x close

เทคนิคนอนให้พอ แบบแม่ลูกอ่อน



เทคนิคพักผ่อนนอน(ให้)หลับแบบแม่ลูกอ่อน
(modernmom)
โดย : สีสาร

            คนเป็นแม่ลูกอ่อนมักจะหน้าตาหมอง ตาคล้ำดำ อาการเหล่านี้มักมาคู่กับความอ่อนเพลีย หากอยากให้อาการไม่พึงประสงค์นี้หายไป คุณแม่ต้องพยายามสร้างการนอนหลับคุณภาพแบบเต็มตาและเต็มตื่นให้กับทุกช่วงเวลาการนอนของตัวเอง

            เพราะมนุษย์ตัวเล็กที่เพิ่งเกิดมาเวลาหลับ เวลานอนยังไม่มีกลางวัน กลางคืนเหมือนผู้ใหญ่ ทุกเวลานาทีของทั้งกลางวันและกลางคืน จึงมีค่าสำหรับการหลับและการพักผ่อนของคุณเป็นที่สุด

ระหว่างวันของแม่ลูกอ่อน

            หาเวลางีบหลับเวลาที่ลูกหลับแล้ว แต่อย่าหลับยาวเกินครึ่งหรือ 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้คุณหลับยากในตอนกลางคืน และเวลาเหมาะที่คุณควรงีบแบบไม่กระเทือนการหลับช่วงกลางคืนคือช่วงบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น

            ถ้าเป็นสาวทำงานแม่ลูกอ่อน เป็นไปได้ช่วงพักกลางวันควรหาเวลางีบสั้นๆ สัก 10-15 นาที หรือถ้าเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน พอคุณสามีกลับมาบ้านสักพักอาจขอให้ช่วยดูลูก เพื่อให้คุณได้งีบหลับสักครึ่ง-1 ชั่วโมงก็ยังดี

            ถ้าการหาเวลางีบหลับกลางวันเป็นเรื่องที่คุณไม่สามารถล่ะก็ อย่างน้อยควรหาเวลานั่งผ่อนคลายในช่วงกลางวันให้ตัวเองแทนบ้าง

            ถ้าคุณเป็นคอกาแฟ ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1-2 แก้ว และแก้วสุดท้ายของวันควรห่างจากเวลาเข้านอนของคุณอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นพรุ่งนี้เช้าได้ตาโหล ป้อแป้ไม่มีแรงเลี้ยงลูกหรือทำงานแน่ค่ะ แต่ถ้าเป็นคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมตัวเองอยู่ ช่วงนี้ควรงดกาแฟไปก่อนดีกว่า

            จริงอยู่ว่าภาระที่ต้องทำทั้งเลี้ยงลูก ดูแลบ้าน หรือแม้กระทั่งทำงานจะดึงเรี่ยวแรงไปจนคุณรู้สึกอ่อนเพลียและพร้อมจะม่อยหลับไปได้ง่าย ๆ แต่เสียงร้องของเจ้าตัวน้อยก็พร้อมจะปลุกคุณจากการหลับได้ คืนหนึ่งไม่น้อยกว่า 2-3 ครั้ง ด้วยเหตุผลหิวนม มดกัด อึ ฉี่ ไม่สบายตัว ฯลฯ คุณแม่จึงควรมีทริครับมือกับการตื่นมาดูแลลูกในช่วงกลางคืนหน่อยค่ะ

มื้อดึก(ดื่น)กับตื่นของลูก

            พยายามให้สั้นและสงบ ยึดหลักนี้ไว้เลยไม่ว่าจะให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อมหรืออะไรก็ตาม (ถ้าให้นมจะให้สั้นยังไงก็ต้องให้ลูกอิ่มท้อง สบายตัวนะคะ) เพราะยิ่งคุณหลับยาก หลับช้าเท่าไหร่ เวลาการนอนของคุณยิ่งน้อยลง เพราะตื่นต่อไปของลูกไม่ได้เป็นพรุ่งนี้เช้าค่ะ

            ห้องหนู ห้องแม่ ห้องเดียวกัน จะตั้งเตียงลูกติดหรือใกล้ๆ กับเตียงพ่อแม่ ในตำแหน่งด้านเดียวกับที่แม่นอน หรือจะให้ลูกนอนเตียงเดียวกับคุณก็ได้ ถ้ามั่นใจว่าจะไม่เผลอนอนทับลูก (ข้อนี้ต้องตกลงกับคุณสามีก่อนนะคะ) เวลาลูกตื่นกลางดึกจะได้ไม่ต้องลุกเดินไปไกล

            นมแม่เวิร์คสุด ทั้งภูมิคุ้มกันให้ลูกและความสะดวกของแม่ ที่ไม่ต้องมานั่งกะ นั่งตวงนม หรือระวังเรื่องน้ำว่าร้อนไปไหม ให้ตัวเองตื่นเต็มตาจนหลับไม่ลงในที่สุด

            ติดไฟแสงสลัวอ่อน ๆ (dim light) ไว้ที่หัวเตียงลูก ตื่นมาจะได้ไม่ต้องมามัวงมหาสวิตซ์ไฟให้ตัวเองตาแข็ง ตาค้างหลับยากเปล่า ๆ

            อาจต้องพึ่งผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพื่อให้ลูกและคุณได้หลับยาว ๆ

            ผ่อนคลายยามให้นม ระหว่างอุ้มลูกให้นม ให้หลับตา หายใจเข้า-ออกลึก ๆ พยายามสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้ตัวเอง อย่าได้หยอกหรือชวนลูกเล่นเวลานี้เชียวค่ะ ไม่อย่างนั้นทั้งคุณและลูกจะไม่เป็นอันได้นอนแน่ และเมื่อเห็นว่าลูกม่อยหลับไปแล้ว ให้วางลูกลงนอนอย่างแผ่วเบานุ่มนวล ที่สำคัญเวลานี้ไม่ควรเปิดเพลงหรือเปิดทีวีเพราะหวังให้เป็นเพื่อนเชียวค่ะ

            ขอแรงคุณพ่อคนเก่ง ถ้าไม่อยากกวนพ่อทูนหัวในวันทำงาน อาจขอแรงพ่อให้นมดูแลลูกแทนในช่วงเช้ามืดของวันหยุดก็ได้ หรือถ้าต้องเลี้ยงลูกแบบลุยเดี่ยว ใน 1 สัปดาห์ควรหาคนมาช่วยดูแลลูกสักครั้งๆ ละ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนบ้าง

            สำหรับแม่ลูกอ่อนที่หัวถึงหมอนเมื่อไหร่ก็หลับได้แบบไม่ต้องพึ่งแกะก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าคุณเป็นประเภทมีอะไรมาขัดจังหวะการนอนแล้วเลิกคิดถึงเรื่องหลับต่อได้เลยล่ะก็ หลังตื่นมาจัดการดูแลลูกตามทริคที่เราบอกกันไปเรียบร้อยแล้ว ให้พยายามบอกตัวเองให้ผ่อนคลาย คลายกล้ามเนื้อแต่ละจุดตั้งแต่ปลายเท้าถึงสมอง ลบเรื่องที่คิดกวนใจออกไป จดจ่อกับลมหายใจเข้าและออกหรือนับถอยหลังจาก 100 ก็พอจะช่วยได้บ้าง

            ช่วงเวลาหลับไม่เต็มอิ่มเพราะลูกกวนจะอยู่กับคุณเพียงไม่นาน แล้วหลับฝันหวานของคุณก็จะกลับคืนมาพร้อม ๆ กับการเติบโตของลูก


            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคนอนให้พอ แบบแม่ลูกอ่อน อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14:50:49 10,481 อ่าน
TOP