x close

5 นาที ให้ลูกได้ไหม ?



5 นาที ให้ลูกได้ไหม ?
(Mother&Care)
เรื่อง : ชานาดู

          "ให้ 365 วันของลูกมีเสียงเล่านิทานเพียงวันละ 5 นาทีได้ไหม"

          เพราะ 365 x 5 = 1,825 นาที เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่พัฒนาลูกได้ สมองลูกได้ฝึกการได้ยิน ฝึกทักษะการใช้ภาษา ฝึกคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ แถมยังได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกันด้วย ดังนั้นอย่าได้มองข้ามการเล่านิทานให้ลูกฟังค่ะ

วิธีปฏิบัติ

ค้นหา

          มองหานิทานที่มีเนื้อน้อย ๆ เลือกใช้คำสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ โดยเลือกเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น ช้างน้อยอาบน้ำ กระต่ายแปรงฟัน แมวเหมียวกินนม เสือน้อยใส่เสื้อ หรืออื่น ๆ

จดจำ

          อ่านเรื่องราวในนิทานให้ขึ้นใจก่อน เพื่อจะได้นำมาเล่าเรื่องให้ลูกฟัง ซึ่งการเล่านิทานให้ลูกฟังจะแตกต่างจากการอ่านนิทานให้ลูกฟัง เพราะไม่ต้องใช้หนังสือ ใช้เพียงเสียงและสีหน้าท่าทางในการเล่าให้สนุกเท่านั้นเองค่ะ

บอกเล่า

          เล่านิทานให้ลูกฟังเพียงวันละ 5 นาที ถ้าเห็นลูกสนใจฟังต่อก็ให้เพิ่มเวลามากขึ้นเป็น 10-15 นาที

หยุดเล่า

          ถ้าเห็นว่าลูกไม่สนใจฟังเลยจริง ๆ ก็อย่าได้บังคับฝืนใจลูก หรือจับให้ลูกนั่งฟังนะคะ แต่ควรหยุดเล่านิทานไว้ก่อน แล้วหันมาเล่นสนุกให้ลูกอารมณ์ดีค่ะ

ใช้หนังสือ

          ถ้าเล่านิทานแล้วลูกไม่สนใจจริง ๆ หรือเกิดความไม่มั่นใจว่าจะเล่าให้ลูกฟังได้ตลอดรอดฝั่งก็ลองใช้ตัวช่วย คือ หนังสือนิทานมาจูงใจให้ลูกอยู่นิ่ง ๆ เพื่อจับจ้องรูปภาพต่าง ๆ ที่มีสีสัน และมีถ้อยคำในนิทานนะคะ

ทำเสียง

          ปกติเสียงอ่านมักฟังดูแข็ง ๆ มากกว่าเสียงพูด ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เสียงอ่านแข็งมากไป ก็ทำเสียงอ่านให้เป็นเสียงเล่า หรือเสียงพูดคุย ทำน้ำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ให้เป็นจังหวะ อย่าเปิดอ่านไปเรื่อยจนขาดชีวิตชีวาน่าเบื่อนะคะ

เลือกนิทาน

          เลือกที่เล่มใหญ่ ๆ หน้ากระดาษหนา ๆ ฉีกขาดได้ยาก แต่ผลิกเปิดอ่านได้ง่าย อาจเป็นหนังสือผ้า หนังสือลอยน้ำ หนังสือป๊อปอัพ Teether book หรือหนังสือยางฝึกกัด ก็ช่วยให้ลูกได้สัมผัสกับวัสดุหลากหลายมากขึ้นค่ะ

เตรียมพร้อม

Do

          คิดว่าการเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นการทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่สร้างความคุ้นเคยกับเสียงของพ่อแม่ ได้รู้จักกับหนังสือและการอ่าน ได้เห็นภาพ ได้สัมผัสเล่นกับหนังสือ

Don’t

          อย่าคิดว่าลูกยังเล็กยังฟังไม่รู้เรื่อง แต่ขอให้คิดว่าการเล่านิทานเป็นการส่งเสริมการได้ยินของลูก และเป็นการปูพื้นฐานให้ลูกรู้จักการอ่านในอนาคตดีกว่านะคะ







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.9 No.97 มกราคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 นาที ให้ลูกได้ไหม ? อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:31:41 2,421 อ่าน
TOP