ษา วรรณษา แม่ใจแกร่งสู้ไม่ถอย แม้ลูกชายผจญ 3 โรค

ษา วรรณษา


แม่ใจแกร่งสู้ไม่ถอย แม้ลูกชายสุดรักผจญ 3 โรคขวางการเรียนรู้
(modernmom)
เรื่อง : ศิริพร / ภาพ : ธาร ธงไชย

           เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงได้เห็นข่าวคราวของคุณษา วรรณษา ทองวิเศษ มาอย่างต่อเนื่อง และคงรู้ดีว่าเธอเป็นอีกหนึ่งคุณแม่ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจที่มีทั้งหมดให้กับการเลี้ยงลูกชายสุดที่รัก น้องเซย์เดย์ วัย 6 ปี แต่หัวใจแม่คงแทบสลายเมื่อลูกเพียงคนเดียวต้องเจอถึง 3 โรคที่ขวางการเรียนรู้ คือ ออทิสติก LD (การเรียนรู้บกพร่อง) และสมาธิสั้น ฉบับนี้เราจึงนัดเจอเธอเพื่อขอสัมภาษณ์เจาะลึกเชื่อไหมคะว่าเธอคนนี้เข้มแข็งมากจนเราเองประหลาดใจ และนับถือในหัวใจความเป็นแม่ของเธอเลยค่ะ

ไม่มีสัญญาณปรากฏ

           เมื่อนั่งลงคุยกัน คำถามแรกที่เราสงสัยมานาน คือ ก่อนหน้านี้มีสัญญาณอะไรบ่งบอกมาก่อนหรือไม่ เพื่อให้คุณผู้อ่านท่านอื่น ๆ สังเกต แต่เนิ่น ๆ ซึ่งเธอบอกว่าไม่เคยมีสัญญาณใด ๆ ให้เธอได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเลย

           "ตอนตั้งท้องไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลยค่ะ ยังคิดว่าตัวเองโชคดีจังเพราะแพ้ท้องแค่ 2 วันเอง จนมาเดือนที่ 7 ที่ไปอัลตราซาวด์ตามปกติ ปรากฏว่าลูกกลับหัวพร้อมที่จะคลอดแล้ว คุณหมอก็ให้แอดมิดนอนดูอาการและตัดสินใจว่าจะเอายังไงดี พอรุ่งเช้าวันต่อมาก็ตรวจเจอรกเกาะต่ำอีก ผลคือถ้าเราไม่ตัดสินใจคลอดเลย หรือคลอดเองตามธรรมชาติ ก็จะเสี่ยงกับการเสียเลือดจากการคลอด จะอันตรายมาก อาจถึงชีวิตได้ ก็ต้องผ่าออกตอนนั้นเลย ซึ่งพัฒนาการของลูกก็เกือบสมบูรณ์แล้ว มีแค่พังผืดที่นิ้วที่ยังติดกันอยู่ แต่คุณหมอที่ทำคลอดบอกว่าปล่อยไว้ก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตัดแยกพังผืดออกเลย โตขึ้นค่อยผ่าตัดก็ได้

           หลังคลอดเซย์เดย์ปกติดีค่ะ ช่วงแรกยังดีใจเลยเพราะพัฒนาการของเขาเร็วมาก เกิดมาไม่กี่วันก็ลืมตา 4 วันก็คอแข็ง 4 เดือนคว่ำแล้ว แต่พออายุเกือบจะ 1 ปี เด็กคนอื่น ๆ เขาเริ่มอ้อแอ้ เริ่มจะพูดแล้ว แต่เซย์เดย์ยังไม่มีพัฒนาการตรงนี้ จนปีครึ่งถึงเริ่มอ้อแอ้บ้าง 2 ปี เริ่มพูดได้เป็นคำ ๆ ยังพูดยาว ๆ ไม่ได้"

ความผิดปกติเริ่มปรากฎ!!!

           ด้วยความเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลครอบครัว เธอยอมรับว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้ลูกเป็นแบบนี้ แต่ก็ต้องยกความดีความชอบให้ว่าการพบเจออาการผิดปกติได้นั้นมาจากการใส่ใจในพัฒนาการลูกอย่างจริงใจ และมีเวลาคุณภาพกับลูกอย่างแท้จริง

           "ที่เริ่มสงสัยเพราะษาอ่านคู่มือเลี้ยงเด็กเยอะมาก เราจะทราบว่าวัยนี้ควรมีพัฒนาการแบบไหน พอลูกไม่พูดก็เริ่มกังวล แล้วก็พูดเป็นภาษาต่างดาว คือเขารู้เรื่องคนเดียว คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง แล้วก็ติดเกม ติดการ์ตูน ด้วยความที่ษาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ให้คุณแม่เป็นคนเลี้ยงหลานและต้องดูแลบ้านด้วย ช่วงระหว่างวันเซย์เดย์จึงอยู่กับทีวีและคอมพิวเตอร์ อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ พัฒนาการด้านอารมณ์รอคอยไม่ค่อยได้ อยากได้ต้องได้ทันที เรียกชื่อไม่หัน พูดด้วยแล้วไม่ฟังทำตรงข้ามสิ่งที่บอก พอทำอะไรไม่ได้ก็ขว้างของให้พัง เรียกว่ามีครบอาการเด็กดื้อ เลยเข้าใจว่าลูกดื้อ ก็กลุ้มใจมาก ว่าจะทำยังไงดี พยายามหาวิธีจัดการปัญหาพร้อมกับจัดการตัวเราเองด้วย เพราะษาเองก็เป็นคนที่อารมณ์ร้อนมากแต่นั่นก็เป็นความคิดเราคนเดียวว่าเป็นเพราะลูกดื้อ แต่วันที่ลูกเข้าโรงเรียน วันแรกของการไปโรงเรียนคุณครูทักว่า น้องผิดปกติหรือเปล่าคะ มีอาการแปลก ๆ เช่น เล่นกับเพื่อนแรงผิดปกติ ถ้าไม่ได้ดั่งใจก็จะทำกับเพื่อนแรง ๆ จากนั้นก็พาลูกไปตรวจ"

น้องเซย์เดย์ ลูกชาย ษา วรรณษา

เด็กพิเศษ & อัจฉริยะ แค่เส้นบาง ๆ กั้น

           แล้วสิ่งที่เธอภาวนาว่าอย่าเป็นจริงก็กลับเกิดขึ้น แถมมาทีเดียวถึง 3 โรคด้วยกัน

           "หลังจากตรวจก็พบว่าน้องเป็น 3 โรค คือ มีอาการออทิสติกเป็นหลักอาการ LD คือ ความสามารถในการเรียนรู้บกพร่อง แล้วก็สมาธิสั้น ส่วนของอาการออทิสติกต้องรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง ถ้าลูกจะกลับเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัว เล่นคนเดียวก็ต้องพยายามดึงเขาออกมา เวลาเล่นทุกครั้ง ต้องมีเงื่อนไขว่าเล่นได้นานเท่าไหร่ แล้วตัวเราเองก็ต้องอยู่ด้วย แล้วพูดคุยกับลูก ไม่ให้เขาอยู่คนเดียวกับสิ่งนั้นนาน ๆ หากจะดูทีวีก็ดูด้วยกัน แล้วก็ชวนคุยด้วยตลอด

           เรื่องของ LD ยังไม่มีอาการเยอะไม่น่าห่วงมาก เซย์เดย์จะเขียนหนังสือกลับหัว แต่พอบอกว่าเขียนแบบนี้มันผิด แล้วถ้าหนูยังจะเขียนอย่างนี้อยู่หนูก็ต้องลบแล้วแก้ใหม่ กระดาษก็จะขาด ซึ่งเขาเป็นคนที่กลัวกระดาษขาดมาก เขาก็จะแก้เขียนให้ถูก ส่วนเรื่องคำนวณษาก็ใช้วิธีเอาของมาให้เขาเห็น อันนี้เป็นเทคนิคที่คุณครูที่คลินิกที่น้องไปรักษาแนะนำมา คือเซย์เดย์เป็นคนที่พอเห็นแล้วจะจดจำได้ง่ายกว่าบอกให้เขาท่องจำ เช่น เอาสิ่งของมา 3 อย่าง แล้วพอบอกว่า 2 + 1 แล้วได้เท่าไหร่ เขาก็จะเข้าใจ

           ส่วนอาการสมาธิสั้นคุณหมอบอกว่าต้องกินยาอย่างน้อย 2 ปี แล้วเมื่อโตขึ้นเขาก็จะสมาธิดีขึ้นเรื่อย ๆ นิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ที่ช่วยได้อีกวิธีก็คือเรื่องของดนตรีและศิลปะ ซึ่งษาวางแผนไว้แล้วว่าพอเขาเริ่มดีขึ้นเราจะไปดึงความอัจฉริยะของเขาออกมา

แม่คือต้นแบบของลูกในทุกเรื่อง

           ตลอดเวลาของการเล่าแววตาของคุณแม่คนแกร่งจะเปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตที่เธอกำลังเล่าถึงค่ะ อย่างตอนที่เล่าถึงว่า ลูกมีอาการของ 3 โรค พร้อมกัน ตาเธอก็เศร้าลงไปถนัดใจ หรือเวลาที่พูดว่าลูกมีสิทธิ์เป็นอัจฉริยะ แววตาเธอมีความหวังขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเล่าถึงช่วงเวลาของการรับมือ แววตาก็มีความหวังของการเป็นนักสู้อย่างเห็นได้ชัด

           "ษาสังเกตว่าถ้าเราทำอย่างไรเขาก็จะทำอย่างนั้น เราก็เลยได้คำตอบกับตัวเองว่า ถ้าเราใจร้อน เราไม่สู้ ลูกก็จะเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นอยากให้ลูกเป็นแบบไหนเราต้องทำแบบนั้น เวลาที่ลูกดื้อมาก ๆ ษาก็จะนั่งลงคุยกับลูกดี ๆ นับ 1 2 3 4 5 ในใจ นับเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายโกรธ ถ้าไม่ไหวก็จะเดินขึ้นห้อง ไปสงบสติอารมณ์ พอดีขึ้นก็เดินลงมาเล่นกับลูก แต่จะไม่เกรี้ยวกราดกับเขา เพราะไม่อยากให้เขาเป็นแบบนั้น

           ตอนนี้ษาสะกดคำว่า "ท้อ" ไม่เป็นแล้วค่ะ เหนื่อยก็มีตามธรรมดา เคยร้องไห้กับแม่เหมือนกัน บ่นกับแม่ว่าเหนื่อยมาก ร้องไห้กอดแม่ แม่ก็ปลอบลูบหัวแล้วบอกว่า เหนื่อยเหรอลูก หยุดงานไหม เดี๋ยวแม่โทรไปลาให้ แต่เมื่อได้ร้องไห้ ได้ระบายออกไปก็รู้สึกดีขึ้น แล้วก็มานั่งคิดว่าถ้าหยุดงานไปรายได้ก็จะหาย แม่กับลูกต้องใช้แบบกระเบียดกระเสียน ษาอยากให้แม่กับลูกอยู่สบายก็เลยไม่หยุด บางครั้งแม่ก็จะบอกเซย์เดย์ให้ว่า ษาเหนื่อยมากเลยทำไงดี ลูกก็จะเข้ามากอด มาหอมแค่นี้พลังกลับมาแล้ว ก็มาทำงานต่อ"

กำลังใจจากวรรณษาสู่แม่เด็กพิเศษ

           ก่อนจบการสนทนาษาได้ฝากคำแนะนำและกำลังใจมาสู่คุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษท่านอื่น ๆ ด้วยนะคะ

           "อันดับแรกคุณต้องยอมรับให้ได้มากที่สุด อดทนที่สุด สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจของแม่ ถ้าใจเราเข้มแข็งก็จะผ่านไปได้ ทำใจเราให้มีความสุขที่สุด เขาเป็นของขวัญของคุณนะคะ คุณก็ต้องทำของขวัญชิ้นนี้ให้ดีที่สุด ลองถามตัวเองดูสิว่าถ้าคุณได้ของขวัญนี้มา แล้วทำกล่องของขวัญยับยู่ยี่ คุณคงบอกตัวเองว่าฉันไม่น่าทำอย่างนี้เลย แล้วก็ไม่สามารถเอากลับมาให้มันสวยงามได้แล้ว แต่ถ้าคุณได้กล่องของขวัญมา ค่อย ๆ เปิดดูว่าข้างในมีอะไร ค่อย ๆ หยิบมาใช้ ของขวัญนั้นก็จะสวยงามอยู่เสมอ แล้วถ้าคุณไม่เห็นคุณค่าของขวัญของคุณ ไม่เห็นว่ามันสวยงาม คนอื่นก็จะไม่เห็นค่าเหมือนกัน แล้วของขวัญคุณก็จะเสียใจ เพราะเขาก็มีหัวใจ"

           เห็นไหมคะว่าคุณแม่คนนี้เธอหัวใจแกร่งจริง ๆ และเราก็อยากจะให้กำลังเธอ รวมทั้งคุณแม่ทุกท่านที่ต้องเชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยนะคะ

Expert Advice

           สถิติเด็กที่เป็นออทิสติกมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน ตัวเลขอยู่ที่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ พอมา 10 ปีที่แล้ว ตัวเลขก็เพิ่มเป็น 0.6 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 1.1 ระบุสาเหตุได้แน่ชัดว่าเพราะอะไร

           การฝึกเด็กออทิสติก สมาธิสั้นทั่วไป ต้องเริ่มจากการตรวจประเมินก่อนว่าเด็กมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้ไขตามอาการนั้น สำหรับอาการสมาธิสั้น นั่งอยู่กับที่นิ่ง ๆ ไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับการเรียน เพราะหากไปเรียนหนังสือก็ต้องนั่งเรียนที่โต๊ะ เราจึงฝึกน้องด้วยการที่ว่าเมื่อจะทำกิจกรรม เราจะให้เขานั่งที่โต๊ะ แล้วทำกิจกรรมนั้นให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ หากยังไม่สำเร็จก็จะไม่เริ่มกิจกรรมต่อไป ฉะนั้นต้องมีสมาธิ พยายามนั่งลงทำสิ่งตรงหน้าให้สำเร็จ เพื่อไปเจอกับของเล่นหรือกิจกรรมใหม่ ๆ บ้าง หลังจากฝึกฝนก็มีสมาธิมากขึ้นสามารถทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจนเสร็จ มองหน้า สบตา มองงานที่ทำได้

           ส่วนอาการที่เขียนหนังสือไม่ได้ หรือเขียนกลับหัว เราจะฝึกด้วยการให้ใช้จินตภาพ เพราะสามารถจำเป็นภาพได้ดีกว่าการจำเป็นตัวอักษร วิธีฝึกก็คือ เราจะเขียนตัวหนังสือหรือตัวเลขไปที่แผ่นหลัง แล้วให้เขาจินตภาพว่าตัวเลขที่เขียนเป็นยังไง เริ่มต้นการเขียนยังไง หันไปทางไหน แล้วให้จำภาพนั้นไว้ เพื่อที่เวลาจะต้องเขียนจะได้เขียนได้ถูกต้อง ส่วนสำคัญในการรักษาก็คือครอบครัว ที่ต้องเข้าใจเด็ก แล้วนำสิ่งที่เราฝึกไปฝึกต่อที่บ้าน ต้องไม่ลืมว่าครอบครัวคือคนที่จะอยู่กับเด็กมากที่สุด และใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เรียกว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษาก็ว่าได้



            



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

Vol.17 No.204 ตุลาคม 2555

- Happy Home Clinic ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ โทร. 0 2835 3537


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ษา วรรณษา แม่ใจแกร่งสู้ไม่ถอย แม้ลูกชายผจญ 3 โรค อัปเดตล่าสุด 12 ธันวาคม 2555 เวลา 14:57:14 17,502 อ่าน
TOP
x close