x close

ทิปดูแลส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อย

แม่และเด็ก

ทิปดูแลส่วนต่างๆ ของร่างกายลูกน้อย
(M&C แม่และเด็ก)

         เรื่องการดูแลเอาใจใส่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อยในวัยนี้สำคัญมากค่ะ เพราะว่าเขายังอ่อนแอและบอบบางมาก ๆ ซึ่งคุณแม่คงต้องละเอียดอ่อนกันมากทีเดียว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรอนามัยมากเกินไปนัก และเราก็มีขั้นตอนในการดูแลตลอดจนการทำความสะอาดแต่ละส่วนง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ

ก้นนุ่ม ๆ น่ารัก

         โดยปกติแล้ว เรามักจะใส่ผ้าอ้อมหรือกางเกงให้ลูกเสมอ ซึ่งก็ทำให้เกิดความอับชื้นตลอดเวลา ยิ่งถ้าคุณแม่คนไหนอนามัยเป็นพิเศษ ขยันทาครีมที่ก้นลูกบ่อย ๆ ด้วยแล้ว ก็อาจทำได้เกิดความชื้นหมักหมมได้มากขึ้น ดีไม่ดีอาจเป็นแผลหรือเป็นผื่นเอาก็ได้ เราก็มีทิปดูแลก้นของลูกน้อยมาฝากกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้ค่ะ

        ควรให้ก้นของลูกแห้งอยู่ตลอดเวลา โดยการเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ หรือไม่ใส่เลยยิ่งดีค่ะ ปล่อยให้ก้นลูกได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์เป็นประจำ

        การเลือกชนิดของผ้าอ้อมก็ควรเลือกให้เหมาะสม สังเกตจากการตอบสนองของลูกเมื่อใส่ผ้าอ้อมนั้นว่าเป็นอย่างไร มีความสบายตัวหรือไม่ โดยอาจลองเปลี่ยนผ้าอ้อมไปหลาย ๆ แบบหรือหลาย ๆ ยี่ห้อ

นิ้วมือเรียว ๆ ของหนู

         มือเป็นอวัยวะที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในท้อง มีเด็กจำนวนไม่น้อยเลยค่ะ ที่รู้จักดูดหัวแม่มือตัวเองเล่นตั้งแต่ในห้องโน่นเลย สำหรับเรื่องการดูดหัวแม่มือก็มีเรื่องให้สังเกตอีกนะคะว่า เด็กมักจะดูดหัวแม่มือของข้างขวามากกว่าข้างซ้ายเพราะคนเราถนัดมือขวามากกว่ามือซ้ายนั่นเอง นอกจากนี้ มือยังมีหน้าที่อีกมากมาย เช่น ใช้ในการสื่อสารไม่ว่าภาษาไหน ๆ ก็ตามล้วนใช้มือเป็นส่วนประกอบในการพูดทั้งสิ้น ที่สำคัญ สามารถใช้ในการถ่ายทอดความรักจากแม่สู่ลูกน้อยได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโอบกอด หรือลูบไล้ ซึ่งลูกน้อยสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่เขายังไม่เข้าใจภาษาพูดเลยค่ะ

         สำหรับเรื่องการดูดหรืออมนิ้วมือก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปค่ะ ถือเป็นธรรมชาติของเด็ก เราก็เคยเป็นเหมือนกันมาก่อน แต่ถ้าหากพบว่า ลูกน้อยมีปัญหาดังกล่าว แล้วอยากแก้ไข ก็มีเทคนิคง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

        เปลี่ยนเวลาป้อนนมให้เร็วขึ้น จากที่เคยป้อนทุก 4 ชั่วโมง ก็อาจปรับมาที่ทุก ๆ 3 ชั่วโมง

        เด็กบางคนที่ดูดนมได้รวดเร็วจนทำให้นมหมดขวดหรือจากเต้าเร็ว คุณแม่เลยปล่อยให้ลูกน้อยนอนเล่นได้เร็วขึ้น ในขณะที่เด็กยังอยากอมเล่น ๆ ต่อ เขาจึงหันมาดูดหรืออมนิ้วมือแทน ดังนั้น คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้อมหัวนมให้นานขึ้น หรือใช้หัวนมหลอกก็ได้

        การที่ฟันน้ำนมกำลังจะขึ้น ก็เป็นเหตุให้เด็กเกิดอาการคันเหงือกจนมีพฤติกรรมดูดหรืออมนิ้วมือ วิธีแก้ก็ง่าย ๆ คือให้คุณแม่ลองหั่นแครอท แตงกวา หรือฝรั่ง แช่เย็นเอาไว้สักพักก่อนให้ลูกกัดเล่น หรือไม่ก็พวกของเล่นที่ทำไว้สำหรับให้เด็กกัดเล่น ซึ่งมีลักษณะเป็นยางค่อนข้างแข็งยืดหยุ่นได้ดี ที่มีขายตามห้างนั่นแหละค่ะ ใช้ได้เหมือนกัน

        เด็กบางคนก็ชอบดูดหรืออมนิ้วมือ โดยมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ก็ได้ค่ะ แต่คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลใจไปค่ะ แม้จะหาสาเหตุไม่พบก็ตาม เพราะส่วนมากแล้ว เด็กจะเลิกดูด หรืออมนิ้วมือได้เองเมื่ออายุประมาณ 4 ปี

เส้นผม

         ในช่วงขวบปีแรกนั้น เส้นผมของลูกน้อย บางคนก็จะดูผมบางเหมือนตาแก่หัวล้าน แต่ขณะที่บางคนก็มีผมดกดำสวยจนเป็นที่อิจฉาของคุณแม่คนอื่น ๆ ผมที่เราเห็นในตอนแรกเกิดนี้ เป็นแต่ผมไฟหรือชั่วคราว เท่านั้น เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะค่อย ๆ หลุดร่วงไปเอง ทำให้ดูแหว่ง ๆ อย่างที่เราทราบว่า ทางประเพณีของบ้านเรา เมื่อเด็ก 1-2 เดือน จะมีพิธีโกนผมไฟเพื่อเป็นการรับขวัญเด็ก อีกนัยนึงก็เพื่อทำให้ผมของเด็กดูไม่แหว่งไปในตัวด้วย แต่การโกนผมไฟเป็นเพียงแค่ช่วยให้หนังศีรษะสะอาดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ผมดกขึ้นแต่ประการใด ส่วนผมจริง ๆ ถาวรนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุได้ประมาณ 6 สัปดาห์ ขึ้นไปค่ะ แต่ในเด็ก บางคนอาจจะช้ากว่านั้น ส่วนวิธีการดูแลเส้นผมลูกรักมีดังนี้ค่ะ

        เส้นผมของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนผมหนา บางคนผมบางหรือน้อย แต่สิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญคือการดูแลความสะอาดมากกว่า โดยให้สระล้างด้วยน้ำอุ่นประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าหากช่วงไหนอากาศร้อนอบอ้าวมาก ๆ ก็อาจสระให้บ่อยขึ้นได้

        อาการผมร่วงของทารกที่เรียกว่า "ผ้าอ้อมกัด" คงพอได้ยินกันมาใช่ไหมคะ เพราะเกิดจากการถูกเสียดสีกับเบาะที่นอนในช่วงที่ลูกน้อยนอนในแปลหรือเตียงนอน ซึ่งความจริงแล้ว ในช่วง 3-4 เดือนแรก ผมเด็กจะหลุดร่วงเพราะการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย เซลล์ผมมีการผลัดเปลี่ยนเพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่นั่นเอง แต่วิธีทางแก้ไข ก็คือการเปลี่ยนท่านอนของลูกบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ส่วนใดถูกกดทับมากกว่ากัน

เท้าน้อย ๆ

         ในช่วง 5 ปีแรก คงต้องดูแลเรื่องเท้าเล็ก ๆ ของลูกน้อยเป็นพิเศษหน่อยค่ะ เพราะกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ของเท้ายังมีลักษณะที่นุ่มและเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ง่าย ซึ่งในวัยที่ลูกยังเดินไม่ได้ ยังไม่ควรให้ใส่รองเท้าค่ะ ควรปล่อยให้เท้าของเขาว่างเปล่า ได้สัมผัสกับความอิสระของการเคลื่อนไหวมากที่สุด แต่ถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิต่ำก็ให้ใส่ถุงเท้าที่หลวม ๆ ไม่รัดนิ้วเท้า หรืออาจใส่ถุงเท้าที่หลวม ๆ ไม่รัดนิ้วเท้า หรืออาจใส่ชุดหมีคลุมไปตลอดจนถึงเท้าก็ได้ค่ะ

         แม้กระทั่งในวัยที่ลูกกำลังหัดเดิน ก็ยังไม่ต้องรีบร้อนหาซื้อรองเท้าให้ใส่ค่ะ ให้รอจนมั่นใจว่า ลูกน้อยสามารถยืนและเดินได้อย่างมั่นคงแล้ว ถึงเวลานั้น ค่อยหาก็ยังไม่สายเกินไป ซึ่งรองเท้าสำหรับเด็กเล็ก ๆ นั้น มีความจำเป็นมากที่จะต้องเลือกหาให้เหมาะสม เพราะจะเกี่ยวเนื่องถึงตอนโต ลูกจะได้มีนิ้วเท้าและเท้าที่เป็นปกติ ไม่มีนิ้วใดนิ้วหนึ่งงอหรือเท้าเกิดการผิดรูปไป จากการบีบรัด หรืออุบัติเหตุจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลูกใช้เท้าเคลื่อนไหวในแต่ละวัน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 35 ฉบับที่ 476 ตุลาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทิปดูแลส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2554 เวลา 16:53:18 4,197 อ่าน
TOP