x close

7 เคล็ดลับดับกังวล ช่วงตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

7 เคล็ดลับดับกังวล (รักลูก)
เรื่อง : เพียงขวัญ

           ความวิตกกังวลต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องธรรมดาของคุณแม่ท้อง แต่คงไม่ดีแน่ หากปล่อยให้ความรู้สึกนี้ก่อตัวมากจนส่งผลเสียต่อสุขภาพค่ะ

1.คุณแม่กังวลว่า : ลูกในท้องจะไม่แข็งแรง

           เคล็ดลับดับกังวล : ดูแลเรื่องอาหารการกิน ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์พอดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้คุณแม่แข็งแรงและคลอดง่าย แล้วยังส่งผลให้การหมุนเวียนโลหิตของลูกน้อยดีไปด้วย ทำให้ลูกแข็งแรงเติบโตได้ดี รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อลูก เช่น เลิกดื่มเหล้า และเลิกสูบบุหรี่ ฯลฯ เพียงเท่านี้คุณแม่และคุณลูกก็จะแข็งแรงแล้วค่ะ

2.คุณแม่กังวลว่า : แพ้ท้องมากไปไหม

           เคล็ดลับดับกังวล : ช่วง 3 เดือนแรก หากคุณแม่แพ้ท้องไม่มาก อาจแก้ไขด้วยวิธีปรับพฤติกรรมการกินอาหาร อย่างเช่นแบ่งอาหารเป็นหลาย ๆ มื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน ไม่ปล่อยให้ท้องว่างหรือหิวมากจนเกินไป ดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ เป็นต้น แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการแพ้มากควรไปหาคุณหมอค่ะ

3.คุณแม่กังวลว่า : จะไม่สวยเหมือนเดิม

           เคล็ดลับดับกังวล : แม้จะไปเสริมสวยได้ไม่ครบสูตรเหมือนก่อน แต่คุณแม่ก็สามารถดูแลความงามตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าได้เหมือนเดิมค่ะ เช่น การเลือกทรงผมที่ทำให้คุณแม่รูสึกมั่นใจและง่ายต่อการดูแล รักษาความสะอาดของเส้นผมอยู่เสมอ ดูแลผิวพรรณไม่ให้แห้งกร้านและแตกลาย ด้วยการทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวเป็นประจำ หลีกเลี่ยงแสงแดดเพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอยและความหมองคล้ำ ที่สำคัญคือ ไม่ใช้สารเคมีที่อาจเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจส่งผลต่อลูกน้อยได้ค่ะ

           ส่วนรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็เป็นเพียงแค่ชั่วคราว คุณแม่ไม่ควรกังวลมากไป เพราะหลังคลอดแล้วน้ำหนักก็จะค่อย ๆ ลดลง ยิ่งคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยิ่งสบายใจได้ หรือคุณแม่จะออกกำลังกายเพื่อช่วยให้น้ำหนักลดเร็วขึ้นอีกก็ได้ แต่ตอนนี้ทำใจสบาย ๆ ไปก่อนดีที่สุดค่ะ

4.คุณแม่กังวลว่า : ความสัมพันธ์กับคุณพ่อจะเปลี่ยนไป


           เคล็ดลับดับกังวล : ข้อนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความกังวลเรื่องรูปร่างด้วยส่วนหนึ่ง รวมทั้งเป็นห่วงลูกในท้องจนไม่อยากจะกุ๊กกิ๊กกับคุณพ่อ การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยทั้งการพูดคุยกัน และการสังเกตจากคุณพ่อด้วยค่ะ

          การตั้งครรภ์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่ แต่หากได้รับการดูแลจากคุณพ่อเป็นอย่างดีตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด โดยเฉพาะเรื่องจิตใจ ก็จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพดีทั้งกายใจ และไม่กระทบกับความสัมพันธ์

          ส่วนเรื่องกุ๊กกิ๊กกันคุณหมอแนะนำว่า ช่วงที่ค่อนข้างปลอดภัยคือไตรมาสที่ 2 แต่ต้องไม่รุนแรง และคุณแม่ต้องไม่มีความเสี่ยงต่อภาวการณ์แท้ง เช่น มีประวัติแท้งบ่อย ๆ หรือมีภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งหากไม่แน่ใจควรปรึกษาคุณหมอนะคะ

5.คุณแม่กังวลว่า : งานในหน้าที่จะมีปัญหาและกระทบค่าใช้จ่าย


           เคล็ดลับดับกังวล : ช่วงท้องอ่อน ๆ ก็แพ้ท้อง ผ่านไปหลายเดือนท้องใหญ่มากขึ้นก็ยิ่งทำอะไรไม่สะดวก โดยเฉพาะคุณแม่ working mom อาจจะรู้สึกว่าทำงานได้ไม่เต็มที่เหมือนเคย หรือไม่เท่าที่ใจต้องการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง

          คุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมเรื่องของเศรษฐกิจในครอบครัว เตรียมรับมือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการคลอด การเลี้ยงดูลูกในอนาคตได้ โดยการใช้หลักคิดและปฏิบัติแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เลี้ยงลูกแบบฟุ่มเฟือยก็ไม่ต้องกังวล เพราะความจริงแล้วการเลี้ยงลูกไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายแพงมาก หากรู้จักใช้และบริหารเงิน เช่น เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เลือกใช้ของที่มีคุณภาพแต่ราคาไม่สูงจนเกินไป ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียวค่ะ

          เรื่องหน้าที่การงาน คุณแม่ควรพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานและทางบริษัท ว่าจะมีวิธีบริหารจัดการงานในส่วนที่คุณแม่ต้องรับผิดชอบอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่คุณแม่ลาคลอดเชื่อว่าการวางแผนที่ดี จะช่วยลดปัญหาและความกังวลใจของคุณแม่ได้ค่ะ

6.คุณแม่กังวลว่า : จะคลอดอย่างไร เลี้ยงอย่างไร จะเป็นแม่ที่ดีได้ไหม

           เคล็ดลับดับกังวล : คุณแม่ควรเตรียมหาข้อมูลเรื่องการคลอด การเลี้ยงลูกหลังคลอดไว้ก่อนตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งถือเป็นการวางแผนชีวิตที่ช่วยลดความกังวลและลดปัญหาได้เยอะเลยค่ะ โดยอาจปรึกษาคุณหมอเรื่องการคลอด ทั้งเรื่องสถานที่หรือรูปแบบการคลอด ค่าใช้จ่ายของการคลอด สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีที่ใช้ประกันสังคม เป็นต้น

          นอกจากนี้ ควรเตรียมความพร้อมเรื่องของการเลี้ยงดูลูกโดยอาจเตรียมตัวเข้าคอร์สการเลี้ยงลูกสำหรับพ่อแม่มือใหม่อ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมทั้งวางแผนว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้อย่างลงตัว และสมดุล โดยเฉพาะคุณแม่ working mom ที่ต้องกลับไปทำงานหลังจากครบกำหนดคลาคลอด

7.คุณแม่กังวลว่า : จะเป็นโรคซึมเศร้า

          เคล็ดลับดับกังวล : ทางการแพทย์พบว่า โรคนี้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องวางแผนครอบครัวตั้งแต่ต้น และมีลูกเมื่อพร้อม เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ต้องดูแลสุขภาพทั้งกายใจให้ดีตั้งแต่ต้นด้วยการไปฝากครรภ์ หากมีปัญหาที่รบกวนจิตใจก็ควรปรึกษาคุณหมอ

          หากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางจิตเวช หรือโรคที่กระทบต่อการตั้งครรภ์ก็ควรรักษาให้หายก่อนที่จะตั้งครรภ์ เช่น ธัยรอยด์ เบาหวาน เพราะบางโรคเมื่อท้องอาการจะกำเริบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้วิตกกังวลมากขึ้นจนอาจเกิดอาการซึมเศร้าได้ค่ะ

          ช่วงหลังคลอดคุณพ่อและคนรอบข้างควรดูแลคุณแม่อย่างต่อเนื่อง หรืออาจต้องมากกว่าตอนตั้งครรภ์เสียอีกนะคะ เพราะบางครั้งทุกคนมุ่งความสนใจไปที่เจ้าตัวเล็กเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายใจของคุณแม่ได้ค่ะ
และคนสำคัญที่สุดก็คือ ตัวคุณแม่เอง ทำใจให้สบายไม่วิตกกังวลมากจนเกินไป แล้วรอรับของขวัญพิเศษคือ เจ้าตัวน้อยอย่างมีความสุขดีกว่าค่ะ



            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 358 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 เคล็ดลับดับกังวล ช่วงตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:56:15 1,968 อ่าน
TOP