x close

สร้างความฉลาดลูก ผ่านสัมผัสทั้ง 5

แม่และเด็ก

สร้างความฉลาดลูก ผ่านสัมผัสทั้ง 5 (Mother&Care)

         การเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการรับรู้ผ่านทางหู ตา จมูก ลิ้น และการสัมผัส ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของลูก และส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ไม่นานประเทศเราจะมีเด็กที่รักการเรียนรู้มากมาย

ได้ยิน

         ลูกน้อยฟังเสียงขณะที่คุณพูดหรือร้องเพลงตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่แล้วค่ะ เมื่อออกมาสู่โลกภายนอก ลูกน้อยจึงสามารถรับรู้เรื่องของเสียงได้ชัดเจน พอ ๆ กับผู้ใหญ่ สังเกตได้ว่า ลูกพยายามหาเสียง หรือมีท่าทางสนใจ เมื่อได้ยินเสียงของแม่ เพียงแต่ยังไม่เข้าใจคำพูดที่แม่พูด และเป็นเสียงแรกก่อนใครที่ลูกจดจำแยกแยะได้ว่าเป็นเสียงของแม่

ต่อยอดการเรียนรู้

         การพูดคุยกับลูก หรืออ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง จะช่วยเพิ่มทักษะด้านภาษาให้ลูกได้มากมาย

         เสียงต่าง ๆ เช่น เสียงกระดาษ เสียงนาฬิกา จะช่วยกระตุ้นความสนใจ การเรียนรู้ ให้ลูกได้ได้ยินและหันตามเสียง

         เด็กเล็กชอบฟังเสียงที่เป็นจังหวะ การหาของเล่นที่เคาะเป็นจังหวะ พร้อมกับเคลื่อนไหวตามจังหวะของคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องการได้ยินพร้อม ๆ กับการมองเห็น
 
         ทดสอบการได้ยินด้วยการเรียกหรือเขย่าของเล่น แล้วสังเกตว่า ลูกหันตามหรือไม่ ถ้าลูกไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด เพราะการฟังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ต่อไป
 
มองเห็น

         ช่วงแรกเกิดการมองเห็นของลูกจะอยู่ในระยะประมาณ 8-12 นิ้ว มองเห็นสีที่ตัดกันอย่างสีขาวกับสีดำได้ดี โดยเฉพาะใบหน้าแม่เวลาให้นมลูก เป็นระยะที่ลูกเห็นชัดเจน ประมาณเดือนที่ 3 จะเริ่มมองเห็นสีที่มีความสดใส ของเล่นที่มีสีสันสดใส จึงดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี จากนั้นลูกจะมองเห็นภาพที่มีมิติ มีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ

ต่อยอดการเรียนรู้

         มองลูกแล้วส่งยิ้ม พูดคุยกับลูก ลูกจะมองสีหน้า ริมฝีปาก จดจำ ฝึกการใช้กล้ามเนื้อตา มองใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่

         ชวนมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวลูก เช่น ปลาในอ่างน้ำ นกที่กำลังบิน หรือต้นไม้ ใบไม้ พร้อมกับอธิบายให้ลูกฟังว่า สิ่งนั้นคืออะไร มีสีอะไร เพื่อกระตุ้นความสนใจ ช่วยให้ลูกเรียนรู้ ฝึกการใช้สายตาได้เป็นอย่างดี

         เกม "จ๊ะเอ๋" เกมสนุกที่เรียกความสนใจได้ทุกเวลา ช่วยฝึกฝนให้ลูกเรียนรู้ ใช้สายตาในการมองหาคุณแม่
 
ได้กลิ่น

         ระบบประสาทสัมผัสการรับรู้เรื่องกลิ่น เริ่มทำงานได้แล้วตั้งแต่แรกเกิด กลิ่นแม่ เป็นกลิ่นแรกที่ลูกจดจำเป็นอย่างดี เพราะทุกครั้งที่แม่อยู่ใกล้ ๆ ลูกมีความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ และปลอดภัย การรับรู้ของลูกในขวบปีแรกจะชัดเจนและดีขึ้นตามลำดับ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์เรื่องกลิ่นได้ดี ก็อยู่ที่ประสบการณ์ การรับรู้เรื่องกลิ่นที่พ่อแม่สร้างให้

ต่อยอดการเรียนรู้

         การให้ลูกรับรู้เรื่องกลิ่นที่หลากหลายและแตกต่าง เช่น กลิ่นหอมของดอกไม้ ใบไม้ หรือกลิ่นอาหารของลูก ฯลฯ ล้วนเป็นการสะสม สร้างประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงของเซลล์สมอง มีการเรียนรู้เรื่องกลิ่นได้ดี แต่มีข้อยกเว้น อยู่บ้าง เช่น กลิ่นน้ำหอม เป็นกลิ่นที่ไม่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กค่ะ
 
         เด็กเล็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีนัก ไม่รู้จักที่จะหลีกหนี ไม่รู้ว่าอันตราย ดังนั้น กลิ่นสารเคมี กลิ่นฉุนที่เป็นอันตราย เช่น อุปกรณ์ล้างห้องน้ำ ควรจัดวางให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกคลานเข้าไปหยิบจับ สัมผัสกับกลิ่นได้

รับรู้รส

         ลูกน้อยมีประสบการณ์การรับรู้รสชาติผ่านทางน้ำคร่ำตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ และน้ำนมแม่ก็เป็นสัมผัสแรกที่ลูกรับรู้รสเมื่อหลังคลอด ทดสอบง่าย ๆ ว่า เวลาคุณให้นม ลูกจะหันมาสัมผัสด้วยปากและดูดทันที เพราะเป็นกลไกอัตโนมัติในการใช้ปากและลิ้นรับรู้ของลูก จากนั้นจึงพัฒนามาเรียนรู้รสชาติอื่น ๆ ไม่ต้องแปลกใจกับความสามารถของลูกในเรื่องนี้เลยค่ะ

ต่อยอดการเรียนรู้

         สิ่งสำคัญในการกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้เรื่องรส ควรเป็นไปในรูปแบบธรรมชาติ เช่น รสหวานของน้ำซุป มาจากน้ำต้มกระดูกที่ไม่ต้องผ่านการปรุงรส เพื่อสร้างนิสัยการกินที่ดี ไม่ให้ลูกติดใจกับรสหวาน

         เตรียมอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น 6-7 เดือน เริ่มจากข้าวบด กล้วยครูด อาหารชนิดเหลว, 8 เดือนอร่อยกับแครอทต้ม ก็มีส่วนช่วยให้ลูกได้สนุกกับการเรียนรู้เรื่องรสชาติและชนิดของอาหารในแบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
 
         ความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลลูกน้อย ที่ช่วยให้คุณแม่มั่นใจกับการเรียนรู้ของลูกว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ลูกสัมผัส หยิบจับเข้าปากจะไม่เกิดอันตรายกับลูกน้อย

สัมผัสรัก

         สมองเกี่ยวกับการรับสัมผัส สามารถทำงานได้แล้วตั้งแต่ที่ลูกอยู่ในท้องของคุณแม่ เพราะเพียงคุณแม่ลูบเบา ๆ ที่ท้อง ลูกน้อยก็จะขยับเขยื้อน เคลื่อนไหวตามไปด้วย จึงไม่แปลกเลยว่า ลูกรับรู้ถึงสัมผัส ไวต่อสิ่งที่มาสัมผัส โดยเฉพาะการสัมผัสทางผิวหนัง

         ไฮไลท์สำคัญคือ เมื่อพ่อแม่โอบอุ้ม กอด หอม หรือสัมผัสด้วยวิธีการอื่น ๆ ในรูปแบบที่นุ่มนวล อ่อนโยน ลูกจะรู้สึกถึงความปลอดภัยและความมั่นคงทางจิตใจ มีส่วนช่วยให้เซลล์สมองพัฒนาได้ดี ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของลูกน้อย
 
ต่อยอดการเรียนรู้

         การให้ลูกสัมผัสดิน ทราย และน้ำ โดยมีคุณคอยดูแลอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ลูกสนุกกับของเล่นจากธรรมชาติและเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัสที่หลากหลาย

         เกมปูไต่ ใช้นิ้วของคุณไต่ไปตามร่างกายลูก พร้อมกับพูดคุยว่า กำลังไต่ไปที่ส่วนไหน จะช่วยส่งผ่านข้อมูล ให้สมองของลูกมีการเก็บข้อมูล เกิดการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท เป็นการเรียนรู้ที่ดี ในขั้นต่อไป

         การเรียนรู้เรื่องการสัมผัส มักควบคู่มากับการมองเห็น ของเล่นประเภทบล็อก จิ๊กซอว์ จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เรื่องนี้ได้
 
         คุณแม่อาจฝึกเรื่องความไวต่อการสัมผัส ด้วยการนำสิ่งของใส่กล่อง ให้ลูกใช้มือหยิบและสัมผัส เพื่อสังเกตความสนใจ ให้ลูกเรียนรู้เรื่องการสัมผัส และการมองไปพร้อม ๆ กัน ว่าสิ่งที่เห็นหรือสัมผัสคืออะไร เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ของลูก

         การที่ลูกจะฉลาดมากความสามารถแค่ไหนนั้น ส่วนหนึ่งมีต้นทุนมาจากพันธุกรรม ส่วนที่เหลือคือการส่งเสริมสร้างประสบการณ์ และโอกาสแห่งการเรียนรู้ของพ่อแม่จะช่วยเติมเต็มศักยภาพความสามารถของลูกน้อยอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
              

            



ขอบคุณข้อมูลจาก

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สร้างความฉลาดลูก ผ่านสัมผัสทั้ง 5 อัปเดตล่าสุด 5 ตุลาคม 2555 เวลา 10:52:56 1,008 อ่าน
TOP