x close

มาดูแลสุขภาพแม่ท้อง กับลูกน้อยในครรภ์กัน

ตั้งครรภ์

แม่ท้องกับลูกน้อยในครรภ์ (รักลูก)
โดย : ดาวาว

          การใส่ใจดูแลสุขภาพของแม่ท้องในช่วงตั้งครรภ์ หมายถึงความก้าวหน้าของการตั้งครรภ์ พัฒนาการที่ดีของลูกในท้อง รวมไปถึงสุขภาพที่ดีของคุณและลูกนับตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงหลังคลอดด้วย

3 เดือนแรก

          แม่ท้อง : น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เพราะแพ้ท้อง มีอาการตั้งแต่ช่วงที่ประจำเดือนขาดไปได้ 2 สัปดาห์เรื่อยมาตลอดช่วง 3 เดือนนี้

          ทารกในครรภ์ : หัวใจเริ่มเต้นเมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 8-9 สัปดาห์ แต่กว่าคุณแม่จะรู้สึกได้ก็เมื่อ 18 สัปดาห์ครึ่ง

เดือนที่ 4

          แม่ท้อง : หน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ มีเส้นดำที่กึ่งกลางท้อง หัวนมคล้ำและเส้นเลือดดำที่บริเวณเต้านมเห็นชัดขึ้น ช่วงปลายของเดือนจะรู้สึกว่าลูกดิ้น

          ทารกในครรภ์ : สัดส่วน รูปร่างเริ่มเหมือนทารกมากขึ้น กระดูกค่อย ๆ แข็งแรง อาจมองเห็นอวัยวะเพศได้ชัดเจนในบางคน ได้ยินเสียงพูดของพ่อแม่

เดือนที่ 5

          แม่ท้อง : หายใจไม่ค่อยอิ่มเพราะน้ำหนักท้องที่ต้องแบกมากขึ้น เอวขยาย ท้องลาย แสบหน้าอกเพราะน้ำย่อยจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา

          ทารกในครรภ์ : ระบบประสาท กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เริ่มได้ยินเสียง ลำตัวเริ่มมีขนอ่อน มีผม คิ้ว และไขเกาะตามตัว แยกรสขมกับหวานได้

เดือนที่ 6

          แม่ท้อง : น้ำหนักขึ้นสัปดาห์ละ 1/2 กิโลกรัม จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเริ่มเปลี่ยน ทำให้ปวดชายโครง ปวดหลัง เสียดท้องน้อยหากเปลี่ยนอิริยาบถทันที

          ทารกในครรภ์ : ขนาดลำตัวเริ่มได้สัดส่วนกับศีรษะ ดิ้นแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ได้ยินเสียงพ่อแม่หรือเพลงที่คุ้นเคย ถุงลมในปอดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รูจมูกเริ่มเปิด เริ่มฝึกการหายใจ

เดือนที่ 7

          แม่ท้อง : ท้องขยายใหญ่จนอุ้ยอ้าย อึดอัดไม่ว่าจะลุก ยืน เดิน นั่ง นอน ปวดปัสสาวะบ่อย ขี้ร้อน เหนื่อยง่าย บวมตามมือ หน้าข้อเท้า หลังเท้า

          ทารกในครรภ์ : อวัยวะต่าง ๆ ครบสมบูรณ์ น้ำหนัก 1,000 กรัม ยาว 35 ซม. สัดส่วนร่างกายเท่ากับทารกครบกำหนด เริ่มลืมตาฝึกการมอง หายใจเป็นจังหวะมากขึ้น

เดือนที่ 8

          แม่ท้อง : ปวดหน่วงเชิงกรานเวลาเดินหรือเปลี่ยนท่า ท้องตึงเพราะมดลูกซ้อมหดรัดตัว

          ทารกในครรภ์ : น้ำหนักประมาณ 1,500 กรัม ยาวประมาณ 40 ซม. ตาเริ่มกะพริบถี่ และเพ่งมองจุดสนใจ อวัยวะต่างๆ พัฒนาเกือบเต็มที่เหลือแต่ปอดที่ต้องรออีก 1 เดือน เริ่มกลับศีรษะลงเตรียมคลอด

เดือนที่ 9

          แม่ท้อง : น้ำหนักเพิ่มไม่มากหรือไม่เพิ่มเลย มดลูกหดรัดตัวแรงและบ่อยขึ้น มีตกขาวและน้ำนมน้ำเหลืองออกมามากขึ้น

          ทารกในครรภ์ : อวัยวะทุกส่วนสมบูรณ์เต็มที่ ตัวอ้วนกลมเต็มโพรงมดลูก น้ำหนักประมาณ 3,000 กรัม ความยาวประมาณ 50 ซม.

ตั้งครรภ์

ดูแลแม่ท้องพร้อมน้องน้อยในครรภ์

          เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างมีพัฒนาการที่ดี แม่ ท้องควรใส่ใจดูแลตัวเองในเรื่องหลัก ๆ เหล่านี้ค่ะ

         ใส่ใจกับการฝากครรภ์ เมื่อคุณรู้หรือสงสัยว่าจะได้ขึ้นแท่นเป็นแม่กับเขาแล้ว ควรรีบไปฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพราะคุณจะได้รับการตรวจร่างกายและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ได้ติดตามการเจริญเติบโตและความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกในท้อง เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง และให้ลูกคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรง คุณควรไปตามนัดทุกครั้ง เคร่งครัดในข้อแนะนำของคุณหมอและควรบันทึกการฝากครรภ์ของตัวเองไว้ด้วย เพื่อเตือนความจำและดูความเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติด้วยตัวเองในเบื้องต้นค่ะ

         บำรุงด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เพราะลูกในท้องต้องการอาหารในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ และแม่ต้องใช้อาหารเพื่อการทำงานของระบบในร่างกายที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น นอกจากต้องเป็นอาหารมีประโยชน์และหลากหลายแล้ว ควรเน้นอาหารประเภทโปรตีนให้มากค่ะเพราะเป็นสารอาหารสำคัญที่ลูกต้องนำไปใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ

         ระวังเรื่องน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่เหมาะสมของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดช่วง 9 เดือนนี้ควรขึ้นในระหว่าง 10-12 กิโลกรัม โดยในช่วง 3 เดือนแรกจะเพิ่มไม่เกิน 2 กิโลกรัม และช่วง 6 เดือนหลังอาจขึ้นเดือนละ 2 กิโลกรัม ที่ต้องมีเกณฑ์กำหนดกันชัด ๆ อย่างนี้ เพราะน้ำหนักที่ขึ้นมาก ๆ จะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพและอุปสรรคของการเติบโตที่ปกติของลูกในครรภ์และการคลอด โดยเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารหวานจัด เค็มจัด และเบรก ๆ อาหารประเภทแป้งไว้บ้างเท่านั้นก็พอค่ะ

         ฟิต ฟิต ออกกำลังกันหน่อย เพียงคุณออกกำลังก็ช่วยให้ลูกเติบโต แข็งแรงได้ เพราะระบบไหลเวียนเลือดของคุณจะทำงานเต็มที่ ขณะเดียวกันฮอร์โมนอะดรีนาลินที่หลั่งออกมาในช่วงต้นของการออกกำลังกายก็ช่วยให้ลูกกระปรี้กระเปร่าเหมือนได้ออกกำลังกายไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณแม่เองสบายเนื้อสบายตัว ไม่เครียด ระบบย่อยอาหารทำงานดี เจริญอาหาร และมีสารแห่งความสุข (Endorphin) หลั่งออกมา ทำให้ทั้งแม่และลูกมีความสุข อารมณ์ดี ประโยชน์มากมายขนาดนี้ คุณจึงควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกชนิดการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้แรงกระแทก เช่น เดิน ว่ายน้ำ โยคะ เป็นต้น และอย่าหักโหมจนเกินไป ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกเหนื่อย

         พักผ่อนอย่าให้ขาด คุณจะเหนื่อยและอ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ แต่ก็มีปัญหาอยู่ว่าการจะนอนให้หลับเป็นเรื่องยากสำหรับแม่ท้อง เพราะมีอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว เช่น ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย อึดอัด คอยกวนตัวอยู่ การอยู่ในท่าการนอนที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณรู้สึกสบาย ท่าที่เหมาะสมคือท่านอนตะแคงขา ข้างหนึ่งเหยียดตรง อีกข้างงอเข่า แล้วใช้หมอนรองระหว่างขาทั้งสองข้าง

         กระตุ้นพัฒนาการลูกในครรภ์ ช่วงที่อยู่ในครรภ์ เครือข่ายของระบบประสาทส่วนต่างๆ ของลูกเริ่มทำงาน และสามารถรับรู้และตอบสนองกับสิ่งกระตุ้นจากภายนอกท้องแม่ได้ โดยเฉพาะช่วงหลัง 4 เดือนไปแล้ว ทั้งคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาททำงานด้านต่าง ๆ ของลูกมีพัฒนาการได้ดังนี้ค่ะ

         ระบบประสาทด้านการมองเห็น ออกไปยืนรับแสดงแดดอ่อน ๆ นอกบ้านช่วงเช้าหรือบ่าย ควรเลือกแสงที่มีความสว่างไม่จ้าจนเกินไป

         ระบบประสาทด้านการได้ยิน พูดคุย ร้องเพลงกับลูกบ่อย  ๆ นอกจากช่วยพัฒนาระบบประสาทแล้ว ลูกยังได้รับสารแห่งความสุขที่หลั่งออกมาด้วย และช่วงเวลาที่เหมาะในการฟังเพลงควรเป็นช่วงหลังมื้ออาหารของแม่ เพราะช่วงเวลาที่แม่อิ่มจะเป็นช่วงที่ลูกตื่นตัวมากที่สุด การกระตุ้นพัฒนาการจะได้ผลเต็มที่

         ระบบประสาทด้านการสัมผัส ด้วยการลูบไล้สัมผัสหน้าท้องบ่อย ๆ โดยขณะที่สัมผัสควรร้องเพลงหรือพูดคุยไปด้วย ยิ่งถ้าทำในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำคุณจะได้สัมผัสเลยล่ะว่า เมื่อถึงช่วงเวลานั้นลูกจะมาดิ้นดุ๊ก ๆ รอคุณอยู่ที่หน้าท้องแล้ว



            




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาดูแลสุขภาพแม่ท้อง กับลูกน้อยในครรภ์กัน อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10:12:01 16,333 อ่าน
TOP