x close

หนูเป็นโรคกระเพาะ...หรือเปล่านะ

โรคกระเพาะ

หนูเป็นโรคกระเพาะ...หรือเปล่านะ
(รักลูก)
เรื่อง : สิริพร

           โรคกระเพาะที่กำลังพูดถึง หมายถึงโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการปวดท้องของลูกให้ดีว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะจริงหรือไม่

หนูเป็นโรคกระเพาะ ?

           หงุดหงิด ร้องกวน แสดงว่ามีการระคายเคืองของกระเพาะ แต่หากกินนมแล้วอาเจียน กินอิ่มแล้วอาเจียนเป็นเลือด ถือว่าเป็นอาการรุนแรงสำหรับเด็กที่มีแผลในกระเพาะ ซึ่งอาจจะมีการติดเชื้อรุนแรงแรง หรือปอดอักเสบได้

           ลูกไม่ยอมกิน อาจมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น แผลในปากฟันขึ้นแล้วไม่ยอมกิน แต่หากไม่กินเป็นระยะนานเกินไป หรือว่าเป็นอาทิตย์ ก็ให้สันนิษฐานในเบื้องต้นว่า ลูกอาจจะเป็นแผลในกระเพาะได้

           กินยาลดไข้แล้วอาเจียนเป็นเลือด หากลูกมีไข้ แล้วได้รับยาลดไข้ชนิดที่แรง เยื่อบุกระเพาะยังอ่อนแอ การกินยาลดไข้ที่มีฤทธิ์รุนแรง อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะของลูกได้ จะเกิดเป็นลักษณะของแผลเปื่อย แผลถลอกในกระเพาะเวลาที่ลูกอาเจียนก็จะมีเลือดได้ค่ะ

สัญญาณเตือน...ต้องรีบพบคุณหมอ

           อาเจียนเป็นเลือด ร่วมกับถ่ายเป็นสีดำ อาจมีสาเหตุจากการมีเลือดออกในกระเพาะ ถือเป็นความรุนแรงที่ฉุกเฉิน ลูกจะดูบวม ซีด หงุดหงิด งอแง มีอาการระคายเคืองของทางเดินอาหาร เพราะมีการเสียเลือดที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร

           มีเลือดออกมาเยอะ ๆ เป็นพัก ๆ เลือดออกมาสีแดงตอนแรก ๆ ก็จะทำให้อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำได้ ซึ่งเป็นอาการที่อันตรายที่สุด ต้องรีบพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วนค่ะ

สาเหตุ...โรคกระเพาะของหนู

           โรคกระเพาะหรือโรคแผลในกระเพาะอาหารในเด็ก เกิดจากการที่กระเพาะอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุต่าง ๆ กัน ดังนี้ค่ะ

           เกิดกรดในกระเพาะเยอะ ความเครียด การเร่งรีบกินข้าว หรือกินไม่ตรงเวลา ล้วนทำให้ลูกเกิดกรดในกระเพาะมากขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งหากลูกมีกรดในกระเพาะเยอะ กรดนี้ก็จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และแผลก็จะขยายใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ

            กินยาและได้รับสารเคมี พวกเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดจัด สีจากขนม รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ที่มาจากของดอง ก็จะกัดกร่อน เยื่อบุกระเพาะ จนเป็นสาเหตุให้กระเพาะบางลง ซึ่งระดับของการระคายเคืองนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมีที่ได้รับ

            จากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแมคเตอร์ ไฟลอร์ (Helicobacter pylori) ซึ่งมีอยู่ในน้ำจืด หากเรากินน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน ทำให้ติดเชื้อ และเกิดเป็นแผลในกระเพาะได้ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบกินผักดิบ กินของดิบ ที่มาจากแหล่งน้ำที่มีเชื้อนี้อยู่ ทำให้เชื้อนี้ไปอยู่ในกระเพาะ ซึ่งเชื้อนี้ก็จะถ่ายทอดจากคุณพ่อคุณแม่ไปสู่ลูกเล็ก ๆ ที่อยู่ในบ้าน ด้วยการปนเปื้อนทางด้านอาหาร เช่น การเคี้ยวข้าวให้ลูกกิน ทำให้เชื้อที่อยู่ในกระเพาะขึ้นมาอยู่ที่หลอดอาหาร แล้วมาอยู่ในน้ำลายเชื้อจึงมีการติดต่อไปยังเด็กทารกหรือเด็กโตได้

            สาเหตุอื่น ๆ จริง ๆ แล้วอาการปวดท้องของลูก ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นโรคกระเพาะเสมอไป นอกจากแผลในกระเพาะที่ทำให้เด็ก ๆ ปวดท้อง มีสาเหตุอื่นด้วย เช่น เด็กที่มีกล้ามเนื้อกระเพาะอ่อนแอ กระเพาะก็จะยืดออก ทำให้มีความรู้สึกว่ากระเพาะมีอาหารเต็มตลอดเวลา จนปวดท้อง รู้สึกอึด จุก แน่น อาการที่เขาอิ่ม จุกแน่น หรือเป็นเพราะกระเพาะบีบตัวไม่ดีเป็นกรดไหลย้อน รวมถึงท้องผูกมาก ๆ กระเพาะก็จะยืดออกเหมือนกัน จึงต้องมาให้คุณหมอตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นโรคกระเพาะหรือไม่ค่ะ

ดูแลเบื้องต้นให้ลูกน้อย

           1.ก่อนอื่นเราจะต้องดูว่าลูกเป็นโรคกระเพาะจริงหรือเปล่า ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการลูกว่ากินอะไรแล้วปวดท้อง ปวดท้องสัมพันธ์กับอะไรบ้าง อาการปวดท้องเป็นสัญญาณเตือนในเบื้องต้น จากนั้นค่อยมาหาสาเหตุ

           เช่น ปวดท้องแล้วมีไข้ น้ำหนักลด ปวดขา ปวดข้อ มีผื่นขึ้น ซึ่งหากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมด้วย แสดงว่าลูกเราไม่ได้เป็นโรคกระเพาะ แต่อาจเป็นเพราะเส้นเลือดอักเสบก็ได้

           2.ดูแลเรื่องการกินยาให้ลูก จะต้องดูอาการให้แน่ชัดว่าลูกปวดท้องแบบไหน เช่น ปวดท้อง เพราะท้องผูก หากไปซื้อยาธาตุน้ำขาว ซึ่งบางตัวจะประกอบไปด้วยอะลูมิเนียมไฮดร็อกไซด์ อาการก็จะยิ่งแย่ หรือให้กินยาที่ดลการเกร็งของลำไส้ ซึ่งยาตัวนี้จะยิ่งทำให้ลำไส้หยุดทำงาน ท้องผูกมากกว่าเดิม จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนได้ค่ะ

           ฉะนั้นจึงควรเลือกยาให้เหมาะสมตามอาการ แต่หากให้ลูกกินต่อเนื่องแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาให้ตรงจุด

ป้องกันไว้...ห่างไกลโรคกระเพาะ

            1.ควรให้ลูกกินอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดปราศจากสารเคมีและสารเจือปน

            2.เสริมด้วยอาหารหรือผักที่สร้างเมือกในกระเพาะ ที่มีแอนติออกซิแดนซ์ ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ เช่น กระเจี๊ยบเขียว ชะเอม เก๊กฮวย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเมือกในลำไส้ได้ดี ซึ่งเมือกจะทำให้กระเพาะแข็งแรงต่อสู้กับเชื้อโรคได้ค่ะ

            3.ถ้าลูกเป็นโรคกระเพาะจากกรด ควรให้กินยาลดกรดที่คุณหมอจัดให้ ต้องกินติดต่อกันไม่ใช่กินแค่สองวันหายแล้วหยุด เพราะแผลในกระเพะไม่เหมือนแผลผิวหนัง อาการดีขึ้นไม่ได้ หมายความว่าแผลหายสนิทแล้ว

            4.หลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น สารเคมีจากขนมที่ใส่เครื่องเทศ ใส่สีฉูดฉาด หรือน้ำอัดลม เพราะเด็ก ๆ เยื่อบุต่าง ๆ ยังทำงานไม่ดี เกิดปัญหากระเพาะบาง กระเพาะเปื่อยได้ง่าย รวมถึงความเสี่ยงจากสิ่งรอบตัวเด็ก เช่น บุหรี่ ซึ่งจริง ๆ หากสูดดม หรือได้รับเข้าไปในระบบทางเดินหายใจแล้ว สามารถทำให้เด็กมีปัญหาของกรดไหลย้อน ซึ่งมีอาการคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะได้เช่นกันค่ะ

            โรคกระเพาะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัวมากค่ะ เพียงคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจรายละเอียดสุขลักษณะทั้งกับตัวเอง และลูกอย่างสม่ำเสมอ ลูกเราก็จะห่างไกลจากโรคกระเพาะได้แล้วค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 352 พฤษภาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนูเป็นโรคกระเพาะ...หรือเปล่านะ อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 10:22:59 19,617 อ่าน
TOP