ลูกดิ้น...สัญญาณที่คุณแม่รอคอย (modernmom)
เรื่อง : พญ.กันดาถา ฐานบัญชา โรงพยาบาลบีแคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
เชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่าน ต้องตั้งตารอคอยวันที่จะรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูกเป็นครั้งแรก แต่เมื่อตั้งหน้าตั้งตารอคอย แล้วยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นซักที ก็ทำให้เกิดคำถาม และความกังวลใจขึ้นมากมาย เช่น เอ๊ะลูกเราจะเริ่มดิ้นตอนไหน ทำไมลูกเพื่อนดิ้นแล้ว ลูกเรายังนอนนิ่ง แล้วดิ้นกี่ครั้งถึงจะปกติ
ลูกเริ่มเคลื่อนไหวได้ เมื่ออายุครรภ์เท่าไหร่
โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการดิ้นของลูก คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพเด็กทารกใช้เท้าน้อย ๆ กระทุ้งท้องคุณแม่ แต่จริง ๆ แล้ว ลูกรักของเราเริ่มเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 7 สัปดาห์ เท่านั้นค่ะ แต่เนื่องจากในมดลูกมีที่ว่างมากพอที่จะเคลื่อนไหวไปรอบ ๆ โดยไม่ชนหน้าท้องคุณแม่ คุณแม่จึงยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวนั้นเท่านั้นเอง
รู้สึกถึงการดิ้นของลูกครั้งแรก
เมื่อลูกน้อยโตขึ้น การเคลื่อนไหวจะมากขึ้น และแรงขึ้น คุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ ในขณะที่คุณแม่ท้องหลังจะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูก เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ และเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะรับรู้การดิ้นของลูกได้อย่างสม่ำเสมอค่ะ
ลูกดิ้นกี่ครั้งถึงจะปกติ
การดิ้นของลูกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประมาณ 200 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ทารกจะดิ้นมากที่สุด โดยจะมีการดิ้นเป็นช่วง ๆ สอดคล้องกับวงจรการหลับของลูกค่ะ วงจรการหลับของลูก จะใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที และอย่างมากไม่เกิน 90 นาทีค่ะ หลังจากนั้นการดิ้นจะลดลงเนื่องจากลูกเริ่มตัวใหญ่ขึ้น เหลือพื้นที่ในโพรงมดลูกให้ขยับตัวน้อยลงค่ะ
คุณแม่จะรู้สึกถึงการดิ้นของลูก ได้มากถึง 80-90 % โดยท่าที่คุณแม่จะรู้สึกได้มากที่สุด คือท่านอนเอนหลัง หรือ Semi-Fowler Position ค่ะ ทารกแต่ละคนมีช่วงเวลาหลับตื่นไม่ตรงกัน แต่คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าลูกจะดิ้นมากในช่วงเย็นถึงค่ำค่ะ
ลักษณะการดิ้นของลูกจะเปลี่ยนไปตามอายุครรภ์ค่ะ ช่วงแรก ๆ คุณแม่อาจรู้สึกเหมือนมีอะไรเต้นตุ๊บ ๆ เบา หรือเหมือนมีคลื่นเบา ๆ ในท้อง บางท่านอาจแยกไม่ออกจากการเคลื่อนตัวของลำไส้ แต่เมื่อย่างเข้าไตรมาสที่ 3 ลูกจะดิ้นแรงขึ้น อาจรู้สึกถึงการถีบตัว และขยับตัวอย่างต่อเนื่อง สลับกับการหยุดดิ้นเป็นพัก ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากทารกหลับนั่นเองค่ะ แต่เมื่อใกล้จะคลอด คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ลักษณะการดิ้นจะเป็นการโก่งตัว ยืดตัว จนบางครั้งคุณแม่ที่ หน้าท้องบาง อาจจะสังเกตเห็นท้องโย้ไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือบางครั้งอาจรู้สึกจุกเมื่อลุกดิ้น หรือเหยียดตัวมากดบริเวณใต้กระบังลมค่ะ ช่วงใกล้คลอดคุณแม่จะรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวเบา ๆ เป็นจังหวะ เป็นช่วง ๆ ซึ่งเกิดจากการสะอึกของลูกค่ะ
ทำไมลูกดิ้นน้อยลง
ปัจจัยที่ทำให้ลูกดิ้นน้อยลง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น Barbiturate ยาระงับอาการปวดบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม Narcotic ยานอนหลับ คลายเครียด เช่น Benzodiazepine นอกจากนั้นการดื่มเครื่องดื่มที่มี Alcohol หรือการใช้ยาในกลุ่ม Corticosteroid ก็ทำให้ลูกดิ้นน้อยลงได้ค่ะ
คุณแม่หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า เวลาทำงาน หรือเวลาที่มีความเครียด ลูกจะดิ้นน้อยลง แต่จริง ๆ แล้วน่าจะเกิดจากความสนใจของคุณแม่ในระหว่างวันนั้นจะไม่ได้อยู่ที่การนับลูกดิ้นแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ส่วนความเครียดจะทำให้คุณแม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อต่าง ๆ อย่างไม่รู้ตัว ทำให้รู้สึกถึงการดิ้นที่น้อยลงค่ะ แต่เมื่อกลับบ้านได้นอนพัก ผ่อนคลายก็สึกว่าลูกดิ้นมากในช่วงเย็นค่ะ
จะนับลูกดิ้นอย่างไร
การนับลูกดิ้นเป็นวิธีเดียวที่คุณแม่สามารถประเมินสุขภาพลูกรักในครรภ์ได้ โดยสามารถทำได้ทุกวัน ส่วนคุณหมอจะมีวิธีการประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ที่ต่างออกไป อีกหลายวิธี โดยมักทำในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ตรวจพบว่าน้ำหนักตัวคุณแม่ขึ้นน้อย หรือลูกดิ้นน้อยลงค่ะ การนับลูกดิ้นทำได้ง่าย ๆ โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 26-32 สัปดาห์ คุณแม่ควรปัสสาวะก่อนเริ่มนับลูกดิ้น อาจอยู่ในท่านั่ง นอนเอนหลังอย่างผ่อนคลาย ใช้มือทั้ง 2 ข้างสัมผัสที่หน้าท้องเพื่อรับรู้ความรู้สึก และทำการบันทึกจำนวนครั้งของการดิ้นได้เลยค่ะ
เทคนิคที่ 1 "Count to 10"
เริ่มนับตั้งแต่เช้า โดยบันทึกระยะเวลาเริ่มต้นจนดิ้นครบ 10 ครั้ง หากลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง หรือดิ้นครบ 10 ครั้งใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมง ขอให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินสุขภาพลูกรักในครรภ์ เพิ่มเติม
เทคนิคที่ 2 "Sadovsky Technique"
นับลูกดิ้น หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่ออีก 1 ชั่วโมง หากยังน้อยกว่า 3ครั้ง ให้มาพบแพทย์ค่ะ
การที่ลูกดิ้นน้อยลงอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง และเป็นการคัดกรองเพียงวิธีเดียวที่คุณแม่สามารถช่วยหมอในการประเมินสุขภาพของลูกได้ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่เพียงแต่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ควรจะมาพบแพทย์ทันทีค่ะ อย่านิ่งนอนใจนะคะ สัญชาตญาณของความเป็นแม่มักจะบอกได้ค่ะ โดยบางครั้งไม่ต้องนับลูกดิ้นตามตำราเลยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.17 No.204 ตุลาคม 2555