หยุดเจ้าหนูชอบกัด (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี
คุณพ่อคุณแม่ท่านใดกำลังมีปัญหาเรื่องลูกชอบไปกัดคนอื่นอยู่บ้างเอ่ย ? อย่ามองข้ามพฤติกรรมนี้นะคะ เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมรุนแรงอื่น ๆ ได้ค่ะ
ทำไมหนู ๆ ชอบกัด
การชอบกัดคนอื่น เป็นพฤติกรรมที่พบได้ในเด็กช่วงวัย 1-3 ปี ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้ ลูกอาจมีพฤติกรรมชอบทำร้ายเพื่อนในรูปแบบอื่นตามมาได้ค่ะ
ส่วนสาเหตุของการชอบกัด ต้องดูพฤติกรรมพื้นฐานของลูกน้อยก่อน เพราะเด็ก 1-3 ปี จะเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น หยิบจับสิ่งของได้เอง มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมีผลต่อคนรอบข้างอย่างไร เวลาที่เล่นกับคนอื่นแล้วมีอารมณ์ตื่นเต้นมาก ๆ สนุกมาก ๆ อาจจะเริ่มมีการใช้ปากกัดเพราะรู้สึกมันเขี้ยว กัดแล้วรู้สึกดีมีความสุข
แต่เด็ก ๆ บางคนอาจเริ่มมาจากอารมณ์โกรธ หงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ จึงกัดเพื่อเป็นการระบายอารมณ์ พอกัดแล้วได้สิ่งที่ต้องการ โดยไม่รู้ว่าผู้อื่นรู้สึกเจ็บหรือโกรธ ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยติดพฤติกรรมการกัด เพราะคิดว่าถ้ากัดแล้วย่อมได้สิ่งที่ต้องการ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตตั้งแต่เริ่มแรกว่า การที่ลูกชอบกัดมีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกทางมากยิ่งขึ้น เพราะหากปล่อยไว้ อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นพฤติกรรมรุนแรงของลูกได้อย่างไม่คาดคิดค่ะ
กัด...จุดเริ่มพฤติกรรมรุนแรง
เด็กที่มีพฤติกรรมชอบกัด คุณพ่อคุณแม่ควรรีบแก้ไข และที่สำคัญอย่าพูดว่าลูกเป็นเด็กจอมกัด เพราะมีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่บางคนที่ชอบพูดล้อเลียน หรือเวลาเจอลูกก็พูดกระแนะกระแหนว่า "นี่ไงเจ้าเด็กชอบกัด" หรือพอเจอก็พูดว่า "ระวัง ๆ เดี๋ยวจะโดนเด็กคนนี้กัดอีกนะ" การพูดเช่นนี้จะเป็นการไปคอยตอกย้ำ ว่าลูกเป็นเด็กชอบกัด ไม่มีใครรัก ไม่มีใครอยากยุ่งด้วย ซึ่งจะทำให้เขายิ่งรู้สึกโกรธ ผลที่ตามมาคือ ลูกจะยิ่งเก็บอารมณ์โกรธและเกิดการสับสนว่าพฤติกรรมนี้ผิดอย่างไร ทำไมต้องโดนดุ และยังคงพฤติกรรมนั้นไว้
ฉะนั้น เวลาที่ลูกโกรธหรือหงุดหงิด หรืออยากได้อะไรแล้วไม่ได้ก็จะกัดคุณพ่อคุณแม่ กัดเพื่อน กัดคนรอบข้าง เพื่อเป็นการระบายอารมณ์ของเขา และอาจกลายเป็นพฤติกรรมต่อเนื่อง ถ้าเล่นกับใครหรือไม่พอใจใครก็จะกัด หรืออาจพัฒนากลายเป็นทำร้ายด้วยการทุบตีคุณพ่อคุณแม่ คนรอบข้าง หรือเพื่อน ๆ ตามมาได้
วิธีแก้...ลูกชอบกัด
วิธีที่ 1 : ปลอบใจทั้งสองคน
ถ้าลูกไปกัดคนอื่น ให้ปลอบทั้งเพื่อนลูกที่ถูกกัดและปลอบลูกของเราด้วย และดูว่าเพื่อนลูกหรือคนที่ถูกลูกกัดมีบาดแผลตรงไหน เจ็บตรงไหนหรือไม่ ใช้คำพูดที่อ่อนโยนในการปลอบ เช่น ไม่เป็นอะไรนะลูก เดี๋ยวจะใส่ยาให้นะคะ แล้วคอยปลอบจนกว่าจะหายร้อง หรือมีอาการดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าลูกเราจะไปกัดคนอื่นก็ตาม อย่าดุหรือต่อว่าลูกด้วยการใช้คำพูดที่รุนแรงหรือเสียงดังใส่ลูกเด็ดขาด ค่อย ๆ คุยกับทุกฝ่ายว่ามีสาเหตุมาจากตรงไหน และต้องแสดงความเห็นใจลูกด้วยว่ารู้สึกผิดไหมที่ไปกัดเพื่อน เห็นเพื่อนเจ็บ ร้องไห้ รู้สึกอย่างไร แล้วค่อย ๆ ถามว่าทะเลาะอะไรกัน ทำไมลูกถึงไปกัดเพื่อน หรือว่าเพื่อนทำอะไรให้ไม่พอใจหรือไม่ และไม่ว่าลูกจะผิดหรือไม่ก็ต้องสอนให้ลูกเป็นฝ่ายขอโทษเพื่อนก่อนเสมอ
ผลลัพธ์ที่ได้ : ลูกจะรู้สึกผิดที่ไปทำร้ายคนอื่น รู้จักการยอมรับผิด สามารถขอโทษเพื่อนก่อนได้ และเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าครั้งต่อไปรู้สึกโมโหอีกก็จะรู้จักระงับอารมณ์โกรธของตัวเองได้ค่ะ
วิธีที่ 2 : สอนให้ลูกขอโทษ
การสอนลูกให้รู้จักขอโทษจะทำให้ลูกเรียนรู้เรื่องการให้อภัยผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งบางครั้งที่ลูกไปกัดเพื่อนหรือกัดคนอื่นก่อนนั้น ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเพื่อนอาจจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการกัดคืน หรือทำร้ายทุบตี กลับมา เขาก็จะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี และรู้สึกว่าพอโดนกัด ตัวเองก็เจ็บ ดังนั้น เวลาไปกัดคนอื่นเขาก็คงจะเจ็บแบบนี้เหมือนกัน
ผลลัพธ์ที่ได้ : กจะเรียนรู้ได้เองว่าเพื่อนเจ็บและทำให้เขากับเพื่อนต้องทะเลาะกัน ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี เขาก็จะเลิกพฤติกรรมการไปกัดคนอื่นได้เอง รู้จักที่จะขอโทษ และยังได้เรียนรู้เรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักที่จะยอมรับผิดด้วยค่ะ
วิธีที่ 3 : แสดงสีหน้าเจ็บ
ถ้าคุณพ่อคุณแม่โดนลูกกัด ให้แสดงสีหน้าเจ็บ นิ่งเฉย หรือแกล้งร้องไห้ ไม่แสดงอาการตื่นเต้น เช่น ถ้าคุณแม่โดนกัด จากที่อุ้มลูกอยู่ก็ให้วางลูกลงแล้วทำสีหน้านิ่ง ๆ ไม่พูดด้วย ซึ่งการทำพฤติกรรมแบบนี้มีลักษณะเหมือนเป็นการลงโทษ เพื่อจะให้ลูกรู้ว่าเราไม่สนุกด้วย ถ้าโดนกัดแม่จะไม่เล่นด้วยแล้ว
ผลลัพธ์ที่ได้ : ลูกเรียนรู้ว่าไม่ควรทำพฤติกรรมแบบนี้อีก เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ทำแล้วไม่มีใครเล่นด้วย ไม่มีใครสนุกด้วย พฤติกรรมการกัดก็จะค่อย ๆ หายไปเองค่ะ
หายเมื่อไหร่
พฤติกรรมการกัดจะหายไปเองเมื่อลูกอายุได้ 2-3 ขวบ เพราะมีกิจกรรมอื่นที่ทำให้ลูกสนใจมากขึ้น แต่ถ้าอายุ 3-4 ขวบแล้ว พฤติกรรมการกัดนี้ยังไม่หายไป ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์ เพราะอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น พูดช้า สื่อสารไม่ได้ หรืออาจมีปัญหาเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม
ต้องหยุดพฤติกรรมการกัดของลูกน้อยตั้งตอนนี้ ก่อนจะพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 30 ฉบับที่ 357 ตุลาคม 2555