20 วิธี เสริมพลังสมองเด็ก



20 วิธีเสริมพลังสมองเด็ก (รักลูก)
โดย : นพ.อุดม เพชรสังหาร

          กิจกรรมง่าย ๆ ที่พ่อแม่สามารถลงมือทำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสมองของลูกวัย 1-3 ปี

          ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการเติบโตมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ หากพ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสม สมองของเขาก็จะเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ความสมบูรณ์ของสมองในช่วงนี้คือรากฐานสำคัญของชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของคนเราเมื่อเติบโตขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้สมองจะมีความสำคัญปานนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการที่ทำให้สมองมีพัฒนาการ มีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์จะมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทุกอย่างเป็นไปตาม หลักธรรมชาติ อะไรที่ฝืนธรรมชาติ อะไรที่เกินธรรมชาติ อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของสมองได้

          เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ก็แปลว่าพ่อแม่ ครู ผู้คนรอบข้างสามารถช่วยเหลือเด็กในการสร้างและพัฒนาสมองของพวกเขาได้ ขอเพียง "เข้าใจในธรรมชาติของเด็ก และธรรมชาติสมองของพวกเขา" เท่านั้น

          นั่นคือ หลักธรรมชาติที่ว่า "Use it or lose it." ความหมายคือ สมองเติบโตและพัฒนาได้เพราะเราใช้งานมัน ตรงกันข้ามหากเราไม่ใช้งาน สมองก็จะลีบฝ่อและถูกทำลายไปในที่สุด

          และหลักธรรมชาติที่ว่า สมองทำงานพร้อมกันทั้งสองข้าง ไม่มีแยกซ้ายแยกขวาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การพัฒนาสมองจึงต้องยึดหลักองค์รวม ไม่ใช่การแยกส่วนพัฒนา

          รวมถึงหลักธรรมชาติที่ว่า สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์จะช่วยให้สมองมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ในที่นี้หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีคนพูดคุยด้วย เล่นด้วย สิ่งแวดล้อมที่มีวัตถุดิบให้ได้สำรวจ เรียนรู้ ตามความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่ท้าทายความอยากรู้ สิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ไม่กดดัน

          ต่อไปนี้คือตัวอย่างของกิจกรรมง่าย ๆ ที่พ่อแม่ สามารถลงมือทำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสมองของลูกได้ด้วย 20 วิธี ดังนี้

         1. ดูแลเรื่องอาหารการกิน ให้เป็นไปตามธรรมชาติของวัย เด็กควรได้รับสารอาหารอะไร ควรเพิ่มสารอาหารอะไร แต่สิ่งที่อยากจะย้ำเกี่ยวกับเรื่องอาหารก็คือ "อย่าให้ลูกกินหวาน" โดยเฉพาะรสหวานที่มาจากน้ำตาล ซึ่งเป็นสารโมเลกุลเล็ก เพราะมันจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินความพอดี ทำให้ร่างกายต้องขับสารบางอย่างออกมาเพื่อขจัดน้ำตาลที่เกินพอดีนี้ ผลก็คือทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติภายในเวลาอันรวดเร็ว

          ในการทำงานของสมองนั้น สมองต้องการน้ำตาลในระดับที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนรสหวานที่มาจากผลไม้ ผัก หรือธัญพืช เป็นสารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ ซึ่งจะค่อย ๆ ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง

         2. เวลาอาหารของลูกอย่าทำให้เป็นเวลาแห่งความทุกข์ หรือเป็นการบังคับขู่เข็ญ เพราะจะทำให้เขาปฏิเสธอาหาร ซึ่งจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าเวลาอาหารคือเวลาแห่งความสุข

         3. พูดคุยเล่นกับลูก แม้เขาจะยังพูดไม่ได้ เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ของพ่อแม่จะกระตุ้นประสาทการได้ยิน ท่าทางประกอบคำพูดจะบ่งบอกความหมายของคำพูด มันคือจุดเริ่มต้นของการรู้ภาษา รวมทั้งความสามารถในการสื่อสาร

         4. เล่นกับลูกบ่อย ๆ จับปูดำขยำปูนา ตบแผะ จ้ำจี้ ฯลฯ การเล่นเช่นนี้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวมือ ขา ร่างกาย ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

         5. ฝึกอ่านใจลูก และตอบสนองต่อความต้องการของลูกให้ถูก การชี้นิ้วมือแบบนี้หมายถึงอะไร เสียงแบบนี้เขาต้องการอะไร การตอบสนองตรงกับความต้องการจะทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีค่า สิ่งนี้ช่วยพัฒนาสมองส่วนอารมณ์และความรู้สึกของเขาให้มีความสมบูรณ์

         6. ใช้หนังสือภาพ (Picture Book) หมั่นชวนลูกดูหนังสือภาพ เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นสายตาและการมองแล้ว ยังช่วยให้เขาได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านหนังสือภาพได้อีก

         7. เล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของภาษาและการสื่อสาร กระตุ้นการคิด จินตนาการ สมาธิ และที่สำคัญทำให้เขารู้ว่าเรารักเขา ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย อบอุ่น

         8. ร้องเพลงกล่อมลูก เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ แถมมีจังหวะด้วย ช่วยกระตุ้นสมองได้ดี พัฒนาการของภาษา สมาธิ การคิด ความจำจะถูกกระตุ้นจากเสียงเพลง ข้อสำคัญยังตอกย้ำว่าเรารักเขา

         9. หาของเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ของเล่นที่ช่วยพัฒนาความคิด จินตนาการ ฝึกความอดทน ฝึกการแก้ปัญหามาให้ลูกเล่น ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงหรือมีกลไกซับซ้อน ขอเพียงช่วยสร้างสิ่งที่กล่าวไว้ให้ลูกเราได้ก็พอ

         10. การโอบกอด สัมผัส ลูบผม หอมแก้ม ดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ช่วยกระตุ้นการหลั่ง Nerve Growth Factor ซึ่งจะไปกระตุ้นสมองให้มีพัฒนาการและเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ข้อสำคัญคือส่งสัญญาณให้เขารับรู้ว่าเรารักเขา

         11. เวลาลูกร้อง ตอบสนองให้ไว เพราะเด็กทุกคนต้องการความปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกว่าตนเองปลอดภัย สมองของเขาก็จะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย สมองจะพัฒนาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหนีภัยเท่านั้น

         12. การนวดตัว เวลาที่เด็กเครียดช่วยให้เด็กผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี เวลาเขาไม่สบาย เวลาที่เขาเสียใจ ลองช่วยนวดก็น่าจะดี อย่าลืมว่าเวลาเด็กเครียดสมองของเขาจะไม่พัฒนา

         13. สร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ปลอดภัย เพื่อให้เขาได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างอิสระ โดยที่เราไม่ต้องกังวล หรือต้องคอยห้ามปราม สมองของเด็กเติบโตเพราะการได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ปลั๊กไฟ ของมีคม ของที่จะทำให้เกิดอันตราย ต้องแยกออกไป

         14. ทำความเข้าใจพื้นอารมณ์ (Temperament) ของลูก เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนขี้โมโห บางคนขี้อาย บางคนกล้าที่จะแสดงออก ยอมรับความเป็นตัวเขาแล้วค่อย ๆ พาเขาพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ทุกคนยอมรับ การฝืนและบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการทันที จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และไม่สามารถที่จะเรียนรู้สิ่งที่เราอยากให้เป็นได้

         15. มีความคงเส้นคงวา ตอบสนองต่อเด็กอย่างชัดเจนและในทัศนะท่าทีแบบเดิมต่อพฤติกรรมแบบเดิมของเด็ก ความคงเส้นคงวาของเราจะทำให้เด็กสามารถคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไม่สับสน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของเขา

         16. "จับถูก" อย่า "จับผิด" เพราะมนุษย์พัฒนาได้ดีจากจุดแข็ง ให้รางวัลในสิ่งที่เขาทำได้และเราอยากให้ทำ และต้องไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เขายังทำไม่ได้

         17. เป็นต้นแบบในการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ลูกเห็น และในจังหวะที่เหมาะที่ควร การสอนให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสอนได้ด้วยการทำให้เห็น ไม่ใช่สอนด้วยคำพูด

         18. ให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ เช่น เล่นกองทราย เล่นน้ำ (เวลาอาบน้ำ) เพราะช่วยบ่มเพาะสมองส่วนจินตนาการ

         19. ทำตัวของเราให้สนุกไปกับกิจกรรมของลูก เพราะการช่วยบอกเขาว่า "เรื่องของหนู น่าสนใจจริง ๆ" ทำให้เขาเกิดความมั่นใจ ซึ่งจะเป็นแรงเสริมต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก

         20. ทำทุกอย่างที่ว่ามาทั้งหมดด้วยความรัก และความเข้าใจในตัวเขา อย่าเอาลูกไปเทียบกับคนโน้นคนนี้ เพราะเขาก็คือเขา ไม่มีทางที่จะเหมือนคนอื่นไปทั้งหมด

           หวังว่าคงช่วยให้พ่อแม่เกิดความสบายใจว่า การพัฒนาสมองลูก การช่วยให้สมองของลูกมีความสดใสกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงเราเข้าใจหลักธรรมชาติ ของสมองเท่านั้นเอง








ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 วิธี เสริมพลังสมองเด็ก อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:07:42 7,004 อ่าน
TOP
x close