4 พัฒนาการ ที่แม่ควรส่งเสริม (Mother&Care)
เมื่อเข้าสู่วัยเตาะแตะ หนูน้อยเริ่มช่วยเหลือตัวเองเก่งมากขึ้น เริ่มซนและอยากรู้อยากเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ลองมาทำความรู้จักกับโลกของลูกวัยเตาะแตะ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้เข้าใจและส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยในวัยนี้ได้อย่างถูกต้องค่ะ
1.เคลื่อนไหวได้เก่ง
เด็กวัยเตาะแตะมีพัฒนาการทางร่างกายที่เห็นได้ชัด คือ กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น สามารถเดินได้คล่องขึ้น หรือเริ่ม หัดวิ่ง ควบคุมการใช้มือและแขน หยิบสิ่งของได้ถนัด ใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาศัยความละเอียดอ่อนหรือทักษะมากกว่าเดิม การเรียนรู้ของเด็กวัยนี้เกิดจากการ ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ลูกจะได้เรียนรู้จากการฝึกฝนบ่อย ๆ ดังนั้น จึงควรเล่นกับลูกบ่อย ๆ เพราะการเล่นจะช่วยพัฒนาทั้งร่างกายและสติปัญญาของเด็กวัยนี้ได้ดี รวมถึงเด็กจะได้ฝึกฝนการใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำงานร่วมกันด้วย
ส่งเสริมได้อย่างไร
หากิจกรรมช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกเดินบ่อย ๆ เช่น ปรบมือแล้วให้ลูกเดินมาหาตามเสียงปรบมือ
ให้ลูกเล่นออกกำลัง เช่น วิ่งเล่น เตะบอล เดินทรงตัว ขี่จักรยาน เคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลง
การเล่นดินน้ำมัน หรือแป้งปั้น จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกที่ได้ปั้นเป็นรูปต่าง ๆ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กจากการปั้นและฝึกการใช้จินตนาการด้วย
ทำหุ่นนิ้วมือเป็นรูปต่าง ๆ เช่น สัตว์ ดอกไม้ แล้วเล่นกับลูก การเล่นหุ่นนิ้วจะช่วยพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เพิ่มทักษะในการใช้นิ้วและควบคุมการใช้นิ้วมือได้ดีขึ้น
2.หนูเรียนรู้ได้ดี
กลไกการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวของเด็กวัยนี้ จะผ่านการฟังและการได้ยิน พัฒนาเป็นการสื่อสารและความเข้าใจ เมื่อพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยให้สมองเกิดการจดจำความหมาย คำศัพท์จากประโยคที่ได้ยิน แม้ในช่วงแรกลูกอาจจะยังไม่สามารถโต้ตอบเป็นคำพูดได้ แต่ลูกจะใช้การยิ้ม ใช้ท่าทางเข้าช่วย เช่น พยักหน้าตอบกลับเมื่อคุณแม่ถาม เป็นต้น
เมื่อโตขึ้น ลูกจะสามารถเรียนรู้เรื่องสิ่งของหรือพฤติกรรมของคนรอบข้างได้มากขึ้น เช่น เรียกชื่อผลไม้ แยกวัตถุ สิ่งของ หรือเสียงต่าง ๆ ได้ เช่น แยกเสียงสุนัขหรือแมวได้ เป็นต้น
ส่งเสริมได้อย่างไร
วิธีที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีที่สุด คือการที่คุณพ่อคุณแม่ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูก ช่วยให้คำแนะนำ และแสดงให้ดูว่ากิจกรรมเหล่านั้นทำอย่างไร
ในช่วงแรกเด็กจะยังไม่เข้าใจความหมายบางคำ แต่เขาจะพยายามเดาจากประโยคทั้งหมด อย่าพูดกับลูกโดยไม่มองหน้าเพราะเด็กต้องการความสนใจ บางครั้งอาจใช้ท่าทางประกอบการพูดเพื่อให้ลูกเข้าใจได้เร็วขึ้น เช่น พูดว่า "ไปแปรงฟันกันนะลูก"พร้อมกับหยิบแปรงสีฟันชูให้ดู เป็นต้น
ร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อย ๆ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นอาจซื้อของเล่นที่เป็นเครื่องดนตรีให้ เช่น เปียโน กลอง เพื่อให้ลูกได้เล่นดนตรี ตามแบบของเขาเอง และหากคุณพ่อคุณแม่ร่วมร้องเพลงและเล่นไปกับเขาด้วย ก็จะทำให้ลูกรู้สึกสนุกยิ่งขึ้น
จัดกิจกรรมที่ลูกจะได้สื่อภาษา เช่น ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง เล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกให้มากในทุก ๆ ช่วง และทุกกิจกรรมที่ได้อยู่กับลูก เพื่อให้ลูกได้เห็นตัวอย่างการใช้ภาษา ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ภาษาและรับฟังในสิ่งที่ลูกพยายามสื่อสารทุก ๆ เรื่อง และตอบคำถามทุกเรื่อง ที่ลูกถามโดยไม่แสดงท่าทีหรือมีน้ำเสียงที่รำคาญ จะทำให้ลูกกล้าที่จะพูดมากขึ้น
หากระดาษและสีไว้ให้ลูกได้วาดรูประบายสี ขีด ๆ เขียน ๆ เล่นตามใจ เป็นการฝึกใช้จินตนาการ
3.หนูอยากมีส่วนร่วม
การเข้าสังคมของลูกวัยเตาะแตะทำได้โดยผ่านการเล่น เช่น คุณแม่พาไปเล่นกับเพื่อนบ้าน หรือพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น จะช่วยลดความขี้อาย สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน แก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ รวมทั้งสอนให้รู้จักควบคุมอารมณ์โกรธ และพฤติกรรมต่อต้านสังคมด้วย
หากเด็กมีเพื่อนสนิท เขาก็จะได้เรียนรู้ที่จะรักคนอื่น เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักการให้ และรู้จักนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น
ส่งเสริมได้อย่างไร
พาลูกไปเล่นนอกบ้านกับเด็กคนอื่นๆ เมื่อเด็กทะเลาะกัน คุณแม่ไม่ควรเข้าข้างหรือตำหนิลูกก่อน ควรถามลูกถึงสาเหตุที่ทะเลาะกัน และสอนลูกว่าควรทำอย่างไร นอกจากนี้ คุณแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักการขอโทษและการให้อภัยผู้อื่นด้วย
พาไปร่วมกิจกรรมที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น เมื่อไปทำธุระต่าง ๆ หากต้องรอนานก็เล่าให้ลูกรู้ว่ากำลังทำอะไร ทำไมจึงต้องรอ จะทำให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้การรอคอยและเคารพสิทธิผู้อื่น
ให้ลูกเรียนรู้บทบาทการเป็นผู้ให้และผู้รับที่ดี เช่น สอนให้ลูกแบ่งปันของเล่นหรือขนมให้เพื่อน สอนให้ลูกให้อาหารสัตว์ เมื่อได้รับของจากผู้อื่นก็ต้องขอบคุณ เป็นต้น
4.เข้าใจหนูหน่อยนะ
ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเอาแต่ใจตัวเอง ซน และยังสื่อสารบอกความต้องการของตนเองได้ไม่ดีนัก จึงพบพฤติกรรมร้องอาละวาดได้บ่อยในเด็กวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ได้โดยต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของลูก ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และส่งเสริมให้ลูกมีอารมณ์ที่มั่นคง
ส่งเสริมได้อย่างไร
เลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ความเข้าใจ ใช้การโอบกอดและสัมผัสเสมอ และถ้าลูกสนใจสิ่งใด พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ เข้าใจและยอมรับ คอยให้คำแนะนำ ไม่ตำหนิหรือลงโทษ และระวังในเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดี จะช่วยสร้างความไว้วางใจ รู้สึกว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง และทำให้ลูกรู้สึกว่า ตัวเองเป็นที่รัก
หากิจกรรมที่ลูกได้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เล่านิทาน การฟังเพลง การเล่นตุ๊กตาหรือของเล่น การวาดรูป จะช่วยให้ลูกจะได้ใช้จินตนาการและฝึกการใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
ฝึกให้เด็กบอกความรู้สึกของตนเอง พ่อแม่จะต้องรับฟังอย่างสนใจและเข้าใจในความรู้สึกของลูก จะช่วยปลูกฝังให้เด็กไม่เก็บกดความรู้สึกเอาไว้และป้องกันไม่ให้ใช้วิธีระบายออกที่รุนแรง เป็นพื้นฐานไปสู่การจัดการความรู้สึกตนเองได้อย่างถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก