x close

เตรียมความพร้อมให้ดีกับ..ว่าที่คุณแม่ยังสาว

ตั้งครรภ์


เตรียมความพร้อมให้ดีว่าที่คุณแม่ยังสาว (Lisa)

          ถึงเวลาที่ลูกสาวของคุณพ่อจะเปลี่ยนเป็นคุณแม่ของใครสักคน ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร และมีอะไรที่คุณควรทราบก่อนจะเป็นคุณแม่ยังสาวกันบ้าง

          ช่วงเวลา 9 เดือนแห่งการตั้งครรภ์ ควรจะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่มีความสุขที่สุดในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นช่วงเวลาที่กำหนดทั้งชีวิตของคุณและลูกเลยก็ว่าได้ ซึ่งนอกจากสุขภาพร่างกายแล้ว ว่าที่คุณแม่ยังต้องเผชิญกับความปั่นป่วนทางจิตใจอีกด้วย

Expert Talks

เตรียมตัวก่อนเป็นคุณแม่

          ปัญหาสุขภาพของคุณและสามีอาจส่งผลถึงชีวิตของลูกน้อยได้ในอนาคต การวางแผนก่อนตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วควรเตรียมตัวอย่างไร ไปคุยกับ นพ.บุญแสงวุฒิพันธ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะมีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ร.พ.สมิติเวช สุขุมวิท กันเลย

พร้อมรับเจ้าตัวน้อยกับปัญหาที่คุณอาจต้องเผชิญ

          สำหรับคนที่เตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์ ควรมีช่วงเวลาในการเตรียมตัวประมาณ 3 เดือน โดยควรมาตรวจว่า ทั้งสามีและภรรยามีความเสี่ยงที่มีปัญหาทางพันธุกรรมไปถึงลูกหรือเปล่า ที่พบบ่อย ๆ ในประเทศไทยคือ ธาลัสซีเมีย อย่างที่สองก็คือ ดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยเฉพาะโรคบางโรคเช่น ต่อมธัยรอยด์ ที่ทำงานน้อยแบบไม่ชัดเจน หรือเรียกว่า Subclinical Hypothyroid ถ้าตั้งครรภ์แล้วเกิดภาวะนี้ก็จะมีปัญหาต่อลูกเรื่องไอคิวและการเจริญเติบโตของลูก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะส่วนใหญ่ในปัจจุบันเรายังไม่ตรวจเป็นประจำสำหรับโรงพยาบาล นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะติดเชื้อของหัดเยอรมัน ติดเชื้อกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อไวรัสจากสุนัขหรือแมว ในขณะที่เราได้รับเชื้อใหม่ ๆ หากตั้งครรภ์ขึ้นมาก็จะมีผลต่อลูกได้

ผู้หญิงอายุมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่ามีความเสี่ยงในการมีลูก

          จะมีความเสี่ยงก็ต่อเมื่อแม่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ซึ่งลูกที่เกิดมาอาจมีความเสี่ยงหรือโครโมโซมผิดปกติที่เรียกว่าดาวน์ซินโดรม แต่เรามีวิธีการป้องกันก็คือ

         1)สร้างตัวอ่อนภายนอก และนำตัวอ่อนมาวินิจฉัยว่าเป็นดาวน์ซินโดรมหรือเปล่า จากนั้น จึงค่อยใส่ตัวอ่อนตามปกติเข้าไป วิธีนี้มีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มที่ศาสนาไม่อนุญาตให้เอาเด็กออก

         2)เมื่อแม่ตั้งครรภ์แล้วเราก็จะนำน้ำคร่ำที่มีเซลล์ของลูกมาเพาะเลี้ยง เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นดาวน์ซินโดรมหรือเปล่า หากเป็นดาวน์ซินโดรม พ่อแม่ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

          การตั้งครรภ์ถือเป็นการลงทุนอย่างมากสำหรับผู้หญิง เพราะร่างกาจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะและกลับไปเหมือนเดิมได้ยาก บางคนหลังคลอดก็กลับไปเข้าฟิตเนสเพื่อให้ร่างกายใกล้เคียงกับของเดิม สำหรับคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ก็อยากจะให้เตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจมากกว่า ถ้าพร้อมแล้วก็จะเป็นสุข แต่ถ้าไม่พร้อม แค่แพ้ท้องก็อาจเป็นทุกข์แล้วครับ

ว่าที่คุณแม่อย่าลืมดูแลสุขภาพ

กายบริหาร ว่าที่คุณแม่ก็ทำได้

         1.Kegel Exercise หรือก็คือการบริหารเชิงกรานนั่นเอง คุณสามารถทำได้ทุกที่เมื่อไหร่ก็ได้ และจะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าคุณกำลังบริหารเชิงกรานอยู่ ฝึกได้โดย

          เกร็งน้องสาวเอาไว้ 5-10 วินาที แล้วผ่อนคลายทำซ้ำ 10-20 ครั้ง/วัน หรือเวลาที่คุณกำลังปัสสาวะ ให้พยายามหยุดการไหลสัก 3-5 วินาที แล้วค่อยปัสสาวะต่อ (อย่างไรก็ดี อย่าทำบ่อยจนเกินไป เพราะอาจให้ผลตรงกันข้ามหรือเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้)

         2.ว่ายน้ำ ช่วยให้ร่างกายของคุณกระชับโดยไม่กดน้ำหนักลงบนข้อต่อของคุณมากเกินไปเวลาว่ายน้ำ คุณจะได้ออกกำลังแบบคาร์ดิโอในขณะที่ร่างกายไม่ร้อนมากนัก อย่างไรก็ดี ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำและสกีน้ำ

         3.เดิน การเดินปลอดภัยต่อหัวเข่ามากกว่าการวิ่ง คุณสามารถเดินช้า ๆ ก็ได้ แต่จะต้องยืดเส้นก่อนเดิน ทั้งนี้ ควรหารองเท้าดี ๆ ด้วย

         4.วิ่งหรือจ็อกกิ้ง โดยเฉพาะสาว ๆ ที่วิ่งหรือจ็อกกิ้งเป็นประจำอยู่แล้วสามารถเลือกการออกกำลังกายเช่นนี้ได้ ซึ่งมีสามสิ่งที่ต้องพิจารณาคือน้ำ ความร้อน และรองเท้า

         5.ปั่นจักรยาน ข้อดีเกี่ยวกับจักรยานคือ คุณไม่ต้องรับน้ำหนักตัวเอง แต่ขอให้เริ่มช้า ๆ และปั่นจักรยานในฟิตเนสเพื่อจะได้ไม่มีโอกาสล้มดีกว่า

         6.เครื่องฝึกขึ้นบันได จะมีโอกาสล้มน้อยมาก ช่วยสร้างบาลานซ์และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ

         7.โยคะ โยคะมีชื่อเสียงเรื่องการผ่อนคลายความเครียดทั้งจิตใจและร่างกาย ส่วนใหญ่ค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวคุณเองและลูกน้อย (ตราบใดที่ไม่ได้ออกกำลังหนักเกินไปนัก) บางที่อาจมีคลาสพิเศษสำหรับสตรีมีครรภ์โดยเฉพาะ ทั้งนี้ พยายามหลีกเลี่ยงการนอนหงายนาน ๆ และอย่าพยายามยืดตัวมากนัก

         8.แอโรบิค สำหรับสาว ๆ ที่เรียนเต้นแอโรบิคอยู่แล้ว คุณสามารถเต้นต่อได้ อย่างไรก็ดี สมดุลจะเป็นสิ่งที่ลำบากมากในช่วงนี้ และเช่นเดียวกับโยคะ ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการนอนหงายเป็นเวลานาน

         9.เต้นรำ ขอให้หลีกเลี่ยงการกระโดด หมุน หรือท่าใด ๆ ก็ตามที่อาจทำให้คุณล้ม

ทำไมเราถึงอยากให้คุณออกกำลังแม้จะตั้งครรภ์

          เพราะการออกกำลังจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต จึงช่วยเรื่องอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร ตะคริว ข้อเท้าบวม หรือปวดหลัง คุณจะนอนหลับได้สบายขึ้น อารมณ์จะดีขึ้น และช่วยให้น้ำหนักตัวไม่ทะลุเพดานมากเกินไป (สตรีมีครรภ์ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแค่ 25-35 ปอนด์เท่านั้น) อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังอย่างมาก คืออุณหภูมิในเวลาที่คุณออกกำลัง เพราะอากาศที่ร้อนเกินไปจะหยุดยั้งพัฒนาการของลูกได้

สุขภาพใจก็สำคัญ

          อาการซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวนในยามตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดจากการที่สารเคมีในสมองไม่สมดุล และอาจทำให้ชีวิตของคุณรู้สึกเหมือนดิ่งลงเหวได้

รู้จักอาการหากว่าที่คุณแม่ซึมเศร้า

          รู้สึกเศร้าอยู่เนือง ๆ ไม่มีสมาธิ นอนน้อย หรือมากเกินไป ไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยทำอีกต่อไป มักจะคิดถึงเรื่องการตาย ความสิ้นหวัง วิตกกังวล รู้สึกผิด นิสัยการกินเปลี่ยนไป โรคซึมเศร้า จนอาจจะทำอันตรายกับลูกในครรภ์ได้

          หากไม่ได้รับการรักษา โรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก เพราะอาจนำไปสู่การขาดสารอาหาร (เนื่องจากคุณไม่สนใจตัวเอง) ติดแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมถึงมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักหลังคลอดน้อย และมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ

          ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีโรคซึมเศร้าจะขาดความสนใจในการดูแลตัวเองและลูก เช่นเดียวกัน เด็กที่เกิดมาก็มักจะซึมกว่าเด็กอื่น ๆ มีสมาธิน้อยกว่า หรือหงุดหงิดมากกว่าด้วย คุณควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการดังกล่าว เพราะว่าสตรีมีครรภ์ก็อาจกินยาสำหรับโรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่น ๆ อย่างเช่น ยาสมุนไพร การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือแม้แต่การฝังเข็ม

          การกำเนิดของเจ้าตัวน้อยจะเป็นหนึ่งในความทรงจำแสนสุขที่คุณไม่มีวันลืมคุณอาจจะแบ่งเวลามานั่งคิดเสียหน่อยว่า คุณหวังว่าการคลอดบุตรจะเป็นอย่างไร

เริ่มจากเขียนบันทึก ซึ่งคุณควรจะเขียน

          1.ความหวัง

          2.แผนที่คุณวางไว้เพื่อให้คุณจัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง เมื่อคุณพอใจแล้วก็จงให้สามีช่วยรับรู้ด้วย เพราะการคลอดบุตรนั้นมีหลายอย่างที่ต้องพิจารณา (รวมถึงค่าใช้จ่าย) แต่ทั้งนี้พยายามให้ยืดหยุ่นเข้าไว้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยในการคลอดบุตร

กระซิบบอกญาติ

สิ่งที่คุณสามีและญาติควรทำเมื่อว่าที่คุณแม่กำลังจะคลอด

         ให้คำชม หรือให้กำลังใจ

         อย่าชวนคุย

         หายใจไปพร้อม ๆ กับคุณแม่ เวลาที่มดลูกเกร็งตัว






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.13 No.30 8 สิงหาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมความพร้อมให้ดีกับ..ว่าที่คุณแม่ยังสาว อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2555 เวลา 13:42:42
TOP