ความกลัวในเด็ก (momypedia)
โดย : สปันงา
ความกลัวของลูกเกิดเพราะลูกยังเป็นเด็กเล็กอยู่ หรือว่ากลัวเกินเหตุกันแน่ บางทีก็นึกปวดหัวกับพฤติกรรมของเจ้าตัวเล็ก บางคนใจกล้า ไม่กลัวใคร ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น แต่เด็กบางคนสิ กลัวสิ่งที่ไม่น่าจะกลัวขึ้นมาเฉย ๆ เช่น กลัวแมงมุม กลัวผี กลัวเสียงฟ้าร้อง กลายเป็นเด็กขี้กลัวขึ้นมาเฉย ๆ
นี่ยังแค่เบาะ ๆ เท่านั้น อาจมีเด็กหลายคนที่ขี้กลัว และขี้กังวลมากกว่านี้หลายเท่าตัว จนชักสงสัยว่าทำไมเด็กบางคนถึงเป็นมากเป็นน้อย หรือทำไมจู่ๆจึงกลายเป็นเด็กขี้กลัวไปเสียได้ และลูกขี้กลัวของเราจะเข้าข่ายเด็กขี้กลัวกลุ่มไหน โตไปจะมีปัญหาหรือเปล่า แล้วเราในฐานะพ่อแม่จะจัดการกับความกลัวของลูกอย่างไร ไปดูคำตอบพร้อม ๆ กัน เลยค่ะ
ทำไมเด็กต้องกลัว
ยังไม่มีนักวิจัยคนใดสามารถระบุได้ถึงสาเหตุจริง ๆ ของความกลัวว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่พอบอกได้คร่าวๆว่าความกลัวสามารถถ่ายทอดผ่านทางกรรมพันธุ์ได้เหมือนกัน ถ้าพ่อหรือแม่ขี้กลัว ขี้กังวล ลูกมักจะขี้กลัว ขี้กังวลตามไปด้วย นอกจากนั้นเป็น เรื่องของการเลี้ยงดู รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่ดีให้ลูกเห็น และประสบการณ์น่ากลัวบางอย่าง
เด็กขี้กลัวหรือขี้กังวลเกินกว่าเหตุ มักไม่ค่อยมีอาการเห็นเด่นชัดเหมือนเด็กก้าวร้าว เพราะดูภายนอก เราจะเห็นเป็นเด็กเรียบร้อย น่ารัก ไม่มีปัญหาอะไร แต่ความสงบเสงี่ยมไม่ได้หมายถึงความไม่มีปัญหา เพราะเด็กยิ่งเงียบก็ยิ่งผิดปกติมากเท่านั้น ขอเพียงคุณสังเกตอาการให้ดี อย่าปล่อยให้ลูกฝังจมอยู่กับความกลัวทุกวัน เพราะความกลัว หรือความกังวลที่เกิดขึ้นในวัยเด็กสามารถพัฒนาตัวไปเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้กลัว หรือขี้กังวลเกินกว่าเหตุได้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้วพวกปัญหาโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคต่อต้านสังคมเพราะเข้ากับใครไม่ได้ และติดยาเสพติดอาจถามหาลูกรักในตอนโตได้ค่ะ
ความกลัวเป็นธรรมชาติของเด็กทุกวัย
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรที่เด็กจะกลัวผี กลัวฟ้าร้อง ผู้ใหญ่เองยังมีความกลัวเลย ถ้าเราลองสังเกตตัวเองจะพบว่า เมื่อเป็นเด็กเราเคยกลัวความมืด แต่พอโตขึ้นกลับไม่กลัว แต่ก็ยังกลัวอย่างอื่นอยู่ ความกลัวของคนเราแตกต่างไปตามวัยค่ะ
เด็กทารก จะกลัวสิ่งของทุกอย่างหรือสิ่งแวดล้อมที่แปลกไปจากเดิม เช่น แสงไฟในห้องนอนที่จ้ากว่าปกติ เสียงเพลงดัง ๆ หรือหน้าตาของคนแปลกหน้า ฯลฯ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ มากล้ำกรายลูกน้อย
วัย 1-3 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มกลัวกับความมืดแล้ว จึงไม่ควรทิ้งให้เขาอยู่ในห้องที่มืดมิดเพียงคนเดียว สิ่งที่ทำให้เด็กกลัวอีกอย่างหนึ่ง คือ กิจกรรมแปลกใหม่ที่เขาไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต เช่น ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน ทุกอย่างสามารถทำให้เขากลัวขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะเฝ้ามองและดูแลเขาให้ มากขึ้นหน่อยในระยะเริ่มต้นที่เขากำลังลองหัดกิจกรรมใหม่ ๆ
วัย 3-5 ปี เด็กวัยนี้เริ่มคิดฝัน มีจินตนาการเป็นของตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เขากลัวได้มากที่สุดในตอนนี้ คือ สิ่งที่เขาคิดว่ามีอยู่จริง ๆ ในโลกใบนี้ อย่างผีสาง เทวดาใจร้าย งูกินคน เจ้าตัวต่าง ๆ ในจินตนาการเหล่านี้จะเป็นตัว ประหลาดที่ทำให้เด็กวัยนี้กลัวจนขนหัวลุกได้ง่าย ๆ
วัย 6-12 ปี ความกลัวของเด็กวัยนี้จะค่อย ๆ พัฒนาจากสิ่งเพ้อฝันเป็นเรื่องจริง ๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้บ้าน เจ้าหมาตัวโปรดตาย สอบตก กลัวถูกพ่อแม่เอาไปทิ้ง ฯลฯ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรพูดขู่ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้ลูกตกใจกลัว
วัย 12-16 ปี เด็กวัยนี้จะกลัวอะไรเหมือน ๆ กับเด็กในวัย 6-12 ปี แต่ความกลัวจะพัฒนาไปสู่เรื่องของจิตใจมากขึ้น เช่น กลัวจะไม่มีแฟน กลัวพ่อแม่เลิกกัน กลัวพ่อแม่ ไม่รักตัวเอง ฯลฯ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็ควรหมั่นแสดงความรู้สึกให้ลูกได้รับรู้ว่าพ่อแม่นั้นรักลูกมากมายเพียงไหน
อาการแบบไหนเข้าข่าย "ขี้กลัว"
ถ้าลูกมีความกลัวตามวัยที่กล่าวมาคงไม่น่ากังวล แต่ถ้ากลัว "เกินเหตุ" หรือ กลัวแบบที่เป็นสัญญาณไม่ดีคงต้องสังเกตและดูแลแก้ไขกันเสียเนิ่น ๆ ลองดูนะคะว่าลูกของคุณกลัวแบบนี้บ้างไหม
เด็กขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด มีเพื่อนในห้องน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นให้กำลังใจ รวมถึงพาเขาออกไปเจอกับคนแปลกหน้าบ่อย ๆ
เด็กขี้ระแวงกับการพลัดพราก เด็กกลุ่มนี้จะกลัวการที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ แม้กระทั่งต้องเข้านอนคนเดียวก็จะคิดนึกไปว่า การเข้านอนนั้นคือการพลัดพรากจากพ่อแม่ของตัวเองตลอดไป เด็กที่ไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะกลัวว่าพ่อแม่จะพาตัวเองไปทิ้งที่โรงเรียนก็เข้าข่ายกลุ่มนี้เช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดอะไรที่ส่อไปในทางที่จะทิ้งเขาไป เด็กจะยิ่งกลัว ยิ่งกังวลไปกันใหญ่ค่ะ
เด็กขี้กลัวโดยธรรมชาติ เด็กกลุ่มนี้มีพื้นฐานที่ขี้กลัว ขี้ระแวงไปกับทุก ๆ เรื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าฝนตก ฟ้าร้อง คุณครูที่ โรงเรียนจะตี หรือเพื่อนจะไม่ชอบขี้หน้า ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นถามถึงความเป็นไปของเขา หลังกลับมาจากโรงเรียนให้บ่อย ๆ เขาจะได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
เด็กเป็นโรคขี้กลัวขึ้นสมอง เช่น โรคกลัวความสูง โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวที่คับแคบ โรคกลัวความมืดอย่างรุนแรง ฯลฯ ซึ่งถ้าเด็กมีอาการกลัวสิ่งเหล่านี้นานเป็นแรมปีโดยไม่มีอาการทุเลาลงเลย ควรพาไปปรึกษาแพทย์ จะเป็นการดีที่สุด
เมื่อมีลูกขี้กลัว ควรทำตัวอย่างนี้
เด็กวัย 3-4 ขวบยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดี สิ่งไหนปลอดภัยหรือเป็นอันตราย บางครั้งเขากลัวอะไรเกินกว่าเหตุ หรือบางครั้งก็ดูจะไม่กลัวอะไรเอาเสียเลย เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่แล้วค่ะว่า ต้องสอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหนปลอดภัยเข้าใกล้ได้ หรือสิ่งไหนเป็นสิ่งอันตรายที่ควรจะหลีกไปให้ไกล ๆ
แม้กระทั่งเสียงดัง ๆ ของเครื่องดูดฝุ่น หรือเสียงประทัด เด็กบางคนก็กลัวได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาเขาให้ออกห่างจากเสียงดังนั้น ๆ กอดเขาหรือหอมแก้มเขาเพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนมา
เด็กวัยนี้จะรู้สึกกลัวโน่นกลัวนี่ไปหมด แต่กระนั้นเขาก็จะหันไปสนใจกับสิ่งอื่น ๆ แทนได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักรับมือ เพราะฉะนั้นถ้าเขาเกิดกลัวอะไรขึ้นมา คุณก็เพียงเบนความสนใจเขาให้ไปหาสิ่งอื่น ๆ แทน
เด็กวัยนี้มีความรู้สึกไวในเรื่องของสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง หรือไม่ปลอดภัย แค่น้ำเสียงที่บ่งบอกว่าคุณเองก็กลัวบางสิ่งบางอย่างอยู่เหมือนกัน มีผลทำให้ลูกน้อยเอง เกิดความกลัวตามไปด้วย เพราะฉะนั้นคุณควรทำตัวให้ดูมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้เขารู้สึกว่าถ้าต้องเจอะเจออะไรก็ตามแต่ คุณนั่นแหละจะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก