x close

5 อาการไอของลูกน้อย ที่คุณแม่ควรรู้

แม่และเด็ก

5 อาการไอของลูกน้อยที่คุณแม่ควรรู้
(Mother&Care)
เรื่อง แม่ออมจัง ภาพ กณวรรธน์

           อาการไอในเด็กวัยเตาะแตะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย หากคุณแม่สังเกตอาการดี ๆ จะรู้ได้ถึงสาเหตุของอาการไอในแต่ละแบบ เพื่อให้คุณแม่รู้ทัน ดูแลอาการไอได้เอง โดยเบื้องต้นมาดูข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ


5 อาการไอแบบต่าง ๆ

1.ไอจากไข้หวัด

           หมายถึงอาการไอที่เกิดหลังจากหวัด มาจากการติดเชื้อไวรัสในอากาศ ฉะนั้น ถ้าลูกน้อยเป็นหวัด อาจทำให้ลูกมีไข้ น้ำมูกไหล กระตุ้นให้เกิดอาการไอ ระคายคอได้ ส่วนใหญ่เมื่ออาการหวัดของลูกหายไป (ภายใน 2-3 สัปดาห์) อาการไอก็จะหายไปด้วยค่ะ

2.ไอมีเสมหะ

           มักจะมีเสมหะไหลลงคอหรือมีอาการอักเสบที่คอร่วมด้วย ถ้าคออักเสบมากก็ยิ่งกระตุ้นให้ไอได้ง่าย การสังเกตลักษณะเสมหะจะช่วยให้คุณแม่วินิจฉัยได้ว่าเกิดจากอะไรค่ะ เช่น เสมหะมีสีเหลืองเขียวเกิดจากการติดเชื้อ อักเสบเป็นไซนัสเสมหะจะใส หรือหากมีสีขาวขุ่นอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ เป็นต้น

           เพื่อความมั่นใจและการดูแลตามอาการอย่างเหมาะสม คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปตรวจร่างกาย เช็กว่าเกิดจากอาการอักเสบเป็นไซนัสหรือเป็นอาการไอที่เกิดจากภูมิแพ้ หอบหืดค่ะ

3.ไอแห้ง ๆ

           เป็นอาการไอที่ไม่มีเสมหะปนอยู่ด้วย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ช่วงหน้าหนาว เป็นเหตุให้เกิดอาการระคายเคืองในหลอดลมจมูก ร่างกายต้องปรับตัวให้เลือดมาเลี้ยงที่เยื่อบุจมูกมากขึ้น ทำให้เยื่อบุจมูกบวม เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเล็กน้อย รู้สึกระคายคอ ไอแห้ง ๆ หรือไม่ก็ทำให้เสียงแหบ

4.ไอเรื้อรัง

           สังเกตได้ว่ามีอาการไอนานกว่า 3 สัปดาห์ ส่วนสาเหตุก็มีหลายเหตุผล เช่น เป็นโรคหอบหืด ลักษณะการไอจะไอติดต่อเป็นชุด ๆ หรือเกิดจากหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ถือเป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือสิ่งกระตุ้น เช่น กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ ควันธูป ควันจากมลพิษ ก็กระตุ้นให้เกิดการไอได้

5.ไอระคายคอ

           อาจเกิดขึ้นได้จากความซุกซน นึกสนุก ทำเสียงดัง ๆ ตะโกนเก่ง ๆ ของเจ้าตัวเล็ก ก็มีสิทธิ์ทำให้เกิดอาการไอ ระคายคอได้ง่าย ๆ เช่นกันนะคะ

การดูแลบรรเทาอาการไอ

           ดื่มน้ำบ่อย ๆ ไม่ควรเป็นน้ำเย็นหรือร้อน ควรเป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น จะช่วยให้ชุ่มคอ หรืออาจลองสูตรสมุนไพรในครัวใช้น้ำมะนาวมาผสมกับน้ำผึ้ง ให้ลูกจิบบ่อย ๆ ก็ช่วยบรรเทาลดอาการไอได้ดีไม่น้อยค่ะ

           เลี่ยงสถานที่มีคนอยู่เยอะหรือที่ที่มีมลพิษ เช่น ฝุ่น ควันพิษจากท่อไอเสีย เพราะมีโอกาสที่จะรับเชื้อโรค หรือกระตุ้นให้เกิดอาการไอได้ง่าย

           อาหารประเภทของทอดของมัน หรือของเย็น น้ำแข็งหรือน้ำเย็นที่ถูกใจลูก ระยะนี้ควรงดไว้ก่อนจะดีกว่า

           ถ้าลูกนอนห้องแอร์ ก็ควรสวมใส่เสื้อผ้า หรือใช้ผ้าห่มให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ถ้าเปิดพัดลมควรให้ส่ายไปมา เพื่อไม่ให้อากาศเย็นเกินไป จะยิ่งกระตุ้นให้หลอดลมหดตัวทำให้มีอาการไอมากขึ้น

           สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องรู้ต่อมาคือ จำให้ขึ้นใจว่า ก่อนซื้อหรือเลือกใช้ยา เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพ ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรหรือคุณหมอค่ะ



 

ขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.8 No.94 ตุลาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 อาการไอของลูกน้อย ที่คุณแม่ควรรู้ อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2555 เวลา 16:02:32 73,874 อ่าน
TOP