาคุณหมอจะตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซี (HCV genotype) ก่อน เพื่อวางแผนการรักษาและทำการคาดคะเนการตอบสนอง โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังชนิด genotype 1 ควรได้รับการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเพื่อทราบระดับพังผืดในตับ นำมาประกอบการตัดสินใจในการรักษา ถ้าไม่สามารถเจาะเนื้อตับ อาจตรวจหาพังผืดของตับโดยเครื่อง fibroscan แต่ไม่แม่นยำเท่ากับการเจาะชิ้นเนื้อตับ

            ในช่วงการรักษานี้ ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่อาจมีความเจ็บปวด ดังนั้น ต้องคอยเป็นกำลังใจ และเข้มแข็งให้ลูกของเราเห็น เขาก็จะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างดีค่ะ

            แม้เด็ก ๆ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้น้อย แต่ถ้าเป็นแล้วจะนำไปสู่โรคร้ายแรงในอนาคตได้ ดังนั้น ถ้าลูกมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบพาไปพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 361 กุมภาพันธ์ 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง! เบบี้ติด ไวรัสตับอักเสบ อัปเดตล่าสุด 14 มีนาคม 2556 เวลา 16:03:56 3,396 อ่าน
TOP