หมอเตือนภัยขวดนมเด็ก พบสารปนเปื้อนอันตราย




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
               
                หมอเตือนภัยอันตรายจากขวดนมเด็กที่ทำมาจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต พบสาร "พีเอบี" ที่อาจปนเปื้อนในน้ำนม ส่งผลต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์ของเด็กเล็ก
 
                วานนี้ (25 สิงหาคม)  พ.ญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ. เด็ก) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการผลิตขวดนมพลาสติกสำหรับทารกและเด็กเล็กขึ้น หลังพบว่า พลาสติกที่ใช้ผลิตขวดนมซึ่งก็คือ พลาสติกโพลีคาร์บอเนตนั้น มีสารเคมี "บีพีเอ" ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำนมได้
 
                ทั้งนี้ มีผลวิจัยจากยุโรปเมื่อปี 2551 ที่ได้ให้สัตว์ทดลองกินนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า สารดังกล่าวมีผลไปกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง โดยพบว่า ไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง รวมถึงมีผลต่อการผลิตอสุจิได้น้อยลงด้วย และจากผลการวิจัยกับคน พบว่า อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทและพฤติกรรมของทารกและเด็กเล็ก รวมไปถึงการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ด้วย ทำให้หลายประเทศออกประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนตไปแล้ว
 
                ส่วนในประเทศไทยนั้น พบการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอเนตในท้องตลาดมากกว่าร้อยละ 80 และได้นำขวดนมดังกล่าวมาสุ่มตรวจหาสารเคมีบีเอพี ซึ่งพบว่า สารเคมีดังกล่าวได้ปนเปื้อนมาในน้ำนมเช่นกัน และยังพบด้วยว่า ยิ่งอุณหภูมิของน้ำสูงเท่าใดก็จะยิ่งทำให้สารเคมีออกมาปนเปื้อนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยในตัวทารกว่ามีสารเหล่านี้ตกค้างในร่างกายหรือไม่ แต่ในประเทศเกาหลี และไต้หวัน เคยทดลองวิจัยปัสสาวะของเด็กทารกที่ดื่มนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต พบมีสารเคมีบีพีเอปนเปื้อนออกมาเช่นกัน
 
                เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง พ.ญ. รัชดา จึงได้ออกมาเตือนว่า อยากให้พ่อแม่ เลือกซื้อขวดนมที่ผลิตจากพลาสติก พลีพรอพพีลีน หรือพีพี มากกว่า โดยสังเกตง่าย ๆ คือ ให้สังเกตข้างขวดจะเขียนว่า บีพีเอ ฟรี หรือบีบี หรือสังเกตก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์เลข 5 ตรงกลางและมีรูปลูกศรล้อมรอบ แต่หากเป็นขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต บริเวณก้นขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางมีลูกศรล้อมรอบ
 
                อย่างไรก็ตาม น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในเรื่องการสั่งควบคุมการผลิตขวดนมนี้ อย.ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง ดังนั้นจึงต้องนำผลวิจัยที่เกี่ยวกับสารบีพีเอเสนอไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เพื่อออกตราสัญลักษณ์ มอก.ให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของ สมอ.ที่จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป โดยทาง อย.ทำได้เพียงเสนอข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอเตือนภัยขวดนมเด็ก พบสารปนเปื้อนอันตราย อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2554 เวลา 11:50:13 4,052 อ่าน
TOP
x close